CEO กังวลตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ กระทบเชื่อมั่น-ลงทุน ฉุดเศรษฐกิจ

บุญชัย โชควัฒนา-ศุภชัย เจียรวนนท์-พีระพงศ์ จรูญเอก
บุญชัย โชควัฒนา-ศุภชัย เจียรวนนท์-พีระพงศ์ จรูญเอก

ซีอีโอ-บิ๊กธุรกิจกังวลการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง “ยืดเยื้อ-ไม่ลงตัว” กระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ-การลงทุน อีไอซีหวั่นประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 “ล่าช้า” ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ “บุญชัย โชควัฒนา” เจ้าสัวสหพัฒน์ไม่แคร์ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ขอให้เร่งฟอร์มรัฐบาล โจทย์ใหญ่ต้องเร่งปราบคอร์รัปชั่น และจัดการปัญหาต้นทุนผู้ประกอบการ ประธานสภาตลาดทุน หวั่นตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ป่วนตลาดทุน นายกสมาคมคอนโดฯจี้รัฐบาลใหม่เร่งเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบินบูมอีอีซีฟื้นเชื่อมั่นการลงทุน “ศุภชัย เจียรวนนท์” เสนอ 7 นโยบายรัฐบาลใหม่สู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจความคิดเห็นและมุมมองของบรรดานักธุรกิจ ผู้บริหารซีอีโอบริษัทต่าง ๆ ถึงความหวังและความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ต่อรัฐบาลใหม่ในมิติต่าง ๆ

สหพัฒน์จี้แก้ปัญหาต้นทุนธุรกิจ

นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้งจบลงคือ การฟอร์มทีมรัฐบาลที่เกิดขึ้นเร็ว ไม่อยากให้มีความยืดเยื้อ หรือมีความไม่ลงตัว ขอให้ฟอร์มรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงข้างมากต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป หากฝ่ายใดสามารถรวมรวมเสียงได้ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน

“หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อ ตกลงกันไม่ได้ จับมือกันไม่ได้ ในแง่ความเสียหายกับภาคธุรกิจคงไม่เสียหายอะไรมากนัก เพียงแต่ภาพที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัดใจว่าทำไม ไม่ได้รัฐบาลใหม่เสียที ส่วนต่างประเทศก็อาจจะมองว่ารัฐบาลไม่มีความมั่นคง เพราะตั้งรัฐบาลไม่ได้สักที” นายบุญชัยกล่าวและว่า

หลังการเลือกตั้ง หากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีรัฐบาลผสม ดังนั้น ผู้นำหรือผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีความเข้มแข็ง และสามารถโน้มน้าวและทำให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ยอมเดินไปในทางเดียวกัน อย่าเป็นลักษณะที่ว่ามีความเห็นแตกต่างกันเยอะ ๆ ต้องยอมกันบ้าง นายกรัฐมนตรีจะต้องพูดให้ชัดเจนว่า ถ้ามาร่วมเป็นรัฐบาลด้วยกันแล้วก็ต้องมีแนวทางเดียวกันให้หมด ไม่ใช่ว่าเอาเรื่องของตำแหน่งในรัฐบาลมาเป็นตัวต่อรองมากจนเกินไป

นายบุญชัยยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ สิ่งที่อยากจะฝากให้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาในเวลานี้ ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งแก้ไม่ได้มาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ตรงกันข้ามมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นนี้สำคัญมากสำหรับรัฐบาลใหม่ ถ้าทำไม่ได้จะถือว่าไม่มีผลงาน

นอกจากนี้ควรเร่งแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ตอนนี้แพงขึ้นมาก รวมถึงการส่งออกก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกัน การชักชวนให้นักลงทุนชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ เราก็เป็นประเด็นส่วนหนึ่ง

นายแบงก์ห่วงตั้งรัฐบาลล่าช้า

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า หลังจากเลือกตั้งแล้ว ยังต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ว่าจะสามารถทำได้เร็วหรือช้า เพราะหากสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อจะขับเคลื่อนประเทศน่าจะสามารถทำได้เร็วขึ้น ในแง่เชิงธุรกิจเชื่อว่านักลงทุน นักธุรกิจก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะชะลอการลงทุน เพื่อรอดูสถานการณ์ (wait & see) ก็น่าจะเห็นภาคเอกชนกลับมาดูในเรื่องของการลงทุนใหม่ หรือขยายธุรกิจเพิ่มเติม ภายใต้การนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐจะต้องมีความชัดเจนด้วย

“ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว การดำเนินนโยบายต่าง ๆ น่าจะทำได้ต่อเนื่อง ภาคเอกชนจะมีความเชื่อมั่น และกล้าที่จะเริ่มมองหาการลงทุนใหม่ เพราะทุกคนรอความชัดเจนก่อนจะตัดสินใจทำอะไรใหม่ ซึ่งเราก็ต้องรอลุ้นผลหลังเลือกตั้ง” นายฐากรกล่าว

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจและบรรยากาศหลังการเลือกตั้ง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับว่าขั้นตอนกระบวนการหลังจากที่มีการเลือกตั้ง ว่าจะมีความชัดเจน โปร่งใส และเรียบร้อย ไม่สะดุดหรือไม่ หากทุกอย่างสามารถผ่านไปด้วยดี เรียบร้อย เชื่อว่าประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าต่อไปได้แน่นอน เพราะด้วยปัจจัยพื้นฐานของไทยค่อนข้างดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ตอนนี้ที่ยังมีความกังวลว่า กระบวนการเลือกตั้งทุกอย่างจะไม่เรียบร้อย เพราะการเลือกตั้งล่วงหน้ายังมีความวุ่นวาย ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หากมีการร้องเรียนกัน ทุกอย่างก็จะล่าช้าออกไป แต่ถ้าทุกอย่างโปร่งใสและเรียบร้อย เชื่อว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดี ไม่น่าจะมีปัญหา

EIC ชี้ยิ่งช้ายิ่งกระทบเศรษฐกิจ

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 จะเริ่มเห็นผลกระทบด้านลบจากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2567

โดยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้อย่างเต็มที่

แต่ในทางตรงกันข้าม หากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่น อาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้งประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 ได้อย่างล่าช้ามาก จนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

หวั่นตั้งรัฐบาลไม่ได้ป่วนตลาดทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งของประเทศไทยครั้งนี้ ตลาดทุนไทยไม่ได้เลือกข้าง เพียงแต่อยากได้ความแน่นอนหลังจากการเลือกตั้ง เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ตลาดทุนไทยจะปั่นป่วนแน่ เพราะนักลงทุนเกิดความกังวลใจ แต่หากเลือกตั้งเสร็จ มีรัฐบาลที่มั่นคง มีนโยบายที่ชัดเจน ตลาดทุนไทยพร้อมปรับตัวได้ทันที

“ตลาดทุนชอบเสถียรภาพของรัฐบาล ถ้าเกิดรัฐบาลใหม่ได้เสียงข้างน้อย จะมีเสถียรภาพยาก ตลาดทุนจะมีความกังวลใจมาก อย่างไรก็ตามเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็เป็นกำลังใจให้กับประเทศไทยด้วย เพราะถ้าจบเลือกตั้งจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นจุดกำหนดเรื่องความเข้มแข็งของตลาดทุนไทยต่อไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่ละพรรคประชันนโยบาย แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงต้องเลือกว่าจะทำนโยบายอะไร จึงมีข้อแนะนำว่าช่วงปลายปี 2566 การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี เพราะเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพียงแต่อย่ากระตุ้นจนกระทั่งเป็นนโยบายถาวร ในมุมของภาคท่องเที่ยว เสนอให้รัฐบาลปลดล็อกการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ไม่ต้องเก็บค่าวีซ่าเป็นเวลา 1 ปี และลดขั้นตอนการทำวีซ่าโดยเฉพาะทัวร์จีน

ลดอุปสรรคข้อกฎหมาย

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้นโยบายที่ตลาดทุนไทยอยากเห็นต่อไปคือ ควรมีมาตรการระยะยาวให้มากขึ้นด้วย เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตให้ประเทศไทย เช่น ทำให้ประเทศไทยมีฐานการผลิตที่ดีขึ้น มีอุตสาหกรรม 4.0 ที่มากขึ้น ซึ่งต้องเปลี่ยนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์, อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, ท่องเที่ยว และทางการแพทย์

และควรเดินหน้าต่อโครงการ Guillotine เพื่อลดอุปสรรคเชิงกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องใช้เงิน แต่ต้องใช้ความตั้งใจ เพื่อช่วยปลดล็อกและลดต้นทุนให้บริษัทต่าง ๆ สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น นอกจากนี้อยากเห็นมาตรการดึงดูดนักลงทุนที่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายด้านอุตสาหกรรมให้ได้ ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯไปได้ไกลกว่าเดิมด้วย เพราะจะมี IPO ใหม่ ๆ เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเสริมมาตรการระยะสั้นได้

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีนโยบายที่จะเข้าไปนำเสนอรัฐบาลใหม่ ต้องการผลักดันการฟื้นกองทุน LTF หรือกองทุนรูปแบบใหม่กลับมา เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ากองทุน SSF ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ ขณะที่กองทุน LTF สามารถจะช่วยสร้างเม็ดเงิน มูลค่าการลงทุน และการเก็บออมของประชาชนได้ดีกว่าพอสมควร ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ และไม่เป็นภาระรัฐบาลในอนาคตได้

เสียงข้างมากต้องจัดตั้งรัฐบาล

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงข้อกังวลต่อบรรยากาศการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งว่า ประเด็นใหญ่สุดคือไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามที่ได้รับโหวตเสียงข้างมาก จะต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เพราะเราต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนผู้ลงคะแนน ข้อต่อมา การจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งเข้ามาจัดทำงบประมาณ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ การบริหารภาครัฐเหมือนสุญญากาศ มีโครงการสำคัญถูกชะลอหรือแตะเบรกออกไป ผมเชื่อว่าหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลที่มีศักยภาพสูง สิ่งที่นักธุรกิจต้องการคือให้เข้ามาขับเคลื่อนการทำงานและผลักดันเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าต่อไป” นายพีระพงศ์กล่าว

เร่งไฮสปีด 3 สนามบินบูมอีอีซี

นายพีระพงศ์กล่าวว่า ความคาดหวังหลังการเลือกตั้ง อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพราะเสียโอกาสไม่น้อยกว่า 6 ปีมาแล้ว

“ออริจิ้นฯเข้าไปลงทุนในโซน EEC จะครบ 3 จังหวัดแล้ว โดยเริ่มทำโครงการสมาร์ทซิตี้ในศรีราชา ชลบุรี เป็นแห่งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน โดยเริ่มทำโครงการแห่งที่ 2 ที่ระยอง สร้างแล้ว 70% และกำลังเริ่มก่อสร้างที่บางปะกง แปดริ้ว เป็นแห่งที่ 3 แต่ไฮสปีดเทรนสามสนามบินไม่มีความคืบหน้าเลย อยากให้เร่งทำเพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นการลงทุนโดยตรง”

สำหรับต่างจังหวัดอยากให้โฟกัสนโยบายฟื้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวเพราะผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใครในโลก ยกตัวอย่างประเทศสเปนมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยสามารถทำได้เช่นกัน

เพราะมีศักยภาพทั้งบุคลากรและธรรมชาติที่สวยงาม เป็นเดสติเนชั่นระดับโลกของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในส่วนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำเสนอนโยบายลูกค้าต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียมราคา 3 ล้านบาทได้วีซ่า 3 ปี, ซื้อราคา 5 ล้านบาทได้วีซ่า 5 ปี ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้น แต่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว

หอการค้าลุ้นตั้งรัฐบาลลงตัว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นไปตามกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งทุกพรรคการเมืองก็ได้นำเสนอนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาให้ดีขึ้น

เชื่อว่าผลการเลือกตั้งออกมาจะเป็นรัฐบาลผสม ภาคเอกชนก็หวังว่า การตั้งรัฐบาลจะเป็นไปโดยไม่มีความขัดแย้ง และลงตัว เพื่อที่จะได้มีรัฐบาลสมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งหลาย ๆ พรรคจะได้ดำเนินนโยบายตามที่วางไว้ได้

หลังการเลือกตั้งอนาคตประเทศไทยคงมีความท้าทาย และโอกาสหลาย ๆ อย่าง ซึ่งการฟื้นตัวของประเทศไทยต้องมองทั้งการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนเป็นหลัก ต้องอาศัยการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ขยายการค้าการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพสูง ใช้การท่องเที่ยวในการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง โดยต้องให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้ง่าย มาตรการต่าง ๆ ต้องเสริมความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) และให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างแท้จริง

“รัฐบาลต้องทำงานและปรึกษาหารือกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพราะภาคเอกชนมีข้อมูลเชิงลึกที่จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะเร่งปรับการทำงานของภาครัฐเข้าสู่รูปแบบ digital government เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรม”

และท้ายที่สุดคือเร่งบริหารจัดการและดูแลต้นทุนต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ทั้งค่าพลังงานและค่าแรง รวมถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ให้ไม่สูงและเหมาะสม เพื่อไม่เป็นการผลักภาระไปยังประชาชนในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ชง 7 แนวทางสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานโจทย์ใหญ่ไทยแลนด์ 5.0 “เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ว่า ความท้าทายของโลกและประเทศไทยมี 4 ประการ ประกอบด้วย ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงแหล่งทุน, การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (digital transformation) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

และปัญหาโลกแบ่งขั้ว (multi polar) และสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามความท้าทายระดับโลกได้ คือ นโยบายทรานส์ฟอร์มประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุค 5.0

โดยสภาดิจิทัลฯได้เสนอแนวทางสำคัญ 5 ด้าน ที่จะเสริมศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบด้วย บูรณาการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม, สร้างคนทักษะดิจิทัลโดยการปฏิรูปการศึกษา, สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย, ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 และการสร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

นายศุภชัยกล่าวว่า จากที่กล่าวมาสรุปได้ 7 ประเด็นสำคัญที่อยู่ภายใต้ 5 ข้อเสนอข้างต้น เพื่อเป็นแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล คือ 1.กำหนดวิชาภาษาคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นวิชาหลักในการหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์คัดกรองที่ดีและมีคุณธรรม

2.ส่งเสริมมีเดียและคอนเทนต์ เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมในช่วงไพรมไทม์ โดยรัฐให้ incentive กับผู้ผลิตคอนเทนต์ 3.ตั้งเป้าเทคสตาร์ตอัพ 20,000 บริษัท เพื่อช่วยการเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลและสร้าง Digital & Tech Workforce 1 ล้านคน

4.ยกระดับภาคการเกษตรในการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ พร้อมกับการสร้าง 3,000-5,000 องค์กรที่เป็นสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน 5.0 5.ดึงดูดคนเก่งและคนดีเข้าสู่ระบบราชการระดับบริหารด้วยการปรับเงินเดือน เทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน รวมทั้งปรับรัฐบาลเป็นรัฐบาลดิจิทัลและควรมีข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% 6.สร้างให้ประเทศไทยเป็น Innovation Center ด้านต่าง ๆ และ 7.สนับสนุนการต่อยอดของผู้ประกอบการไทย

ไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลใหม่ สิงหาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทม์ไลน์การเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จะมีช่วงเวลาในการฟอร์มรัฐบาลใหม่ ประมาณ 2-3 เดือน ทั้งนี้แบ่งระยะเวลาเป็น 60 วันหลังเลือกตั้ง ตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 127

เท่ากับว่า กกต.มีเวลารับรองผลเลือกตั้งจนถึง ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม จากนั้นภายใน 15 วันนับแต่ กกต.ประกาศรับรองผล รัฐธรรมนูญมาตรา 121 กำหนดว่า ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก เพื่อประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมสภา จากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี และฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2566


ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการตั้งคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาการต่อจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่