ดอกเบี้ยขาขึ้น น็อนแบงก์ผวา เร่งล็อกต้นทุนหุ้นกู้-ตุนแคชโฟลว์รับมือ

ดอกเบี้ยขาขึ้น

น็อนแบงก์แห่ล็อกต้นทุนรับมือเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้น “MTC” ชี้อาจต้องผลักภาระให้ลูกค้าหาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง เผยบริษัทมีหุ้นกู้ครบกำหนดไตรมาสละ 4-5 พันล้านบาท เจอผลกระทบแน่ ฟาก “เงินติดล้อ” เผยล็อกต้นทุนลอตใหญ่ 8.3 พันล้านบาทล่วงหน้าไปแล้ว มั่นใจบริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าคู่แข่ง ด้าน “ฐิติกร” ตุนกระแสเงินสดรับมือ

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางข้างหน้าหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยย่อมส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยปัจจุบันบริษัทระดมทุนจาก 2 ช่องทาง คือ เงินกู้จากสถาบันการเงิน กับการออกหุ้นกู้ ช่องทางละประมาณ 50% ซึ่งโดยปกติต้นทุนทางการเงินของทั้ง 2 ตลาดจะสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้ วงเงิน 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3.5% อายุ 3 ปี ถือว่าล็อกต้นทุนไว้ได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดและบริษัทจะต้องออกมาทดแทนของเดิม (roll-over) ซึ่งในส่วนนี้ต้นทุนจะปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัทจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดเฉลี่ยไตรมาสละ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งหากอายุหุ้นกู้ยิ่งยาวต้นทุนการเงินจะสูงขึ้น เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 3.5% ส่วนหุ้นกู้อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 3.9-4% ขณะที่เงินกู้จากธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยอยู่ที่ MLR ลบ 1-2%

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อต้นทุนจะขึ้นอยู่กับการปรับดอกเบี้ยของ ธปท. โดยหากปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% บริษัทก็ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ ถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญต่อต้นทุนและการดำเนินธุรกิจมากนัก โดยบริษัทจะใช้วิธีการปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง

แต่หากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปถึง 1% จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อต้นทุนการเงินและการดำเนินธุรกิจ

“เราคงหนีไม่พ้นต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องบริษัทก็จำเป็นต้องทบทวนนโยบายการให้สินเชื่อ หรือปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อผลักภาระบางส่วนไปให้ลูกค้า แต่ทั้งนี้จะต้องดูภาวะตลาดและการแข่งขันด้วย” นายชูชาติกล่าว

ขณะที่นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR กล่าวว่า การบริหารจัดการต้นทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น บริษัทได้วางแผนการกู้ยืมโดยคำนึงถึงการควบคุมต้นทุนรวมของการกู้ยืมให้ต่ำให้ได้มากที่สุด

โดยบริษัทได้ออกหุ้นกู้ลอตใหญ่ วงเงิน 8,300 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งยังเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าใดนัก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ

นอกจากนี้ การกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่าง ๆ และการออกหุ้นกู้เกือบทั้งหมดเป็นแบบอัตราคงที่ (fixed rate) ที่ไม่แปรผันขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการลอยตัวของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัทได้รับ TRIS Credit rating ในระดับ A ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งทั้งหมดในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่งผลให้เงินติดล้อมีความได้เปรียบจากต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า

“แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการกู้ยืมเงินของทุกกิจการ แต่เงินติดล้อจะได้รับผลกระทบที่ต่ำกว่า เพราะเราจับคู่ลูกหนี้และเงินกู้ยืมตามระยะ
เวลา (match funding) มาโดยตลอด ส่งผลให้รอบการกู้ยืมใหม่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นน้อยกว่าคู่แข่งขัน และเป็นผลดีต่อต้นทุนในช่วงขาขึ้น” นายปิยะศักดิ์กล่าว

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทมีกระแสเงินสด (cash flow) อยู่ประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อไปอีกอย่างน้อย 12 เดือนข้างหน้า ทำให้ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นต่อต้นทุนทางการเงินค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริษัทจะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไตรมาส 3 ปีนี้เพียง 400 ล้านบาท และคาดว่าจะไม่ออกใหม่เพิ่มเติม ทำให้บริษัทไม่มีหนี้คงเหลือในประเทศ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีหนี้คงเหลือในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินกู้ในรูปสกุลเงินท้องถิ่น (local currency) ใน สปป.ลาว และกัมพูชา แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินท้องถิ่นสูงกว่าเมื่อเทียบไทย โดยต้นทุนดอกเบี้ยของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3% ดอกเบี้ยกัมพูชากว่า 3% และดอกเบี้ย สปป.ลาวอยู่ที่ 5% จึงไม่มีประเด็นเรื่องของดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย


“ข้อดีของเรา คือ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทำให้ไม่ได้มีการกู้เงินเพื่อปล่อยสินเชื่อเยอะ เราจึงมีเงินสด 2,500 ล้านบาท และเพียงพอทำธุรกิจไปอีกเป็นปี ผลต่อดอกเบี้ยขาขึ้นจึงมีน้อย แต่ก็คงหนีไม่พ้น ในระยะข้างหน้าที่ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น” นายประพลกล่าว