มติชน : เลือกตั้ง’66 ระดมพันธมิตรออกแบบประเทศไทย

มติชน : เลือกตั้ง’66 ระดมพันธมิตรออกแบบประเทศไทย
คอลัมน์ : FUTURE THAILAND

การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังมาถึง ถูกคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีความหวัง มีอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

เป็นความคาดหวังที่มาพร้อมกับคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะเป็นไปได้อย่างที่หวัง ?

คำถามนี้น่าจะตอบได้ส่วนหนึ่งจากแคมเปญ “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” ที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ระดมสื่อในเครือ ทั้งมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ มติชนทีวี และมติชนสุดสัปดาห์ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC และศูนย์ข้อมูลมติชน (MIC) สร้างสรรค์ขึ้น

แคมเปญนี้จะประกอบด้วย เวทีเสวนา เวทีดีเบต คอนเทนต์พิเศษที่นำเสนอครบทุกมิติ ครบทุกแพลตฟอร์ม ในส่วนของ “ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมกับ TDRI ทำซีรีส์คอนเทนต์ Future Thailand นำเสนอบทความวิจัยเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ (public policy) ต่อยอดด้วยการสัมภาษณ์นักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ที่ฉายความคาดหวังและข้อเสนอแนะสำหรับอนาคตประเทศไทย

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปราปต์ บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในมุมมองของสื่อมวลชน “การเลือกตั้ง” มีสถานะเป็นเหมือนเครื่องมือที่ใช้เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ชัดเจนขึ้น เป็นเครื่องมือหยุดภาพความเปลี่ยนแปลงไว้ชั่วขณะ เพื่อให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมีรายละเอียดอย่างไร

“ศักยภาพของการเลือกตั้ง สถานะของมันคือ ‘โพล’ ที่ใหญ่มาก มีกลุ่มตัวอย่างกว้างขวาง เป็นกลุ่มตัวอย่างระดับประเทศ เป็น data ที่ใหญ่มาก และซับซ้อนด้วย”

ปราบต์บอกว่า แคมเปญที่มติชนจัดขึ้นจะเน้นน้ำหนักไปที่ “อนาคต” จะฉายภาพให้เห็นว่านักการเมือง-แคนดิเดตนายกฯ มีวิสัยทัศน์มองอนาคตของสังคมไทยอย่างไร เช่นเดียวกับเวทีภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่จะฉายว่าแต่ละภาคส่วนแต่ละคนมองอนาคตและมีความคาดหวังกับสังคมไทยอย่างไร

ปราบต์กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่คนคาดหวังจากสื่อคือการทำนายผลการเลือกตั้ง ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่สามารถทำนายได้ถูกต้องแม่นยำ 100% ทุกการเลือกตั้งมีสิ่งที่คาดไม่ถึงเสมอ แต่มองว่านัยที่สำคัญกว่าคือ “การมองว่าเมื่อผลเลือกตั้งออกมาแล้วคุณไม่รู้อะไร คุณไม่รู้จักเพื่อนร่วมประเทศของคุณขนาดไหน คุณทึกทักพวกเขาผิดไปขนาดไหน”

ในมิติ “อดีต” ปราบต์กล่าวว่า เวลาพูดถึงการเลือกตั้งคนมักไม่ให้น้ำหนักกับอดีต แต่ความจริงแล้วอดีตสำคัญ เพราะอดีตเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราทำความเข้าใจสภาพการเมืองไทยว่าเป็นยังไง ทำให้เห็นว่าสังคม คน การเมือง เปลี่ยนไปอย่างไร

“เวลาพูดถึงการเมืองไทยร่วมสมัย เราจะมองมันเป็นความสืบเนื่อง…มันคือความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะต่อสื่อเก่าแก่อย่างเครือมติชน ว่ามีประสบการณ์ มีความรู้ ความเข้าใจตัวแสดงการเมืองหลายรุ่น แล้วนำมาเชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง สุดท้ายแล้วคนจะคาดหวังจากสื่อว่า ด้วยองค์ความรู้ทั้งหมดที่คุณมี คุณจะสามารถให้คำอธิบายความเปลี่ยนแปลงกับสังคมได้หรือไม่”

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC กล่าวว่า จากที่ได้สัมผัสกับลูกน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่ พบว่าคนรุ่นใหม่ค่อนข้างเบื่อ เพราะที่ผ่านมาการเมืองเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ การเมืองไทยไม่มี political willpower ความพยายามในทางการสร้างความเปลี่ยนแปลงมีน้อย

“สิ่งที่อยากจะเน้นคือ ถ้าจะพัฒนาประเทศเหมือนเกาหลีใต้ เหมือนไต้หวัน เขาจะเอาคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน ว่าไดเร็กชั่นจะไปทางเซมิคอนดักเตอร์ แล้วก็ทำต่อเนื่อง หรือซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี เขาเห็นด้วยที่จะทำ แล้วเลือกคนที่มีความคิดเห็นแนวเดียวกันแล้วทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยเคยทำ creative economy ทำปีเดียวจบ ไม่มีความต่อเนื่อง”

ศิริวัฒน์บอกว่า อยากสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ออกไปเลือกคนที่มีความคิดใกล้เคียงกัน เน้น public policy ที่ตัวเองอยากได้ ถ้าเน้นที่ public policy ทุกคนจะรู้ว่าเลือกใครแล้วจะได้อะไร ตาม priority “น่าจะถึงจุดที่เป็นการเปลี่ยนแปลง เอาคน 500 คนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันมาแก้ไขปัญหาของประเทศ”

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน เป็นครั้งสุดท้ายที่มีอำนาจนอกระบบเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งต่อไปคงจะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น TDRI อยากเห็นประชาธิปไตยไทยมีความมั่นคง เดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้คือ การแข่งขันในเชิงนโยบายของพรรคการเมือง

เมื่อพรรคไหนชนะมาเป็นรัฐบาลแล้วนโยบายเหล่านั้นสามารถทำได้จริง จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศ และนโยบายสาธารณะที่จะนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาลควรมีความยั่งยืน และทำได้จริงในทางการเมือง ในทางการคลัง เป็นนโยบายที่ไม่สร้างภาระให้คนในอนาคต

“ถ้าประเทศไทยได้นโยบายออกมา ทำแล้วประเทศมีปัญหาทางการคลัง ทางเศรษฐกิจ ประเทศก็เสียหาย แต่ถ้าไม่ทำก็มีความเสี่ยงในเรื่องความเชื่อถือในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น TDRI อยากช่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยที่ลงหลักปักฐาน ด้วยการมีนโยบายที่ทำได้จริง และไม่สร้างภาระแก่คนในอนาคต”

ด้าน รศ.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย กล่าวว่า สิ่งที่สถาบันจะเสริมในแคมเปญนี้คือ การวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งจากชุดข้อมูลการเลือกตั้งปี 2562 ที่ละเอียดถึงระดับหน่วยเลือกตั้ง หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว สถาบันจะใช้ฐานข้อมูลมาวิเคราะห์ได้เลยว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ 50 : 50 เป็นการสู้กันระหว่าง new generation กับ established generation หรือเจเนอเรชั่นที่สถาปนาแล้ว

ผศ.อัครพงษ์ชี้ว่า นโยบายที่ยังไม่เห็นจากพรรคการเมืองใดเลยคือ นโยบายด้านต่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องมี


“อย่าลืมว่าประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก สิ่งที่เขามีนอกเหนือจาก domestic policy ก็คือการออกไปค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ นโยบายเราเป็นอย่างไร เราจะดูแลคนอื่นที่มาอยู่เมืองไทยอย่างไรบ้าง นโยบายต่างประเทศต้องมี ต้องแข็ง อย่างเกาหลีใต้ดังขึ้นมาเพราะนโยบายต่างประเทศ เพราะฉะนั้นฝากด้วย วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เน้นว่าคนไทยต้องรู้ไทย และเข้าใจโลกให้ได้” ผศ.อัครพงษ์กล่าว