ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร MFEC : รัฐต้องช่วย SME โต แล้วประเทศไทยจะโต

นับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง 2566 การเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความหวัง มีอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) สร้างสรรค์โปรเจ็กต์ Future Thailand ชวนนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มามองอนาคตประเทศไทย ระดมความคิดเห็น-วิสัยทัศน์ ร่วมออกแบบประเทศไทยไปด้วยกัน

เปิดโปรเจ็กต์ Future Thailand ด้วยบทสัมภาษณ์ ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC บริษัทให้บริการไอทีระดับแถวหน้าของประเทศไทย

ศิริวัฒน์เป็นคนหนึ่งที่มองว่าประเทศไทยยังมีความหวังมีอนาคต ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขายังมีหวังคือ “คนรุ่นใหม่เก่ง” แต่สิ่งที่เป็นข้อด้อยคือ ในอดีตคนไทยเคยอยู่สบาย ในน้ำมีปลาในนามีข้าว เคยไม่ต้องแข่งขันกับใคร และตอนนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เซต culture ใหม่ ๆ ที่พร้อมสำหรับโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

“จุดสมดุลของเราเป็นจุดสมดุลที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร แต่จุดสมดุลนั้นมันไม่มีอีกแล้ว เราอยู่ในโลกที่มาไกลแล้ว ทุกอย่างมาด้วยความเร็ว เราต้องปรับจุดสมดุลของสังคมของเรา ถ้าเรายังมี culture ประเทศไทยเหมือนเดิม ทำแบบเดิม แล้วคาดหวังให้มันดีขึ้น มันเป็นไปไม่ได้”

ปัญหาในประเทศไทยที่ศิริวัฒน์อยากให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายแก้ปัญหาที่สุด เป็น priority เลยก็คือ ปัญหาเรื่องความสามารถในการประกอบกิจการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)

ศิริวัฒน์มองว่า ภาคเอสเอ็มอีคือภาคที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเอสเอ็มอี ประเทศไทยมีเอสเอ็มอีจำนวนประมาณ 2 ล้านราย ถ้าเอสเอ็มอีแข็งแรงจะสามารถจ้างงานได้อีก 3-4 ล้านคน ถ้าเอสเอ็มอีเติบโตแข็งแรง ประเทศก็จะโตไปด้วย เพราะฐานภาษีของประเทศจะกว้างขึ้น รัฐจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น มีงบประมาณสำหรับบริหารจัดการและแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น

“ทุกประเทศเวลาวิกฤต ตัวที่กระชากประเทศเขาให้ฟื้นได้คือเอสเอ็มอี”

“จริง ๆ ประเทศเป็นเจ้าของเอสเอ็มอี เหมือนกับถือหุ้นเอสเอ็มอี 30% อยู่แล้ว ถ้าเราทำให้เขาแข็งแรงเขาก็จ่ายผลตอบแทนจ่ายภาษีได้ดี แต่ว่าเราต้องตั้งใจว่าจะช่วยยังไงให้เขาก้าวกระโดดเติบโต ไม่ใช่เปิดมาสามปีแล้วเจ๊ง แล้วคนมักจะคิดว่า ทำไมหลบภาษี ทำไมไม่ทำให้มันถูกต้อง บางธุรกิจเป็นเพราะว่าบางธุรกิจเขาอ่อนแอจริง ๆ ถ้าเขาเสียภาษีเขาเจ๊งเลย เขาถึงต้องหลบภาษี เพราะฉะนั้น keyword ก็คือทำยังไงให้เขามีความสามารถในการแข่งขัน”

ปัจจัยสำคัญที่ศิริวัฒน์มองว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีความสามารถในการแข่งขันและขยายเติบโตได้ก็คือ การใช้ไอที การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น มีระบบอัตโนมัติข้างหลัง มีระบบโลจิสติกส์ แต่ความยากก็คือบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีกำลังที่จะทำได้เองเหมือนบริษัทใหญ่ เพราะฉะนั้นรัฐต้องช่วยส่งเสริมให้เอสเอ็มอีทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้ได้

“การที่เอสเอ็มอีอยู่ในประเทศไทยถือว่าเป็นความเสียเปรียบอย่างหนึ่ง เพราะว่าเครื่องมือที่ทำให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพสู้กับคนอื่นได้คือไอที ส่วนใหญ่ไอทีเราซื้อมาจากต่างประเทศ ราคาแพง คนที่พัฒนา คนที่ implement ก็น้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าเราแยกสองกลุ่ม บริษัทใหญ่ ๆ บริษัทมหาชน เขามีปัญญา เขาซื้อเขาก็แข่งขันได้ เขาก็เติบโต ต่อให้เศรษฐกิจไม่ดี ต่อให้มีโควิด เขาก็เติบโตอยู่ดี แต่พาร์ตที่เป็นเอสเอ็มอีถดถอยไปเรื่อย ๆ เลย ปัจจุบันนี้การใช้ไอทีการดู data การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในเอสเอ็มอีน้อยมาก แข่งกับใครไม่ได้หรอก”

ศิริวัฒน์บอกอีกเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทยไม่แข็งแรงคือ ประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าศักยภาพของตัวเอง เพราะเรามี “งาน” ที่ต้องการใช้คนที่มีศักยภาพสูงในปริมาณน้อย แม้แต่ในวงการไอทีก็ตาม

“ผมอยู่ในวงการไอที บริษัทเราไม่สามารถจ้างคนที่เก่งที่สุดที่จบมาได้ เพราะว่าเราไม่มีงานที่ใช้ศักยภาพของเขาเต็มที่ น้องกลุ่มนี้เขาต้องไปบริษัทต่างประเทศ ต้องไปอยู่ Google อยู่ Microsoft อยู่ Accenture เพราะบริษัทพวกนั้นมีงานที่ใช้ศักยภาพเขาเต็มที่ แปลว่าประเทศไทยผลิตคนเก่ง ลงทุนไปเยอะแยะ ผลิตให้ต่างชาติ คนเก่งของประเทศไปอยู่บริษัทต่างชาติหมดเลย ไม่มีหรอกประเทศเจริญแล้วที่ผลิตคนที่ฉลาดที่สุดไปให้คนอื่น แล้วเราได้แต่แรงงานทักษะต่ำ”

ดังนั้น เพื่อจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีความสามารถในการแข่งขันและแข็งแรงขึ้นได้ ศิริวัฒน์เสนอว่า รัฐบาลต้องช่วยสองด้าน ด้านหนึ่งต้องทำให้ซอฟต์แวร์ราคาถูกลง โดยนำเงินมาอุดหนุนส่วนหนึ่ง เช่น เงินงบประมาณ เงินจากกองทุนต่าง ๆ แล้วเจรจาจัดซื้อซอฟต์แวร์สำหรับเอสเอ็มอีเป็นออร์เดอร์ในระดับประเทศ

เมื่อมี volume การซื้อเยอะก็จะสามารถต่อรองราคาซื้อได้ในราคาถูกลง ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงการใช้ไอที การใช้ data การทำ ERP (ระบบบริหารจัดการภายในองค์กร) การทำ CRM (ระบบการบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า) ฯลฯ

อีกด้านหนึ่งที่รัฐต้องช่วยทำควบคู่กัน คือ การสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการใช้ไอที เพราะหากมีซอฟต์แวร์-มีระบบที่ดีแล้ว แต่ไม่มีคนที่ใช้งานเป็น ไม่มีคนที่ดู data เป็น ก็ไม่สามารถใช้ประโชน์จากซอฟต์แวร์ราคาแพงได้ ก็ไม่สามารถไปต่อได้

“เพราะฉะนั้นมันเป็นภาพรวม สิ่งที่อยากเห็นก็คือ เราไม่ได้เน้นไปที่ลดหนี้ แต่เราเน้นไปที่การสร้างทักษะและสร้างงานพร้อมกับทักษะ ผมว่าพวกนี้มันก็จะช่วยในองค์รวม ซึ่งการช่วยพวกนี้มันต้องแก้เยอะมากเลย ระบบมหาวิทยาลัย ระบบวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีกฎระเบียบ ทำอะไรรวดเร็วไม่ได้”

ศิริวัฒน์บอกว่า พรรคการเมือง ผู้ออกนโยบายจะต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ public policy (นโยบายสาธารณะ) เข้ามาช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องคน ต้องดูว่าตรงไหนบ้างที่คนจบมาแล้วได้เงินเดือนน้อย หรือไม่มีงานทำในสาขาที่จบ แล้วดึงคนจากงาน-จากการเรียนสาขาเหล่านั้นไปเรียนไอทีซึ่งตลาดมีความต้องการ เป็นการแก้ปัญหาได้สองทาง ทั้งได้สร้างคนให้เอสเอ็มอี และได้ยกระดับรายได้ของประชาชนส่วนหนึ่งในประเทศด้วย

“ผมว่าเราต้องตั้งโจทย์ที่ถูกต้อง โจทย์ที่ถูกต้องมันจะช่วยทีเดียวหลายอย่างเลย ถ้าเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราต้องการออกจากกับดักรายได้ปานกลาง แล้วเราต้องการให้คนใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ แปลว่าพาร์ตหนึ่งต้องสร้างงานให้คนกลุ่มนี้”

แต่ปัญหาของประเทศไทย ตามความเห็นของศิริวัฒน์ คือ รู้ว่าควรจะทำอะไร เพราะอะไร แต่ไม่รู้ว่าใครควรเป็นคนทำ ทำอย่างไร วิธีการแบบไหน ซึ่งงานหลาย ๆ อย่างทำหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องทำงานประสานกันหลายหน่วยงาน บางงานต้องเป็นนโยบายที่ท็อปดาวน์ สั่งจากบนลงล่างแล้วจะง่าย แต่ถ้าทำแบบบอตทอมอัพ พรีเซนต์จากข้างล่างขึ้นบนจะติดขัดปัญหาหลายอย่าง ดังนั้น ต้องระบุให้ได้ว่าเรื่องไหนควรทำแบบท็อปดาวน์ เรื่องไหนควรทำแบบบอตทอมอัพ

“ตอนนี้สังคมเราต้องการการร่วมด้วยช่วยกัน แทบทุกอันที่เป็นหัวข้อที่ดี แต่มันไม่สามารถทำคนเดียว ทำพรรคการเมืองเดียวก็ไม่ได้ หรืออาจจะหน่วยงานเดียวก็ไม่ได้ สิ่งที่เป็นในสังคมปัจจุบันนี้คือเรามี political willpower ต่ำ ความพยายามในการแก้ไขอะไรของเรามันน้อยมากเลย ความร่วมมือกันก็น้อย ความพยายามก็น้อย จนกระทั่งสร้าง norm (บรรทัดฐาน) ขึ้นมาว่า นักการเมืองสามารถจะพูดอะไรก็ได้ โดยไม่ต้อง deliver โดยไม่ต้องส่งมอบ เราสามารถที่จะรับปากอะไรใครก็ได้”

“สิ่งที่เราควรจะช่วยกันก็คือ เน้น who ใครเป็นคนทำ ทำอย่างไรและเมื่อไหร่ ซึ่งมันจะตอบได้จาก public policy ถ้าเราตั้งต้นที่ public policy แล้วเรารู้ว่าเราเลือกคนนี้เพราะว่าคนนี้อยากทำอันนี้ แล้วเราเห็นด้วย เราจะได้กรุ๊ปปิ้งคนที่เหมือน ๆ กันมาทำ ประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่มีใครเป็นแบบเราหรอกที่เอาคนหลากหลายความคิด 500 คนมาอยู่ในสภา แล้วคาดหวังว่าทุกคนจะคิดแนวทางเดียวกัน เป็นไปไม่ได้”

“เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มตั้งแต่เลือกว่าเราเชื่อในการพัฒนาแบบไหน แล้วเลือกคนกลุ่มเดียวกัน เหมือนไต้หวันที่ประสบผลสำเร็จ เขาเชื่อในเซมิคอนดักเตอร์ เขาก็เลือกแต่คนเชื่อหมือน ๆ กัน จนตอนนี้เขาเป็นเจ้าโลกแล้วในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ หรือเกาหลีใต้เขาเชื่อในซอฟต์เพาเวอร์ แล้วเลือกคนที่มีความเชื่อเหมือน ๆ กันมาพัฒนาในแนวทางนี้ นั่นแปลว่า การจะเลือกคนที่เชื่อเหมือน ๆ กันในการทำ เราต้องตั้งโจทย์ของ public policy ที่ชัดเจน แล้วถามเลยว่าคนนี้เขาชื่ออันนี้ไหม นักการเมืองพรรคนี้เขาเชื่อมั้ย”

โดยส่วนตัวของศิริวัฒน์เอง เขาบอกว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ เขาจะเลือกพรรคที่เห็นว่ามี willpower สูง คือ มีความพยายามที่จะปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ตรงกับความเชื่อ-ตรงกับเรื่องที่ตัวเขาเองให้ความสำคัญ

ศิริวัฒน์ยกตัวอย่างสองเรื่องที่ให้ความสำคัญ คือ การแก้หรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้ประเทศไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขัน และอีกเรื่อง คือ การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่ใช้วิธีแจกเงินและลดหนี้ ไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืน แต่วิธีที่ถูกต้องคือการยกระดับรายได้ของคนในชาติ

ศิริวัฒน์ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีอนาคต แต่ต้องรีบแก้ปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพด้านต่าง ๆ ถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร 3-4 ปี ประเทศไทยจะถดถอยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศอื่นมีไดเร็กชั่นมีการพัฒนา บางประเทศอาจจะเคยล้าหลังกว่าไทย แต่ใช้เวลาแค่แป๊บเดียวเขาก็ตามเราทัน

“ของเรามีปัญหาเก่า บวกกับปัญหาใหม่ ปัญหาสังคมมาเรื่อย ๆ เดี๋ยวสักพักหนึ่ง ประเทศมันจะกู่ไม่กลับ”