เลือกตั้ง 66 : บรรยง ชี้ผู้นำใหม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ฉากทัศน์รัฐบาล 2 ขั้ว

บรรยง พงษ์พานิช เป็นนักธุรกิจที่เอาใจใส่เรื่องสาธารณะ-เป็นบุคคลสาธารณะ ที่เกาะติดการเคลื่อนไหว ความเป็นไปของบ้านเมืองทุกมิติ

เป็นเศรษฐีเก่า ที่คลุกวงในชนชั้นนำ ด้วยบทสนทนาสาธารณะ-เปิดประเด็นก้าวหน้า ด้วยวัยวุฒิ-เขาเป็นหัวขบวนของคนรุ่นใหญ่ ที่คนรุ่นใหม่ให้ความนิยมปะทะสังสรรค์ทางความคิด

บรรยง พงษ์พานิช ไม่เพียงเป็นประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เขายังรั้งตำแหน่งในองค์กรเพื่อการพัฒนาธุรกิจ-สังคมหลายแห่ง

เคยเข้าไปในดงผู้ดีมีอำนาจสูงสุด จึงได้บทเรียนล้ำค่า ว่า “มีอำนาจเมื่อไร คนเลวจะเข้าไปห้อมล้อม ขณะที่คนดีจะถอยห่าง ถูกกีดกันออกไป…ทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ”

“ประชาชาติธุรกิจ” ตั้งประเด็นสนทนากับ “บรรยง” เกาะติดสัญญาประชาคม เสนอแนะนโยบายสาธารณะประเทศไทย ในการเลือกตั้ง 2566

ต้นฤดูเลือกตั้ง มีการประกาศแคมเปญที่ส่วนใหญ่เป็นการแจกเพิ่ม แจกต่อ แจกแน่นอน เป็นอันตรายต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่า “ประชานิยม” ทุกอันมีข้อดี และข้อเสีย อย่างแย่ที่สุดเลยมันก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า “D distribution” ก็คือ เอาทรัพย์สมบัติ เอาทรัพยากรกระจายไปให้ แต่ก็ขึ้นกับเอาไปให้ใคร และเอาไปให้ยังไง มีระยะเวลา เงื่อนไขยังไง ประชานิยมแบบนี้ขอใช้คำชาวบ้าน เรียกว่าแจกไปและสูญไป ได้มีแต่การบริโภคระยะสั้น เขาเรียกว่า “กินแล้วถ่าย”

กับอีกอันหนึ่ง ประชานิยมในระยะยาว มีส่วนเพิ่มผลิตภาพ ประสิทธิภาพ ทำให้คนที่ได้รับมีศักยภาพเพิ่มขึ้นตัวอย่าง ประชานิยม ที่เป็น “รัฐสวิสดิการ” ถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดตั้งแต่ในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้ ก็คือเรื่องของ “ประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

ประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากจะทำให้คนด้อยโอกาสเข้าถึงบริการสาธาณสุขมากขึ้นแล้ว ยังทำให้มีการเพิ่มผลิตภาพของพวกเข้าด้วย คือ พอสุขภาพดี ผลิตภาพ ผลิตผลก็เพิ่ม และในทางอ้อมประชาชนไม่ต้องห่วงต้องกังวลในเรื่องของสุขภาพของเขา เขาก็เอาทรัพยากรไปลงทุนอย่างอื่น เช่น การศึกษาให้ลูก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นประชานิยมที่ดี

แต่ “ประชานิยม” ที่บิดเบือนกลไกตลาด และใช้ไปมีแต่สิ้นเปลือง แถมในกระบวนการประชานิยมยังเปิดโอกาสให้มีการรั่วไหล ให้มีการคอร์รัปชั่น เช่น โครงการจำนำข้าว อันนั้นก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นประชานิยมที่ก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างภาระทางการคลังจำนวนมหาศาลในอนาคต

นโยบายจำนำ รับประกัน ควรจะมีต่อหรือไม่

ผมยกตัวอย่าง จำนำข้าว แต่เดิมมันเป็นเรื่องของการพยายามที่จะให้อุปทานของข้าวมันออกมาในจังหวะที่เหมาะสม ก็เลยเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเก็บข้าว ไม่ต้องขายข้าวเก็บไว้ก่อน และไปทำให้ขายในราคาที่เหมาะสมนอกฤดูกาล กระจายกันไปได้ ซึ่งอันนั้นเป็นเจตนาที่ดี

แต่พอไปจำนำในราคา 2 เท่าของราคาตลาดในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มันไม่เรียกว่าจำนำหรอก เวลารัฐรับจำนำในวงเงิน 2 เท่า ถึงเวลาไม่มีใครมาไถ่ถอนเอาคืน อันนั้นก็คือการที่รัฐบาลเข้าไปรับซื้อข้าว รับซื้อข้าวปั๊บ มันก็เลยรัฐบาลก็เท่ากับเข้าไปทำงานเองแทนกลไกตลาด

ซึ่งแน่นอนมันทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐ กฎระเบียบหยุมหยิม การรั่วไหลที่มีขึ้น และเจตนาเขาต้องการที่จะไปปั่นราคาข้าวในตลาดโลก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และพอทำไม่สำเร็จมันก็เลยเกิดความเสียหาย และเกิดการรั่วไหลจำนวนมาก

ที่เสียหายไป 5 แสนล้านบาท ต้องยอมรับว่าชาวนาได้ประโยชน์บ้าง ให้ผมประมาณแบบคร่าว ๆ ชาวนาได้ประโยชน์ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเขาก็ต้องชอบ แต่ 3 แสนล้านบาทที่เสียหายไป ถามว่าเกิดจากการทุจริตทั้ง 3 แสนล้านบาทหรือไม่ ก็ไม่ใช่ แต่เกิดจากการไร้ประสิทธิภาพประมาณกว่าครึ่ง ประมาณ 2 แสนล้านบาท ผมเชื่อว่าเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพ และที่เหลือมีกระบวนการโกงกิน คือ รัฐ ลงมาประกอบธุรกิจก็จะนำไปสู่การขาดทุน ซึ่งมีตัวอย่างเยอะแยะ

นโยบายที่อยากจะให้ทำทันที หลังเลือกตั้งปี 2566 คืออะไร

การแก้รัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ประเทศไดที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่ใช้ระบบเสรีนิยม และประเทศที่มีกลไกตรวจสอบ มีสังคมที่ไม่ยอมรับให้มีการคอร์รัปชั่น ถ้า 3 อย่างนี้บรรลุถึงพร้อมกัน มันจะทำให้เป็นประเทศที่ “มั่งคั่งและทั่วถึง”

หลักการง่ายๆ ในโลกโลกาภิวัฒน์ เราก็จะทำอย่างไรให้ปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผมขออนุญาตเสนอเลย ว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีจุดอ่อนมากมายที่ทำให้ประชาธิปไตยของเราแม้ว่าจะมีเลือกตั้ง แต่ยังห่างไกลดัชนี “Democracy Index”

เราเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าประชาธิปไตยได้รับการพัฒนาต่ำมาก จึงพิสูจน์ค่อนข้างชัดว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันใช้ไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญจึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

ผมก็อยากให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ และเราก็น่าเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้แทนที่เราจะได้ลงประชามติให้เกิดกระบวนการแก้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราก็โดนซากเดนเผด็จการยับยั้งไป อย่างที่ทราบกันดี ซึ่งเป็นเรื่องอัปยศมาก ผมขอประนามสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 137 ราย ที่ลงมติคัดค้านข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องของการขอประชามติที่จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ธุรกิจขนาดใหญ่ ควรจะมีพฤติกรรมแบบไหนที่จะทำให้การเมืองเดินไปข้างหน้า และไม่เกิดพฤติกรรมถอนทุน

คำตอบก็ง่ายมาก เพราะการเมืองเอื้อประโยชน์ให้ทุนได้ ทำให้ “ทุน” ถึงไปยุ่งกับ “การเมือง” การสร้างระบบนิเวศกฎกติกาให้มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง ถ้ากฎเปิดกว้าง กฎมีความเป็นธรรม การเมืองไม่มีประโยชน์กับทุนเลย

และคำตอบของผม วิธีไม่ให้ทุนธุรกิจยุ่งกับการเมือง ก็คือไปลดประโยชน์ที่ทุนจะได้จากการเมือง โดยการปล่อยให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งขออนุญาตใช้คำว่า เขาทำสำเร็จมาแล้วอย่างน้อย 40 ประเทศ ทำใมเราจะทำไม่ได้

แต่พฤติกรรมทุนไทย มักจะปรากฎเรื่องเงินทอน หรือเรื่องใต้โต๊ะ

ประเทศไทยเราเคยชินกับระบบอุปถัมภ์ เพราะฉะนั้นระบบที่การเมือง รัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจเอกชน เป็นระบบที่เรียกว่า Deal-based Economy ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาต้องใช้ระบบ “Rules-based Economy” คือ ใช้กฎกติกา ไม่ใช่คนเข้าไปยุ่ง ให้กฎมันทำงานของมัน ให้ตลาดมันทำงานของมัน

ผมยกตัวอย่าง การแข่งขันทางการค้า เราก็มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่ขออนุญาตใช้คำว่า ยังขาดความสมบูรณ์อยู่มาก ยังไม่สามารถลบ Monopoly หรือการเอื้อประโยชน์ และการเอื้อประโยชน์โดยใช้อำนาจรัฐ

การอุปถัมภ์ จะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งมวล คือ มันจะทำให้คนเลวอยากจะเข้าไปกุมอำนาจ เพราะกุมอำนาจมันได้ประโยชน์มาด้วย มันเอื้อประโยชน์ด้วย แต่ถ้าเราสร้างระบบนิเวศที่สามารถแก้ไขเรื่องพวกนี้ได้ ซึ่งไม่สามารถทำได้ชั่วข้ามคืนด้วยคนๆ เดียว แม้แต่พรรคการเมือง มันต้องมาจากความเข้าใจ และมาจากการดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องบนความเข้าอกเข้าใจ

ปัญหาคอร์รัปชั่น ข้อเสนอใหม่ที่รัฐบาลควรจะทำแบบเฉียบขาดทันที

หลักการใหญ่ในความเชื่อของผม สิ่งแรกที่ควรจะทำ คือ  ลดขนาดของรัฐลง ลดบทบาทของรัฐลง และลดอำนาจของรัฐลง เพราะทั้ง 3 อย่าง เป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชั่นทั้ง 3 อย่าง พอลดปั๊บยังไม่ต้องทำอะไรเลยคอร์รัปชั่นลดแล้วด้วยตัวของมันเอง และนอกจากลดขนาดแล้ว จะต้องมีกลไกเข้าไปตรวจสอบ ไม่ให้ขนาดถึงแม้จะเล็กลง แต่ก็มีรั่วไหลได้ เพราะอันนั้นจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายสูงขึ้น

ผมก็อยากได้รัฐบาลที่มีแนวคิดเรื่องพวกนี้ชัดเจน ไม่ใช่หยิบแต่เรื่องประชานิยมปลีกย่อยเพื่อมาหาเสียง

ถ้าพรรคไหนชูธงแก้ไขรัฐธรรมนูญ และลดอำนาจรัฐ คุณบรรยง จะเลือกใช่หรือไม่

ผมเฝ้าติดตามนโยบายต่าง ๆ อยู่ ถ้ามีนโยบายที่ตรงกับความเชื่อของผม พรรคไหนที่มีนโยบายเหล่านี้มากกว่า ผมก็คงจะเลือกพรรคนั้น

ถ้าต้องปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศใหม่ ต้องทำอะไรอันดับแรก

แก้รัฐธรรมนูญ อันนี้ชัดเจนที่สุด ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผมขออนุญาตเท้าความถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งหลายฝ่ายบอกว่าดีที่สุด แต่บางคนบอกว่าไม่ดีจริง รัฐธรรมนูญ 2540 มีหลักสำคัญอยู่ 3 หลัก หลักที่ 1. คือ ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ทำให้เกิดกระบวนการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง วิธีการต่างๆ เพื่อนโยบายไปปฏิบัติได้จริง

ตรงกันข้ามระบบ buffet cabinet ในช่วงที่เรามีประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือประชาธิปไตยเลือกตั้ง ก็เป็นระบบที่ ไม่ให้พรรคเข้มแข็ง ก็ทำให้นโยบายลสู่การปฏิบัติ ได้ยาก แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ส่งเสริมให้มีพรรคที่เข้มแข็งก็เกิดจริง

หลักที่ 2. คือ สร้างกลไกคานอำนาจต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เพื่อที่จะมาคุมรัฐบาลที่เข้มแข็ง เป็นแนวคิดที่ดีมาก

หลักที่ 3. บังคับให้มีการกระจายอำนาจและทรัพยากร เกิดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

แต่ข้อที่บกพร่องมากที่สุด ก็คือ มีกระบวนการเข้าไปคุมอำนาจองค์กรอิสระผ่านวุฒิสมาชิกที่เราเรียกว่า “สภาผัวเมีย”  ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมันไปคุมองค์กรอิสระได้ มันก็เลยเกิดบิดเบือน มันก็เลยเกิด อำนาจรวมศูนย์ใหม่ มันก็เลยทำให้บางฝ่ายรับไม่ได้ทนไม่ได้ ก่อหวอดจนก่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมา 2 ครั้ง

แต่คำถามผม คือ เราควรลืมหลักการที่ว่าหรือเปล่า หรือควรจะดึงกลับมาใหม่ เพียงแต่ไปแก้ไขจุดอ่อนของมันสีย ผมก็ยังยึดแนวนี้ในความเชื่อของผม

ผู้นำ-นายกรัฐมนตรี แบบไหนที่จะสอดคล้องกับประเทศไทยในปี 2566-2570

ผู้นำที่ดี ก็ต้องเป็นผู้นำที่ต้องเปิดกว้าง รับฟัง กระจายอำนาจตั้งแต่ระดับบน รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพ แต่ที่สำคัญที่สุดจะต้องเป็นผู้นำที่ไม่ยอมให้ทุนสามานย์ครอบงำ ผมใช้คำว่า “ทุนสามานย์” คือ ทุนดีก็มีนะ แต่พอมีระบบทุนนิม ที่เรียกว่า “Crony Capitalism” ซึ่งประเทศไทยเป็นอย่างนั้นมาโดยตลอด อันนั้นระบบทุนนิยมที่สร้างขึ้นเผื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพรรคพวก ซึ่งรัฐบาลหลายรัฐบาลเป็นระบบนี้ชัดเจน ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง

ผู้นำจะต้องเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ต้องยอมที่จะให้กลไกต่างๆ มันเดินไปมันพัฒนา และมุ่งเน้นที่จะช่วยพัฒนาโดยไม่หวังผลระยะสั้นอย่างเดียว อันนี้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

กรณีเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ประเทศจะเป็นแบบไหน

ผมจะไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่จากประสบการณ์เราจะเห็นเลยว่า ประเด็นแรก ประชานิยมระยะสั้น มันก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว ดังนั้นการคิดนโยบายเพื่อการชนะเลือกตั้งอย่างเดียวมันอันตราย และประเด็นที่สอง ผมไม่เชื่อว่าการบริหารทางไกลจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันจะทำให้ข้อมูลข่าวสารในเชิงลึกมันไม่ครบถ้วน คนที่วิ่งนำข้อมูลไปให้ มันก็จะเป็นพวกหวังผลประโยชน์ทั้งนั้น

กรณีพรรค 2 ป. กลับมาเป็นรัฐบาล ประเทศจะเป็นแบบไหน

ถ้าคุณพูดถึงรัฐบาลทหาร ทหารโดยรวมจากประสบการณ์ของผมวัฒนธรรมอำนาจทางดิ่งไม่สามารถบริหารในแง่ของการพัฒนาความเจริญอย่างทั่วถึงได้ เพราะว่า วัฒนธรรมทางดิ่ง หลักการมันคือ อำนาจรวมศูนย์ และพออำนาจรวมศูนย์ปั๊บ ศักยภาพก็เป็นไปตามคนกุมอำนาจเท่านั้น

วัฒนธรรมทหาร เขาฟังผู้บังคับบัญชาคนเดียว คนอื่นห้ามคิดเลยด้วยซ้ำ รู้จักวัฒนธรรมธำรงวินัย คือ ระบบซ่อม ชาวบ้านเรียกว่าซ่อม เขาใช้ในระบบทหาร และท่านรองนายกรัฐมนตรี คนที่เป็นหัวหน้าพรรคแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ก็เคยพูดไว้ตลอดว่าเป็นเรื่องจำเป็นมาก ถึงแม้น้องจะตายไป 2-3 คน ก็จะต้องมีวัฒนธรรมธำรงวินัย และประโยชน์ของธำรงวินัย คือ ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำตามคำสั่งโดยไม่ต้องคิดแม้แต่วินาทีเดียว ซึ่งอันนั้นไม่ใช่ระบบที่พัฒนาประเทศ มันเป็นระบบทหารโบราณ ไม่ใช่ทหารสมัยใหม่

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็บริหารประเทศอย่างขาดความรู้ความเข้าใจ และใช้วัฒนธรรม ผมขออนุญาตใช้คำว่า วัฒนธรรมอำนาจทางดิ่ง คือ วัฒนธรรมทหาร คือ ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่คน ๆ เดียว หรือกลุ่มเล็ก ๆ

ผมไม่ได้ว่าท่านดี ไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง แต่ม่มีทางที่คน ๆ เดียวจะรู้ทุกเรื่องในโลกที่ซับซ้อนมากมายในปัจจุบัน

ถ้ารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง จะปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องทำอย่างไร

เครื่องมือที่จะเป็นทางออกจากกับดักเก่าแก่และกร่อนพลังของประเทศ คือ ผมมีความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน ถ้าประชาชนมีเจตนารมณ์ร่วมกัน มีความรู้ความเข้าใจ กลไกต่างๆ จะถูกบังคับให้เป็นไปตามนั้น ความเชื่อของผมการปฏิรูปจะสำเร็จได้ ต้องมีประเด็นที่สำคัญ เรื่องของมาตรฐานความรู้การศึกษา

และการให้ความรู้ประชาสังคม ผ่านกระบวนการสื่อ หน่วยงานทางวิชาการ Think Thank และ NGO ถ้ากลุ่มคนเหล่านี้มีความเข้าใจลึกซึ้ง และผลักดันให้รัฐบาลเกิดการปฏิรูป รัฐบาลที่ไม่ทำก็จะอยู่ไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับเลือก

สอดคล้องกับแนวทางที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมมือกับสถาบันปัญญาชนสาธารณะอย่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ในการนำเสนอ-วิเคราะห์นโยบายที่ควรมี-ควรเป็นเข็มทิศประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เปลี่ยนประเทศไทย 2566

เล่าประสบการณ์การทำงาน กับรัฐบาลประยุทธ์

ต้องขออนุญาตเท้าความ ที่ผมตัดสินใจเข้าไปร่วมทำงานทั้ง ๆ ที่ ไม่เคยชื่นชมกระบวนการรัฐประหาร ปฏิวัติ และเผด็จการเลย เพราะในกระบวนการปฎิรูปประเทศไทยมันมีกระบวนการหลายอย่างที่ในยามการเมืองที่ยังพัฒนาไม่สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มันทำไม่ได้

เราก็เกิดความหวังว่า มันน่าจะมีการปฏิรูปได้ก่อนในกระบวนการที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มันก็เลยมีกลุ่มคนที่เชื่อว่ามันสามารถที่จะทำได้ แม้ในภาวะที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทำได้บ้าง แต่ต้องรีบทำ รีบทำให้จบ รีบถอย

ผมขออนุญาตเอ่ยถึงชื่อหลายท่านที่เข้าไปร่วมกันทำ อย่าง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ดร.วิรไท สันติประภพ คุณรพี สุจริตกุล พวกนี้ก็ทำงานกันอย่างหนัก เพื่อที่จะทำให้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ประสบผลสำเร็จ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจไม่มีความคืบหน้า

การต่อต้านคอร์รัปชั่นมีคืบหน้าน้อยมาก มีกระบวนการบ้าง แต่ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่บอกว่าคอร์รัปชั่นลด เป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง เรื่องของการปฏิรูปกฎหมายก็ทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทํธิภาพเต็มที่

เพราะกลไกพอเป็นเผด็จการ และมีอำนาจเด็ดขาด สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาเลย ก็คือ จะเกิดผู้ที่หวังผลประโยชน์เข้าไปประชิด แล้วก็ห้อมล้อม อำนาจมันเหมือนสุภาษิตจีน บอกว่ามีอำนาจเมื่อไร คนเลวจะเข้าไปห้อมล้อม ขณะที่คนดีจะถอยห่าง ถูกกีดกันออกไป มันจะเกิดในลักษณะนี้ เลยทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ