ศุภจี สุธรรมพันธุ์ CEO ดุสิตธานี โจทย์ใหญ่ประเทศไทย : พลิกเกมธุรกิจท่องเที่ยว

เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ในการทำโปรเจ็กต์ Future Thailand นำเสนอมุมมองความคิดและข้อเสนอของภาคธุรกิจในการที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตประเทศไทย ให้กับรัฐบาลใหม่ ผ่านบทสัมภาษณ์ 8 ซีอีโอ นักธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรม และปิดท้ายด้วยภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

3 โจทย์ใหญ่ “ประเทศไทย”

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดประเด็นถึงปัญหาของประเทศที่ต้องแก้โจทย์มี 3 ด้านหลัก ที่จะส่งผลย้อนกลับมาเป็นโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอดในปี 2572 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ในปี 2574 โดยเริ่มเห็นอัตราการลดลงของประชากรมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งลดเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ถึง 9 ปี

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจคือ การใช้จ่ายในประเทศจะลดลงตามจำนวนประชากร และคนในวัยทำงานลดลง ทำให้มีเงินเข้าไปในระบบภาษีน้อยลง ประสิทธิภาพการผลิต ของประเทศลดลง ขณะที่มีภาระการดูแลสุขภาพของคนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลการบริหารงบประมาณของประเทศลำบากมากยิ่งขึ้น

2.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลงจากดัชนีของ IMD จะพบว่าในปี 2565 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 33 ต่ำกว่าปีก่อนหน้าที่อยู่อันดับ 28

การวัดดัชนีของ IMD มี 4 ด้าน คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ, ประสิทธิภาพของรัฐบาล และประสิทธิภาพของภาคเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งดัชนีประเทศไทยลดลงถึง 3 ด้าน ยกเว้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานซึ่งไม่ลดลง แต่ก็อยู่ในระดับคงที่

หากประเทศไทยไม่สามารถกลับมาแข่งขันในระดับที่ดีขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจได้ ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ก็ลดลงต่อเนื่อง ที่สำคัญเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย FDI ของไทยก็ต่ำกว่ามากพอสมควร

“เพราะแรงงานของไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มทักษะสูง แต่มีค่าแรงพื้นฐานสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ก็ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนในประเทศของเราลดลง และปัญหาเหล่านี้ก็ทำให้ประสิทธิภาพของภาคเอกชนลดลงด้วย”

และ 3.ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและปัญหามลพิษ ทั้งเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด รวมถึงปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

“เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ส่วนตัวเข้าใจว่าไม่ได้แก้ไขได้ง่าย ๆ ต้องมีการวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และแผนระยะยาวก็สำคัญ เพราะประเทศไทยได้ลงสัตยาบันไว้ที่ในการประชุม COP 26 ว่า เรามุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และประเทศไทยจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 ทั้ง 3 ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างชัดเจน”

6 ข้อเสนอพลิกเกมธุรกิจท่องเที่ยว

ส่วนนโยบายด้านท่องเที่ยว ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานีกล่าวว่า ขอฝากไว้ 6 ด้าน คือ “3 สร้าง 2 กระตุ้น และ 1 ลด” โดย 3 สร้างที่อยากเห็น คือ 1.สร้าง branding สร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมี่ยม เรื่องนี้จำเป็นและสำคัญ เพราะไม่อยากให้ไปเน้นเรื่องปริมาณนักท่องเที่ยวมากเกินไป ควรเน้นเรื่องของคุณภาพผ่านการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ทั้งเรื่องของอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม ความสวยงามทางธรรมชาติ สุขภาพ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศ ผ่านการตลาดที่เน้นเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนที่สนใจเวลเนส ที่นำเสนอสินค้าและบริการแบบครบวงจร

รวมถึงการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ผ่านบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิด (key opinion leader : KOL) ส่งมอบประสบการณ์เรื่องเล่าออกไป เรามี key influencer ที่เป็นคนไทยมากมาย เช่น ข้าวเหนียวมะม่วงโดยน้องมิลลิ มวยไทยโดยบัวขาว หรือน้องลิซ่า ที่โปรโมตความเป็นไทยอย่างน่ารัก อ่อนน้อม เป็นต้น

หรือการจับกลุ่มคนที่ทำงานที่ใดก็ได้ (digital nomads) เน้นวีซ่าพักอาศัยระยะยาว (long stay) สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เพราะโครงสร้างด้านโทรคมนาคมของไทยตอบโจทย์ได้อยู่แล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายการอยู่เมืองไทยก็ตอบโจทย์เขาเช่นกัน ถือเป็นการใช้ soft power มาทำให้ประเทศไทยสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมี่ยม ตามหลัก Less is MORE คือไม่ต้องมีคนจำนวนมาก ๆ เพื่อสร้างรายได้ แต่ต้องทำให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น

ซูเปอร์แอปด้านการท่องเที่ยว

2.สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ทั้งเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และสะดวกสบาย โดยดูว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ตอนที่เปิดประเทศใหม่ ๆ ก่อนเข้าญี่ปุ่น ต้องมีการลงทะเบียนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่น คนที่ preboarding ผ่านแอปพลิเคชั่น ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 นาที ในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ส่วนคนที่ยังไม่ทำ preboarding ก็สามารถเข้าช่องธรรมดา ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวไทยขาดคน เพราะฉะนั้นเราก็ใช้เรื่องพวกนี้มาช่วยทุ่นแรง และช่วยสร้างความสะดวกสบาย เพราะว่า “สนามบินเป็นหน้าต่างบานแรกของประเทศ” ถ้าคนที่เดินทางมากว่า 20 ชั่วโมง แล้วต้องมายืนเข้าคิวเป็นชั่วโมง ก็อาจไม่ได้สร้างความประทับใจในก้าวแรกที่มาเยือนประเทศไทย

หรือการมี super app ด้านท่องเที่ยว ที่ให้ความสะดวกในการค้นหาที่พัก ร้านอาหาร แหล่งซื้อสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวรู้ว่ามาประเทศไทยควรจะไปที่ไหน รวมถึงเรื่องของความสะอาดสุขอนามัย มีสถานที่ไหนบ้างที่ผ่านมาตรฐาน (SHA, SHA Plus) จะเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานให้นักท่องเที่ยวได้

และ 3.คือสร้างมาตรฐานยกระดับแรงงาน ให้มีทักษะและมาตรฐานที่เหมาะสม โดยใช้หน่วยงานการฝึกอาชีพที่มีอยู่ ยกระดับการฝึกอบรม มีการให้ใบรับรอง (certificate) ซึ่งในมุมของผู้ให้บริการนั้น นอกจากจะเป็นการเสริมทักษะแล้วยังสร้างระบบจูงใจ (incentive) ให้กับแรงงาน ไปสมัครงานที่ไหนจะได้รายได้มากกว่าขั้นพื้นฐานด้วย

ชูนโยบาย Tax Incentive จัดการท่องเที่ยว

ส่วนนโยบาย 2 กระตุ้นนั้น “ศุภจี” กล่าวว่า 1.กระตุ้นความยั่งยืน โดยระบบการดูแลจัดการการท่องเที่ยวและการบริการในไทยส่วนมากจะเป็นระบบการให้ใบอนุญาต ไม่ทำก็ผิดกฎหมาย แต่ระบบที่อยากให้เสริมคือ คิดเรื่องของการกระตุ้น มากกว่าการลงโทษ

เช่น มาตรการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (tax incentive) หรือให้สิทธิการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางจะเข้าถึงกลุ่มทุนได้หรือได้รับการลดหย่อนภาษี ถ้าทำตามนี้ เช่น มีการกำจัดขยะอย่างถูกต้องโดยไม่กระทบสิ่งแวดล้อม, ใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอยากมีส่วนร่วม ขณะที่รัฐก็สามารถลดค่าใช้จ่าย เช่น งบฯในการกำจัดขยะ ผันเอาค่าใช้จ่ายรัฐมากระตุ้นเกิดเป็นส่วนร่วมจากผู้ประกอบการ

และ 2.กระตุ้นประสิทธิภาพ การสร้างทักษะของแรงงานเพื่อให้สถานประกอบการอยู่ในมาตรฐานที่วางไว้ เช่น หากบริษัทไหนมีการฝึกอบรมพนักงานจะสามารถเอาค่าใช้จ่ายด้านการอบรมไปหักลดหย่อนภาษีได้ หรือรัฐบาลอาจจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ลงทุนและผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้เกิดคอมมิวนิตี้ในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก

เสนอลดความซับซ้อน “ใบอนุญาตโรงแรม”

ซีอีโอกลุ่มดุสิตธานีกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ “1 ลด” คือ ลดความยุ่งยากซับซ้อนในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมและการให้บริการ และขอให้พิจารณาถึงบริบทของโลกที่เปลี่ยนไป เพราะการจะเปิดโรงแรม 1 แห่ง ต้องขอใบอนุญาตเยอะมาก ทำให้โรงแรมมากกว่าครึ่งของประเทศไทยเป็นโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้ รัฐได้ภาษีไม่ครบถ้วน และเกิดความไม่ปลอดภัย ดังนั้นต้องไปดูว่าจะลดตรงนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ควรเพิ่มบางประเด็น เช่น การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว ผู้ประกอบการรายใดเพิ่มได้ก็ให้ incentive ช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการอยากอยู่ในระบบมากขึ้น

อนาคตประเทศอยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจ

“ศุภจี” ฝากเรื่องการจัดการปัญหาเศรษฐกิจว่า อยากให้รัฐบาลเน้นเรื่องประสิทธิภาพ กระตุ้นการสร้างรายได้และเสริมสร้างประสิทธิภาพ เพราะเป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นรัฐบาล แต่เชื่อว่ารัฐบาลที่เข้ามาคงมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงฝากนโยบาย “3 สร้าง 2 กระตุ้น 1 ลด” ให้ทางรัฐบาลนำไปพิจารณาปรับใช้ และช่วยการท่องเที่ยวให้นำซอฟต์พาวเวอร์ของไทยมาสร้างให้เจริญเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน

พร้อมกับทิ้งท้ายถึงอนาคตประเทศไทยว่าอนาคตมีความผันผวนต้องเจออุปสรรคต่าง ๆ ตามบริบทโลกที่เปลี่ยนไป จึงอยากให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมแรงร่วมใจกันปรับตัวและเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เราอยู่ได้อย่างยั่งยืน

และยังเชื่อมั่นเสมอว่าประเทศไทยของเรามีอนาคตแน่นอน ถ้าคนไทยเราร่วมมือกัน และเดินไปข้างหน้าอย่างมีพลัง