ประชันหุ้น TLI-BLA สองบริษัทประกันชีวิตในตลาดหุ้นไทย

หุ้น TLI-BLA

ประชันหุ้น TLI-BLA สองบริษัทประกันชีวิตในตลาดหุ้นไทย ของตระกูล “ไชยวรรณ-โสภณพนิช” แข่งรายได้โตผ่านตัวแทน-แบงก์แอสชัวรันซ์ โบรกฯให้ราคาเป้าหมาย TLI ที่ 20 บาท พอร์ตลงทุนตราสารหนี้รับประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้น ดันกำไรปีนี้แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 18-19% ผู้บริหารไทยประกันชีวิต ลุยขายสินค้าทำมาร์จิ้นสูง ปีนี้คาดหวังผลตอบแทนลงทุน 3-4%

ประชันหุ้น TLI vs BLA

วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมผลการดำเนินงานระหว่าง บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) ธุรกิจของตระกูลไชยวรรณ และ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) ธุรกิจของตระกูลโสภณพนิช ซึ่งเป็นสองบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยเวลานี้

โดยพบว่าช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 65) ไทยประกันชีวิตมีขนาดเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ในอันดับที่ 3 จำนวน 32,932 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยมีเบี้ยรับปีแรกเติบโตกว่า 33% แตะระดับ 4,667 ล้านบาท และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) เติบโตกว่า 44% แตะระดับ 3,123 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันรับปีต่ออายุ หดตัวลง 5.86% เหลือ 25,141 ล้านบาท โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 83%

ขณะที่กรุงเทพประกันชีวิตรั้งอันดับที่ 6 ด้วยขนาดเบี้ยรับรวม 13,977 ล้านบาท ติดลบ 7% YOY โดยเป็นผลจากเบี้ยรับปีแรกหดตัวกว่า 26% เหลือ 1,699 ล้านบาท แต่มีเบี้ยจ่ายครั้งเดียวเติบโต 60% แตะระดับ 530 ล้านบาท ส่วนเบี้ยประกันรับปีต่ออายุ หดตัว 5.71% เหลือ 11,747 ล้านบาท มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 80%

โดยในงวดไตรมาส 1/65 ที่ผ่านมา TLI มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,793 ล้านบาท มีกำไรสะสม 61,699 ล้านบาท มีกำไรต่อหุ้น 0.36 บาท ส่วน BLA มีกำไร 800 ล้านบาท มีกำไรสะสม 35,322 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 0.47 บาท

หากเทียบขนาดสินทรัพย์รวมจะพบว่า TLI มีขนาดใหญ่กว่า BLA มากถึง 54% โดยมีสินทรัพย์รวม 534,628 ล้านบาท ขณะที่ BLA มีจำนวน 346,640 ล้านบาท TLI มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น, อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน อยู่ที่ 11.78%, 2.42%, 5.22 เท่า ส่วน BLA จะอยู่ที่ 6.43%, 1.02%, 6.42 เท่า (ตามลำดับ)

โดยช่องทางสร้างรายได้หลักของ TLI มาจากช่องทางตัวแทนประกันชีวิตที่มีกว่า 64,000 คน ขณะที่ BLA มาจากช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ผ่านธนาคารกรุงเทพ

โดย ณ วันที่ 22 ก.ค. 65 หุ้น BLA มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 65,741 ล้านบาท ขณะที่ TLI มีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาไอพีโอ 183,200 ล้านบาท ถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุดของปีนี้ และถือเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มีมูลค่าเสนอขายสูงสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

โบรกฯเคาะราคาเป้า 20 บาท

ด้านบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) ประเมินราคาเป้าหมายที่ 20 บาท โดยผลประกอบการปี 2565 ทะยานจากสินทรัพย์ลงทุนที่มีอยู่กว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งลงทุนอยู่ในตราสารหนี้สัดส่วนมากกว่า 80% ซึ่งรับประโยชน์เต็ม ๆ จากดอกเบี้ยขาขึ้น ช่วยดันกำไรปีนี้แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 18-19% YOY และทาง Fitch Ratings ให้อันดับเครดิตทางการเงิน AAA (tha) เป็นเครดิตระดับประเทศสูงที่สุด

คาดผลตอบแทนลงทุนปีนี้ 3-4% มาร์จิ้นสินค้าดี

นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) เปิดเผยว่า 5 ปีนับจากนี้บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนใช้ในการเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจและเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการตลาดผ่านนวัตกรรมและโซลูชั่นเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการและดูแลลูกค้าอย่างครบวงจร รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตรที่เป็นจุดเชื่อมต่อลูกค้าทั่วประเทศ

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวว่า ในแต่ละปีบริษัทจะมีเงินครบกำหนดประมาณหลักหมื่นล้าน รวมทั้งจะมีเบี้ยประกันรับใหม่ที่เข้ามา ซึ่งบริษัทจะสามารถหาผลตอบแทนในอัตราที่สูงขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น รวมทั้งโปรดักต์เก่าที่เคยออก อย่างเช่น เคยคิดราคาเบี้ยที่ผลตอบแทน 1.5% แต่ปัจจุบันบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงกว่าระดับดังกล่าว ทำให้บริษัทจะมีกำไรจากโปรดักต์เดิมเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันบริษัทก็จะมีรายได้ลงทุนที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดี

“สำหรับกลยุทธ์การลงทุนนั้น โดยปกติถ้าเกิดอัตราดอกเบี้ยขึ้น กรณีดอกเบี้ยอเมริกาขึ้นมากกว่าไทย เราจะมีการลงทุนพันธบัตรต่างประเทศและสวอชเป็นเงินบาท ซึ่งเคยทำอยู่แล้วในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเขย่งกันอยู่ในลักษณะนี้ โดยพอร์ตลงทุนในหุ้นนั้น เนื่องจากต้นปีเราได้มีการขายหุ้นต่างประเทศมาลงทุนในหุ้นไทย และถือเงินสดบางส่วน เริ่มทำตั้งแต่ไตรมาส 1/65 ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งเป็นจังหวะที่ค่อนข้างดีและปลอดภัย” นางวรางค์กล่าว

ปัจจุบันสินทรัพย์ลงทุนกว่า 4 แสนล้านบาท กรอบสัดส่วนในการลงทุนหุ้นจะไม่เกิน 15% ซึ่งปัจจุบันลงทุนจริงอยู่ประมาณ 13% ส่วนที่เหลือลงทุนในพันบัตรและหุ้นกู้เรตติ้งดี ทั้งนี้คาดหวังปีนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ระหว่าง 3-4% อย่างไรก็ดีถ้ารวมกำไรจากการขายหุ้นในตลาดด้วยก็อาจจะทำได้มากกว่า 4% เล็น้อย

ภาพรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตในปีนี้ คาดว่ารายได้จะเติบโตสูงกว่าปี 2564 เนื่องจากภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตครึ่งปีหลังเชื่อว่าคนไทยเริ่มสนใจสินค้าที่ให้ความคุ้มครองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตและสุขภาพจากโรคระบาดเป็นตัวกระตุ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างทำกำไรที่สูงให้แก่บริษัท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันออมทรัพย์แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นแต่คนไทยก็สามารถลงทุนผ่านธนาคารได้เอง ฉะนั้นเชื่อว่าดีมานด์สินค้าสุขภาพและโพรเท็กชั่นจะมีมากขึ้นที่จะมาซื้อกับบริษัทประกันชีวิต

นำเงินระดมทุน จ่ายค่าฟีแบงก์ขายประกัน

นายวิญญู ไชยวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TLI กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันเรามีสัญญา Exclusive กับพันธมิตรธนาคารพาณิชย์หลัก ๆ จำนวน 2 แห่งคือ 1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ซึ่งเซ็นสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยที่ผ่านมาเป็นสัญญาระยะสั้น และมีการต่ออายุมาต่อเนื่อง และภายใน 1-2 ปีนี้ก็อาจจะมีการต่อสัญญาอีก ซึ่งจะมีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการต่อสัญญา โดยจะใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วนมาจ่าย

“ตอนนี้สัญญายังไม่หมดอายุ แต่ส่วนใหญ่เวลาเจรจาจะต่ออายุเฉลี่ยประมาณ 3-5 ปี เราขายโปรดักต์ประกันสะสมทรัพย์ ประกันยูนิตลิงค์ ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา”

โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี สัดส่วนพอร์ตสินค้าจะแยกเป็น 1.ประกันสะสมทรัพย์เหลือ 33% เน้นขายสินค้าชนิดมีเงินปันผล (Participating) ไม่การันตีผลตอบแทน และเพิ่ม 2.ประกันชีวิตที่ไม่อ่อนไหวกับอัตราดอกเบี้ย 33% 3.สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและสัญญาเพิ่มเติมอื่น ๆ อีก 33% ซึ่งเป็นสินค้าที่ดีมานด์พุ่งขึ้นมากหลังโควิด ซึ่งมีมาร์จิ้นที่สูง