สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ TDRI : ประเทศจะดี เริ่มที่ประชาธิปไตยและนโยบายสาธารณะ

สังคมไทยมองหาความหวังไม่เจอมานาน การเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังมาถึง จึงเป็นแสงแห่งความหวังเสี้ยวเล็ก ๆ ของหลาย ๆ คน ว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหวัง มีอนาคต

“ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) สร้างสรรค์โปรเจ็กต์ Future Thailand นำเสนอบทความจากงานวิจัยนโยบายสาธารณะของ TDRI ควบคู่ไปกับการชวนนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มามองอนาคตประเทศไทยระดมความคิดเห็น-วิสัยทัศน์ เพื่อออกแบบประเทศไทยร่วมกัน

บทสัมภาษณ์บุคคลลำดับที่สอง ไม่ใช่ใครอื่น ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยนั่นเอง

ดร.สมเกียรติเป็นหนึ่งคนที่มั่นใจว่าประเทศไทยมีความหวังและมีอนาคตแน่นอน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เพียงแต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามศักยภาพที่แท้จริงอย่างที่ควรจะเป็น

“ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่สิ้นหวังแน่นอน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหวัง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่เสียโอกาสเยอะมาก เราไม่ใช่ประเทศที่กำลังเข้าสู่วิกฤตเหมือนหลายประเทศ เหมือนศรีลังกา เหมือนปากีสถาน เหมือนลาว หรือเหมือนเมียนมา เราดีกว่านั้นเยอะ แต่เราไม่สามารถบรรลุศักยภาพของประเทศไทยที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจได้สูงกว่านี้ พัฒนาประเทศให้คนมีรายได้ได้มากกว่านี้ มีการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่านี้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในวิสัยที่ทำได้ทั้งสิ้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยภาวะทางการเมืองที่จะนำประเทศไทยไปสู่จุดมุ่งหมายดังกล่าวให้ได้”

ถามว่าประเทศจะมีอนาคตที่ดีได้อย่างไร ต้องมีนโยบายสาธารณะแบบไหนจึงจะทำให้ประเทศดีขึ้นได้

ดร.สมเกียรติบอกว่า อันดับแรก “ประเทศจะไปได้ดี ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยก่อน” เพื่อจะได้มีนโยบายสาธารณะที่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริง ๆ

แต่ ดร.สมเกียรติก็ชี้ข้อควรระวังในการออกนโยบายของพรรคการเมืองว่า ในการแข่งขันทางการเมือง พรรคการเมืองมักจะเอาใจประชาชนในระยะสั้น นำเสนอสิ่งที่เห็นผลและจับต้องได้ในระยะสั้น แข่งกันลด แลก แจก แถม ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่บางเรื่องต้องระมัดระวัง เพราะว่าอาจจะสร้างภาระทางการคลัง เป็นการนำเงินของอนาคตมาใช้ในวันนี้

“นโยบายสาธารณะที่ดีควรจะเป็นนโยบายที่เมื่อพรรคการเมืองสัญญาแล้วสามารถทำได้จริง ทั้งในทางการเมือง คือ ไม่ติดกฎหมายใด ๆ หรือติดกฎหมายก็ต้องแก้ไขได้ และเป็นไปได้ในทางการคลัง มีสตางค์มากพอที่จะมาทำ และไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติบอกว่า ไม่มีนโยบายอะไรที่ทำไม่ได้เลย เพราะถ้าจะทำจริง ๆ ก็คงทำได้ แต่ทำแล้วอาจจะมีต้นทุนมากมายที่ต้องจ่าย หรือถึงแม้ไม่ได้เป็นต้นทุนทางการเงินที่จับต้องได้ ไม่ใช่เป็นการนำทรัพยากรของลูกหลานมาให้คนรุ่นปัจจุบัน แต่ก็มีนโยบายอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ควรทำด้วย คือ นโยบายที่ทำให้เกิดการเสียวินัยของประชาชน และวินัยด้านการเงินของประเทศ

“ยกตัวอย่างเช่น การยกหนี้ต่าง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าทำกันขนานใหญ่ ต่อไปวัฒนธรรมการกู้หนี้ยืมสินแล้วชำระหนี้ตามเวลา ก็จะเสียความเชื่อถือไป ซึ่งถึงวันนั้นก็จะยากที่จะกลับมาเป็นแบบเดิม แล้วก็ยังมีนโยบายอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เป็นการใช้เงินใช้ทอง ไม่ได้เป็นการยกหนี้ยกสิน แต่เป็นการสร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนมาก ๆ เช่น นโยบายในการเปิดเสรีเรื่องสารเสพติดต่าง ๆ ถ้าทำโดยไม่ระมัดระวัง ไม่รอบคอบ ไม่มีกลไกเตรียมการที่ดีพอ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของ ดร.สมเกียรติ และคณะนักวิจัย TDRI คือ อยากให้พรรคการเมืองทบทวนนโยบายว่าเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริงหรือไม่ ทั้งในทางการคลังและในทางการเมือง เพราะนโยบายและคำสัญญาของพรรคการเมืองนั้นจะมีผลต่อเศรษฐกิจ และมีผลต่อการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยของประเทศไทย

ดร.สมเกียรติอธิบายว่า ถ้ารัฐบาลนำนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงกันไว้ไปทำ ประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดวิกฤตทางการคลัง เพราะมีเงินไม่พอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากพรรคการเมืองได้เป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติได้ เพราะต้องใช้เงินมากเกินไป

ประชาชนก็จะมีคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยว่าเป็นระบอบที่ดีจริงหรือไม่ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงไหม แล้วอาจจะทำให้ประเทศไทยถดถอยกลับไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีก

“พรรคการเมืองควรจะต้องทบทวนด้วยว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำ”

“นักการเมือง-พรรคการเมืองที่รับผิดชอบ ควรจะเสนอนโยบายที่เป็นไปได้จริง และเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ทำนโยบายเหล่านี้ออกมาให้สำเร็จให้ได้”

สำหรับนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงที่มาแรงที่สุด ดร.สมเกียรติแสดงความเห็นว่า แต่ละพรรคจะยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้น แล้วแข่งกันว่าใครจะมีตัวเลขที่ดึงดูดแรงงานได้มากกว่ากัน ซึ่งเป็นนโยบายที่มีความจำเป็น เพราะว่าที่ผ่านมานั้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยปรับขึ้นน้อยเกินไป จึงควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากขึ้น แต่ไม่ควรขึ้นแบบก้าวกระโดด

“การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างที่ควรจะเป็น ควรจะต้องปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไปทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยดูประสิทธิภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้น ดูค่าครองชีพแรงงานที่ครัวเรือนต้องจ่าย ให้พอกินพอใช้มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ใช่อั้นค่าจ้างขั้นต่ำไว้นาน ๆ อย่างที่เคยเป็นมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แล้วก็จะปล่อยให้มีการกระโดดครั้งใหญ่ ซึ่งธุรกิจเองก็จะรับมือไม่ไหว”

ดร.สมเกียรติอธิบายอีกว่า โดยหลักการแล้ว นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่ดีควรจะคาดหมายได้ว่าในแต่ละปีจะขึ้นตามสูตรอะไร เช่น ขึ้นตามเงินเฟ้อ ขึ้นตามผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้ประชาชนวางแผนชีวิตตัวเองได้ว่าจะมีรายได้เท่าไร จะส่งลูกเรียนได้หรือไม่ ธุรกิจวางแผนได้ว่าจะจ้างแรงงานมากน้อยขนาดไหน

“ถ้ามีสูตรที่ชัดเจน ทั้งแรงงานเองก็วางแผนได้ ธุรกิจก็วางแผนได้ ก็จะเป็นนโยบายที่ดี และไม่ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อโดยไม่จำเป็น”

นอกจากเห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (โดยต้องขึ้นอย่างถูกวิธี) แล้ว ดร.สมเกียรติยังเห็นด้วยกับนโยบายด้านการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสังคมให้มากขึ้น

“ประเทศไทยคงไม่สามารถมีสวัสดิการมากมายเหมือนสแกนดิเนเวียซึ่งเก็บภาษีในระดับสูง แต่ประเทศไทยก็ควรให้สวัสดิการแก่กลุ่มเปราะบางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กเล็ก หรือกลุ่มต่าง ๆ อีกมากมาย”

แต่ก็เน้นย้ำสิ่งที่พรรคการเมืองควรทำว่า พรรคการเมืองควรดูในภาพรวมว่านโยบายทั้งหมดของพรรคตนเองก่อให้เกิดภาระการคลังหรือไม่ ต้องใช้เงินเท่าไร และจะหาเงินมาจากไหน

“ซึ่งแปลว่าถึงจุดหนึ่งพรรคการเมืองต้องตัดสินใจแลกได้แลกเสีย ว่าเราไม่สามารถทำทุกเรื่องที่จะเอาใจคนทุกกลุ่มได้ เพราะฉะนั้น คงต้องจัดลำดับความสำคัญว่า ถ้ารัฐบาล ถ้าประเทศไทยมีเงินอยู่ขนาดนี้ จะเอานโยบายไหนมาทำก่อนทำหลังด้วยน้ำหนักเท่าไร ด้วยเงินในแต่ละเรื่องจำนวนเท่าไร ถ้าทำแบบนี้ได้ก็จะมีความเป็นไปได้ในทางการคลัง และทำให้ประชาชนได้นโยบายที่หาเสียงกันแล้วถูกนำไปปฏิบัติได้จริง ๆ”

เมื่อถามถึงทุนใหญ่กับการเมือง ดร.สมเกียรติแสดงความเห็นว่า เป็นที่ทราบกันว่าบริษัทใหญ่ ๆ เป็นสปอนเซอร์ของพรรคการเมือง และมีอิทธิพลทางการเมือง ดังนั้น ประเด็นที่คิดว่าประชาชนอยากทราบก็คือ แต่ละพรรคการเมืองได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจใหญ่ ๆ มากน้อยขนาดไหน จะส่งผลให้เมื่อแต่ละพรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วหันเหนโยบายไปเอาใจธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่าประชาชนหรือไม่

“ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็จะเดินหน้าได้ไม่ค่อยดี เพราะสิ่งที่นักการเมืองหาเสียงกับสิ่งที่ส่งมอบต่อประชาชนไม่ตรงกัน”

“เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่จะตั้งขึ้นมา ไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใดก็ตาม เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว เวลาจะกำหนดนโยบายต้องมีกระบวนการในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน แรงงาน ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม สตาร์ตอัพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ว่าแต่ละนโยบายที่จะเอามาปฏิบัตินั้น ส่งผลกระทบกับแต่ละกลุ่มอย่างไร แล้วเปิดฟังเสียงเพื่อไม่ให้เกิดความไม่สมดุลว่ารัฐบาลถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่ไป”

ถามว่านายกรัฐมนตรีแบบไหนที่จะเหมาะสมกับการบริหารประเทศไทยในช่วง 4 ปีต่อจากนี้

“สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่น พรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเยอะ ๆ ควรมีโอกาสได้เสนอตัวผู้แทนของพรรคตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี” ดร.สมเกียรติตอบทันที

“แน่นอนว่านอกจากเสียงข้างมากแล้ว ประชาชนคงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถ มีภาวะผู้นำในการนำประเทศไปสู่โลกใหม่ที่มีปัญหาท้าทายอยู่มากมาย ซึ่งแปลว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนที่ฟังคนเป็น เลือกใช้รัฐมนตรีที่เหมาะสม-มีความสามารถ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง”

ส่วนจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่า จะเป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ดร.สมเกียรติมองว่า “อายุคงไม่ได้เป็นประเด็นที่สำคัญ” เพราะประชาชนรู้อยู่แล้วว่าพรรคไหนมีใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น จะเป็นใคร-วัยไหน ก็แล้วแต่ประชาชนจะเลือก

“แต่ว่านอกจากการได้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว เพื่อให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ประชาชนรู้สึกว่ามันตอบสนองความต้องการได้จริง รัฐบาลใหม่ต้องมีเสถียรภาพพอสมควร ซึ่งแปลว่านายกรัฐมนตรีต้องมีภาวะผู้นำ สามารถประสานผลประโยชน์ในทางการเมืองกับผลประโยชน์สาธารณะได้ดีพอสมควร มีภาวะผู้นำในลักษณะที่ปลุกเร้าความรู้สึกดี ๆ ให้ประชาชนมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ไม่ใช่พูดแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยก เกิดความรู้สึกว่าเป็นพวกไหน-พวกไหน” ประธาน TDRI ส่งข้อเสนอแนะไปถึงว่าที่รัฐบาลใหม่