บิ๊กธุรกิจชี้โจทย์รัฐบาลใหม่ ปฏิรูปเกษตร-SME-รีสกิลแรงงาน

3 บิ๊กธุรกิจ

6 นักธุรกิจชั้นนำแนะรัฐบาลใหม่ เร่งแก้ปัญหาเศรษกิจ สร้างอนาคตประเทศ “บรรยง พงษ์พานิช” เกียรตินาคินภัทรมองภาพรวมให้แก้รัฐธรรมนูญทันที พร้อมลดขนาด-บทบาท-อำนาจรัฐลงเพราะเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชั่น ด้าน “ศุภชัย เจียรวนนท์” เครือเจริญโภคภัณฑ์ย้ำต้องแก้ปัญหาภาคการเกษตร ปฏิรูประบบสหกรณ์ พร้อมพัฒนา “คน” สอดคล้องกับ “ไทยซัมมิท-MFEC-KBTG” สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ รีสกิลคนทั้งประเทศเพื่อรองรับความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใช้ IT ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ช่วย SMEs เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หลังจากมีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เปิดทางให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นไปยังนักธุรกิจ 6 ท่านจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ถึงเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จักต้องแก้ไข รวมไปถึงอนาคตของประเทศไทยต่อจากนี้ด้วย

รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไข รธน.

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลใหม่มีเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำทันทีคือ “การแก้รัฐธรรมนูญ” เพราะเชื่อว่าประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ใช้ระบบเสรีนิยมและประเทศที่มีกลไกตรวจสอบ มีสังคมที่ไม่ยอมรับให้มีการคอร์รัปชั่น จะทำให้เป็นประเทศที่มั่งคั่งและทั่วถึง

“หลักการง่าย ๆ ในโลกโลกาภิวัตน์ เราต้องปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีจุดอ่อนมากมายที่ทำให้ประชาธิปไตยของเราแม้ว่าจะมีเลือกตั้ง แต่ยังห่างไกลดัชนี Democracy Index เราเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าประชาธิปไตยได้รับการพัฒนาต่ำมาก จึงพิสูจน์ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้ไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ผมก็อยากให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ” นายบรรยงกล่าว

ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใหม่ควรทำก็คือ การลดขนาดของรัฐลง ลดบทบาทของรัฐลง และลดอำนาจของรัฐลง เพราะทั้ง 3 อย่างเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชั่น นอกจากลดขนาดแล้ว จะต้องมีกลไกเข้าไปตรวจสอบ ไม่ให้มีรั่วไหลได้ จึงอยากได้รัฐบาลมีแนวคิดเรื่องพวกนี้ชัดเจน ไม่ใช่หยิบแต่เรื่องประชานิยมปลีกย่อยเพื่อมาหาเสียง “ผมเฝ้าติดตามนโยบายต่าง ๆ อยู่ ถ้ามีนโยบายที่ตรงกับความเชื่อของผม พรรคไหนที่มีนโยบายเหล่านี้มากกว่า ผมก็คงจะเลือกพรรคนั้น”

ส่วนวิธีป้องกันการ “ถอนทุน” ของทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น “ก็ง่ายมากเพราะการเมืองเอื้อประโยชน์ให้ทุนได้ ทำให้ทุนเข้าไปยุ่งกับการเมือง ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศกฎกติกาให้มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ถ้ากฎเปิดกว้าง กฎมีความเป็นธรรม การเมืองก็ไม่มีประโยชน์กับทุนเลย”

ดังนั้นคำตอบของผมถึงวิธีไม่ให้ทุนธุรกิจยุ่งกับการเมืองก็คือ ไปลดประโยชน์ที่ทุนจะได้จากการเมือง โดยการปล่อยให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งประเทศอื่นทำสำเร็จมาแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ ทำไมเราจะทำไม่ได้” นายบรรยงกล่าวทิ้งท้าย

ปฏิรูปเกษตร-ปั้นเทคสตาร์ตอัพ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยต้องแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ ที่ผ่านมาเกษตรยังอยู่ในระดับการใช้เทคโนโลยีระดับเฉลี่ย 1.0 เป็นเกษตรรายย่อยครัวเรือน ยังไม่สามารถพัฒนาสู่เกษตรอุตสาหกรรมได้ ซึ่งรัฐบาลใหม่ควรมองถึงแนวทางในการพัฒนา “ระบบสหกรณ์” ซึ่งเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งตะวันตกและจีน โดยเฉพาะ จีน แต่ไทยมีสหกรณ์มากถึง 5,000 แห่ง แต่ 2 ใน 3 ไม่ประสบความสำเร็จ

หากสามารถปลดล็อกให้เกิดการพัฒนาสหกรณ์เป็นองค์กรหรือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สามารถนำพาเกษตรกรไทยให้เปลี่ยนผ่านสร้างการเติบโตได้ ทั้งยังมองถึงโอกาสการใช้ระบบสหกรณ์ผ่าน PPP หรือ Public Private Partnership เพื่อให้สหกรณ์สามารถที่จะเป็นผู้ลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างรายได้จากการกระจายน้ำการบริหารน้ำได้เพราะที่ผ่านมาปัญหาชลประทานถือเป็นปัญหาใหญ่ของภาคเกษตรปัญหาหนึ่งที่ไทยควรลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยคิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 10 คือ พื้นที่ 10 ไร่ ควรมีแหล่งน้ำ 1 ไร่ ตลอดจนต้องต่อยอดสร้างรายได้ให้กับภาคเกษตรไปถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์และส่งออก เชื่อว่าจะทำให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้นจาก 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐได้

นอกจากภาคเกษตรแล้ว นายศุภชัยมองว่า เรื่องการศึกษา การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญมาก ไทยควรพัฒนาคนเพื่อมุ่งสู่การเป็น Tech Hub ซึ่งเกี่ยวโยงกับสตาร์ตอัพจำนวนมาก ยกตัวอย่าง สิงคโปร์มีสตาร์ตอัพ 50,000 ราย ทั้ง ๆ ที่เป็นเกาะเล็ก ๆ หากไทยควรให้ทุนเด็กให้ลองผิดลองถูก เพื่อพัฒนา Tech Startup หากทำได้ 20,000 Tech Startup รายหนึ่งมีคน 50 คน จะทำให้ไทยมีคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดในการเป็นผู้ประกอบการมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม (Innovation Center) ของภูมิภาคได้ “การสร้างคนแม้ว่าจะเป็นนโยบายระยะยาวที่การเมืองอาจจะมองไม่เห็นผลแต่จำเป็นต้องทำทันที”

และหากจำเป็นในช่วงเวลานี้ไทยต้องมีมาตรการส่งเสริมการดึงดูดคนที่มีความสามารถ เช่น นักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียหรือประเทศอื่น ๆ เข้ามาอยู่ในประเทศ โดยให้อินเซ็นทีฟต่าง ๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศที่มีการพัฒนาสตาร์ตอัพไม่ว่าจะเป็นซิลิคอนวัลเลย์หรือลอนดอนที่มีการพัฒนาเรื่องฟินเทคต่างก็ทำเช่นกัน ประเทศเหล่านั้นอาจจะมีการดึงคนที่เป็นสตาร์ตอัพไปถึง 50% แต่ไทยดึงแค่สัดส่วน 30% หรือ 300,000 คน จากเป้าหมายที่จะปั้นสตาร์ตอัพ 1 ล้านคนก็พอ โดยเฉพาะเข้าไปเชื่อมโยงกับการที่ไทยมีนโยบายส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่นับเป็นยุทธศาสตร์ยิ่งใหญ่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

WHA แนะรัฐดึงลงทุน-เลิกตั้งรับ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อนาคตประเทศไทยหลังจากการเลือกตั้งเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางดีขึ้น ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีทำเลเป็นจุดศูนย์กลางในภูมิภาค มีจุดแข็งด้านสาธารณูปโภคและสิทธิประโยชน์ด้านภาษี ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องมาสานต่อเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง การสร้างความเติบโตให้ประเทศในด้านการลงทุนต้องใช้นโยบายส่งเสริมแบบ “โปรแอ็กทีฟ” เลิกตั้งรับ ต้องวางกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปโภคบริโภค และต้องไม่ใช่ดึงแค่บริษัท แต่ต้องดึงมาทั้งคลัสเตอร์ เริ่มจากดึง “แม่เหล็กในคลัสเตอร์” มาได้ ซัพพลายทั้งหมดจะตามมา ถ้าเทียบกับเวียดนามที่รัฐบาลมีความแอ็กทีฟเรื่องนี้มาก

“ตอนนี้มีลูกค้ารายใหญ่เข้ามา แต่ขอดีเลย์การตัดสินใจลงทุนเพื่อดูนโยบาย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ทำเป็นอันดับแรกคือ การสร้างความเชื่อมั่นว่ามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ จะสร้างสาธารณูปโภคที่แข็งแกร่งและสร้างการเชื่อมโยงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC การลงทุนเข้ามาจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่ต้องกระจายให้ได้ประโยชน์ทั่วถึงทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ กลาง หรือ เล็ก (SME) ห่วงว่ามีความสามารถในการแข่งขัน ปรับตัวสู้ได้หรือไม่ ต้องให้ความรู้ และที่สำคัญต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงมากในขณะนี้”

ดังนั้นรัฐบาลใหม่ไม่ว่ามาจากพรรคไหน อาชีพอะไร นั่นเป็นเพียงแบ็กกราวนด์ แต่เมื่อมาเป็น นายกรัฐมนตรี แปลว่า มีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ไม่ดูเฉพาะนโยบายพรรคตัวเอง ขอให้มององค์รวม ทำงานให้ประเทศ คือทีมงานเดียวกัน ต้องมีไดเร็กชั่นเดียวกัน และการวางนโยบายหาเสียงแข่งกันว่า ถ้าจะให้ก็ต้องพูดเรื่องหาเงินด้วย ว่าจะหามาอย่างไร”

ปัญหาเรื่องคน-แรงงานขาด

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปัญหาที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญคือ การสร้าง “โกรทเอ็นจิ้น” ตัวใหม่ที่จะมาช่วยผลักดันหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยยังไม่มีโปรดักต์อะไรที่ใช้ความสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่เกิดในประเทศ ใช้กระบวนการและทรัพยากรในประเทศและสามารถขายทั้งในประเทศและส่งออก ถ้ามีก็อาจจะอยู่ในระดับที่เล็กมากจนไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ “ตอนนี้เราต้องมองว่า ตัวเราจะไปอยู่ตรงจุดไหนในซัพพลายเชนของโลก และพยายามหาจุดนั้นให้เจอ เพื่อนำมาปรับให้เป็นนโยบาย สร้างเป็นโกรทเอ็นจิ้นตัวใหม่ของประเทศเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

แต่ถ้าจะให้โฟกัสที่อุตสาหกรรมยานยนต์ “ตนเป็นคนแรก ๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมทุกภาคส่วนของอุตสหกรรม ซึ่งวันนี้ผู้ซื้อได้รับส่งเสริมแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ก็ได้แล้ว แต่คนที่ยังไม่ได้ก็คือ ซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคงต้องเรียกร้องกันต่อไป รัฐบาลอาจจะบอกว่า ได้สนับสนุนผ่าน BOI แล้ว แต่จริง ๆ การสนับสนุนส่วนใหญ่ที่ผ่าน BOI มักจะเน้นไปที่เทคโนโลยีสูง นวัตกรรมสูง การลงทุนสูง ๆ ซึ่งตรงนั้นยากที่ซัพพลายเออร์คนไทยจะไปถึง ดังนั้นประโยชน์ส่วนใหญ่จึงได้กับนักลงทุน ตปท. ทำให้ทุกวันนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยน้อยลง ดังนั้นจึงอยากให้มีนโยบายที่สนับสนุนคนไทย

อีกส่วนเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาก็คือ “ปัญหาเรื่องคน” อยากให้ทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีน ที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ ซึ่งถึงตอนนั้นจะเกิดการแย่งงานกันแน่นอน “เอาแค่โรงงานละ 1,000 คน 5 โรงงานก็ราว ๆ 5,000 คน นี่ยังไม่รวมผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าที่มีอยู่ในบ้านเราที่ต้องขยายไลน์การผลิตเพิ่มเติม ปัญหานี้คือเรื่องเร่งด่วน เพราะแรงงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นประเภทพร้อมใช้ ไม่ใช่เอาไปแล้วต้องไปฝึกทักษะกันอีก”

ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงหรือมีความใกล้ชิดจะถูกดึงตัวไป ให้เงินเดือนสูงขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น ถึงเวลานั้น SMEs ไทยตัวเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำจะไปหาคนงานจากไหน กลายเป็นปัญหากระทบกันทั้งซัพพลายเชน ทางออกของเรื่องนี้จึงเป็นการบ้านที่รัฐบาลใหม่ต้องไปคิดให้ออก อาจจะต้องมองไปถึงอุตสาหกรรมโรบอติก เพียงแต่วันนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง “หรือยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับอุตสาหกรรมที่มาลงทุนบ้านเราที่ถูกเขียนไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีการจ้างแรงงานในประเทศ” น.ส.ชนาพรรณกล่าว

ใช้ไอทีช่วย SMEs แข่งขันได้

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC บริษัทให้บริการไอทีระดับแถวหน้าของประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลใหม่แก้ที่สุดก็คือ ปัญหาเรื่องความสามารถในการประกอบกิจการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) โดยมองว่า SMEs คือภาคที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ถ้า SMEs เติบโตแข็งแรง ประเทศก็จะโตไปด้วย เพราะรัฐจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น มีงบประมาณสำหรับบริหารจัดการและแก้ปัญหาเรื่องอื่น ๆ ได้มากขึ้น

ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันและขยายเติบโตได้ก็คือ การใช้ไอที การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กไม่มีกำลังที่จะทำได้เองเหมือนบริษัทใหญ่ “อีกปัจจัยที่สะท้อนว่า SMEs ในประเทศไทยไม่แข็งแรงก็คือ ประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่ทำงานต่ำกว่าศักยภาพของตัวเองเพราะ ประเทศไทยมี “งาน” ที่ต้องการใช้คนที่มีศักยภาพสูงในปริมาณน้อย แม้แต่ในวงการไอทีก็ตาม”

ดังนั้นเพื่อจะช่วยให้ SMEs มีความสามารถในการแข่งขันและแข็งแรงขึ้นได้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลต้องช่วยสองด้าน ด้านหนึ่งต้องทำให้ซอฟต์แวร์ราคาถูกลง และอีกด้านหนึ่งที่รัฐต้องช่วยสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการใช้ไอที เพราะหากมีซอฟต์แวร์-มีระบบที่ดีแล้ว แต่ไม่มีคนที่ใช้งานเป็น ไม่มีคนที่ดู Data เป็น ก็ไม่สามารถใช้ประโชน์จากซอฟต์แวร์ราคาแพงได้ “ไทยก็ไม่สามารถไปต่อได้”

รีสกิลแรงงานป้อนอุตฯอนาคต

ด้านนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KASIKORN BUSINESS-TECHNOLOGY GROUP (KBTG) มือปั้นสตาร์ตอัพรุ่นแรกของไทย กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะมีอนาคตได้ ต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

ในระยะสั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำเป็น PRIORITY ก็คือ การแก้หนี้ครัวเรือน แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ถัดจากนั้นก็คือ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ใน 4 ปีแรกรัฐบาลต้องสร้างรากฐานของประเทศขึ้นมาใหม่ แล้วใน 4 ปีถัดไปจะมีโอกาสสร้างอนาคต ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ “เศรษฐกิจประเทศไทยยังเป็นการรับจ้างใช้แรงงาน ยังทำผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจน้อย ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องรีสกิลคนทั้งประเทศเพื่อให้มีแรงงานป้อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ต้องมี ENABLING INFRASTRUCTURE เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานอย่างชาญฉลาด และทำงานอย่างมีความสุข และรัฐบาลต้องสนับสนุนสตาร์ตอัพ” นายเรืองโรจน์กล่าว


พร้อมกับบอกอีกว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้านี้ จะเป็นช่วงเวลาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ที่จะเติบโต “หากประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย ไทยจะตกขบวน”