มูลค่ากำไรธุรกิจใหม่ (VoNB) บทที่ 1 : จุดเริ่มต้นคืออะไร และมีไว้เพื่อ?

Value of New Business
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS)

โลกธุรกิจในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยจะวัดผลประกอบการของธุรกิจหนึ่ง ๆ นั้น จะใช้คำว่า “กำไร” เป็นตัววัดผลความสำเร็จของบริษัทนั้น ๆ และการที่ได้มาซึ่งผลกำไรนั้นก็คงประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำยอดขายได้ การบริหารค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งการนำรายรับสุทธิ ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสม เป็นต้น

นิยามของคำว่า “กำไร” ในธุรกิจประกันภัย มีลักษณะเฉพาะตัว เนื่องจากธุรกิจประกันภัยมีความแตกต่างกับธุรกิจอื่น ๆ อยู่หลายด้าน ยกตัวอย่าง คือ ต้นทุนของบริษัทประกันภัยจะเกิดขึ้นในภายหลัง จากที่ได้รายรับเข้ามาแล้ว และกว่าจะรู้ว่าสินค้าที่ขายไปจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ต้องรอจนกรมธรรม์ครบกำหนดสัญญาเสียก่อน

กำไรธุรกิจประกันภัยจึงค่อนข้างซับซ้อนและมีความหมายแตกต่างกันออกไป ตามแต่รูปแบบการใช้งาน โดยหนึ่งนิยามของกำไรที่ผู้บริหารของบริษัทนั้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือ VoNB

ซึ่งหลายคนคงได้ยินคำว่า VoNB โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ยิ่งทำให้เป็นที่จับตามองของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นของบริษัทมากขึ้นไปอีก และบรรดานักวิเคราะห์การลงทุนเหล่านี้ก็เอาจริงเอาจังกับตัวเลข VoNB ที่ว่านี้มาก ๆ

มูลค่า (value) ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการที่ได้ขายกรมธรรม์เข้ามาใหม่ (new business) อันที่จริงแล้วก็คือ ผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ โดยคำนวณได้จากกรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายเข้ามา

“Value of New Business (VoNB) คือผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ โดยคำนวณได้จากกรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายเข้ามา”

VoNB = Present Value of Distributable Earning of New Business
Distributable Earning

กำไรสำหรับผู้ถือหุ้น (distributable earning) นั้นสามารถคำนวณโดยการเอารายรับที่เป็นเบี้ยประกัน (premium) และผลตอบแทนจากการลงทุน (net investment income) มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย เช่น ค่าคอมมิชชั่น (commission) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัท (operating expense) ค่าสินไหมทดแทน (claim) เงินสดคืน (coupon) และเงินปันผล (dividend) ให้แก่ลูกค้า หลังจากนั้น
จะต้องหักด้วยเงินสำรอง (reserve) และเงินกองทุน (capital) ที่ต้องตั้งเพิ่มขึ้นในปีนั้นตามที่ได้กำหนดไว้จากกฎหมายในประเทศ (local regulation) และที่ลืมไม่ได้ก็คือการหักภาษี (tax) ที่เกิดจากการลงทุน (investment on reserve and capital) และการดำเนินงานของบริษัท (operating profit)

Distributable Earning ในแต่ละปี

= premium + net investment income – commission – operating expense – claim – coupon – dividend – surrender – increase in statutory reserve – increase in required capital – tax

“ถ้าอัตราดอกเบี้ยมา การคำนวณมูลค่าปัจจุบัน (discount rate) ยิ่งมาก ก็จะยิ่งทำให้ค่า VoNB ยิ่งน้อย”

ทำไมถึงเลือกใช้ VoNB ?

เนื่องจาก “กำไร” ของกรมธรรม์ในแต่ละปีนั้นอาจมีค่าไม่สม่ำเสมอและแกว่งไปแกว่งมา ทำให้บางปีมีกำไรมากและบางปีมีกำไรน้อย และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทต้องการคิดผลรวมทั้งหมดของกำไรขึ้นมาให้เป็นมูลค่า (value) ซึ่งก็ทำให้สะดวกในการตีความและวิเคราะห์กันสำหรับผู้บริหารและนักลงทุน

ข้อดี อีกอย่างหนึ่งของการคำนวณ VoNB ก็คือ สามารถทำให้บริษัทสะท้อนมูลค่าของกรมธรรม์ที่เพิ่งขายเข้ามาใหม่ได้ และถ้าทำให้กรมธรรม์มีผลกำไรต่อเนื่องได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้มูลค่า VoNB มีค่าสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทคาดว่าจะได้ distributable earning ปีละ 100 บาทเป็นเวลา 10 ปี

โดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0% ในการคำนวณมูลค่าปัจจุบัน ทำให้มูลค่าของ VoNB จะมีค่า 1,000 บาท แต่ถ้าสมมุติว่าบริษัทสามารถจัดการเรื่องอัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์ (persistency rate) ให้มีค่ามากขึ้น จนส่งผลทำให้กรมธรรม์ขาดการชำระเบี้ยน้อยลง และสามารถทำให้บริษัทคาดว่าจะได้ distributable earing ปีละ 100 บาทเป็นเวลา 12 ปี ทำให้มูลค่าของ VoNB มีค่ากลายเป็น 1,200 บาทได้ เป็นต้น

ตัวอย่างของแบบประกัน 2 แบบ

แบบ A มี distributable earning เป็น 10 บาท, 8 บาท, 7 บาท และ 5 บาท ปีที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ

แบบ B มี distributable earning เป็น 5 บาท คงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 10 ปี

ถ้าบริษัทพิจารณาเพียงแค่ผลกำไรในแต่ละปี ก็จะคิดว่าแบบประกัน A นั้นดีกว่าแบบประกัน B และยังผลให้บริษัทมุ่งเน้นที่จะขายแบบประกัน A มากกว่าแบบประกัน B ซึ่งนั่นก็เป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของบริษัท

ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทใช้ VoNB เป็นตัววัดผลก็จะเห็นว่าแบบประกัน B ควรจะมีมูลค่า VoNB สูงกว่าแบบประกัน A ซึ่งถ้าขายแบบประกัน B มากก็จะยิ่งส่งผลให้มูลค่าของบริษัทสูงขึ้น การมุ่งเป้าไปที่แบบประกัน B จึงเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน

บทสรุป

“กำไร” เป็นตัววัดผลของการประกอบธุรกิจ แต่ “กำไร” ของธุรกิจประกันภัยนั้นมีความหมายแตกต่างกันออกไปตามแต่รูปแบบการใช้งาน นักวิเคราะห์จึงหันมาใช้ VoNB เป็นตัววัดผลประกอบการแทน ด้วยเหตุที่มูลค่า VoNB จะสามารถสะท้อนถึงผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาขอกรมธรรม์ ทั้งนี้จะต้องคำนวณจากกรมธรรม์ใหม่ที่เพิ่งขายเข้ามา โดยนิยามของคำว่า “กำไร” ที่จะนำมาคำนวณมูลค่า VoNB นั้น จะต้องเป็นกำไรที่คำนวณสำหรับผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน ซึ่งหมายถึงกำไรหลังจากการ
หักภาษีและสามารถนำไปแจกจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของธุรกิจได้