ธ.ก.ส.เร่งแก้ NPL ทะลักกว่า 9% หั่นดอกเบี้ยแลกฟื้นสถานะกลับสู่ลูกหนี้ดี

ธ.ก.ส.

ธ.ก.ส.เร่งแก้ปัญหาหนี้เสียท่วมแบงก์ หลังเริ่มต้นปีบัญชี 2565 มาแค่ 2 เดือน NPL ทะยานเกือบ 5 หมื่นล้าน สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมพุ่งทะลุ 9% ชี้ผลกระทบจากโควิดกระทบรายได้นอกภาคเกษตรหาย แถมปุ๋ยแพงดันต้นทุนเพิ่ม เร่งเข็นโครงการ “ลดดอกเบี้ยลูกหนี้ NPL” หวังช่วยฟื้นสถานะกลับมาเป็น “ลูกหนี้ดี” ทุ่มกว่า 6.4 พันล้านบาท ลดดอกเบี้ยพยุงลูกค้า ตั้งเป้ากด NPL สิ้นปีบัญชีลงมาที่ 4.5%

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้ปี 2565 นี้ เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน

โดยได้ออกโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน เพื่อดูแลเกษตรกร และบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคลรวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีสถานะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับเกณฑ์เงินสด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2565 หรือลูกหนี้ที่ออกจากโครงการพักชำระหนี้โครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ครบกำหนด

โดยจะลดดอกเบี้ยให้สำหรับ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) ลดดอกเบี้ยไม่เกิน 50% ของดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นเป็นรายสัญญา 2) กรณีชำระดอกเบี้ยได้เสร็จสิ้น ลดดอกเบี้ย 30% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และ 3) กรณีชำระดอกเบี้ยบางส่วน ลดดอกเบี้ย 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง

สำหรับเกษตรกรและบุคคล ในกรณีที่เป็นลูกหนี้กลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล รวมถึงกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ลดดอกเบี้ย 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง

ตารางหนี้เสีย

ขณะที่แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.อีกรายกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดนานกว่า 2 ปี ทำให้รายได้นอกภาคการเกษตรหายไป เช่น ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัด ซึ่งเคยมีรายได้ถูกเลิกจ้าง หรือถูกลดเงินเดือน จึงไม่ได้ส่งเงินกลับมาให้ทางครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้เกษตรกรยังเผชิญกับปัญหารายจ่ายเพิ่ม จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลต่อการชำระหนี้ของเกษตรกร โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2565 หรือ 2 เดือนแรกของปีบัญชี 2565 (1 เม.ย.-31 พ.ค. 2565) พบว่า NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.18% จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด 1.6 ล้านล้านบาท

“หลังจากเผชิญกับโควิด แนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยสิ้นปีบัญชี 2563 (31 มี.ค. 2564) NPL อยู่ที่ 57,826 ล้านบาท คิดเป็น 3.71% ซึ่งช่วงนั้นหนี้เสียลดลง จากปีบัญชี 2562 ที่อยู่ระดับ 4.26% หรือคิดเป็น 63,400 ล้านบาท เพราะเกษตรกรได้รับเงินเยียวยาโควิดและเงินอุดหนุนจากโครงการประกันรายได้

“แต่ต่อมาในปีบัญชี 2564 (1 เม.ย. 2564-31 มี.ค. 2565) NPL ก็เพิ่มมาอยู่ที่ 6.63% มูลค่า 92,000 ล้านบาท และมาปีบัญชี 2565 แค่ 2 เดือนแรก NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 1.4 แสนล้านบาท หรือ 9.18%”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ธ.ก.ส.จึงต้องออกมาตรการดูแลลูกค้า เพื่อคืนสถานะการชำระหนี้ของลูกค้าให้เข้าสู่สถานะปกติ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรผ่านโครงการลดดอกเบี้ยแก้หนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาชำระดอกเบี้ย 15,000 ล้านบาท

ขณะที่คาดว่าธนาคารต้องลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเป็นเงินกว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคืนสภาพคล่องให้กับลูกค้า และเป็นอีกช่องทางในการดูแลหนี้เสีย โดยตั้งเป้าหมายว่าสิ้นปีบัญชี 2565 นี้ NPL จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.5% ได้

“ในปีบัญชี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารก็ออกโครงการลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน และดูแลสถานการณ์ NPL ผ่านโครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด ซึ่งช่วงนั้นลูกค้าที่อยู่ในเกณฑ์เข้าร่วมมาตรการมีจำนวน 699,754 ราย คิดเป็น 1.2 ล้านสัญญา โดยมีลูกค้าที่เข้ามาชำระหนี้เงินต้น 1,352 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 3,984 ล้านบาท ขณะที่ ธ.ก.ส.ก็คืนดอกเบี้ยกลับไปให้ลูกค้ากว่า 1,258 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ นอกจากคืนสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPL แล้ว ยังมีโครงการดูแลลูกหนี้เกษตรกรที่มีประวัติการชำระหนี้ดี ผ่านโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ตามกำหนดเวลา โดยธนาคารจะคืนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากลูกค้าโดยตรงในวันถัดไป วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรบุคคล รับดอกเบี้ยคืน 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท

ขณะที่กลุ่มเกษตรกร นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รับดอกเบี้ยคืน 10% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง สะสมไม่เกิน 3,000 บาท และกรณีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สะสมรายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยมาตรการดังกล่าวกำหนดการชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565-31 มี.ค. 2566

“ในปีบัญชี 2564 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็ออกโครงการชำระดีมีคืน ซึ่งมีลูกค้าที่ได้รับสิทธิ 3.2 ล้านราย คิดเป็น 8 ล้านสัญญา โดยจำนวนที่ลูกค้าจะชำระดอกเบี้ย 12,139 ล้านบาท ซึ่งเราคืนดอกเบี้ยกลับไปให้ลูกค้า 1.3 ล้านราย คิดเป็น 1.7 ล้านสัญญา และคืนเงินกว่า 1,224 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว