กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล : รัฐบาลใหม่ต้องสร้างความหวังให้ประชาชน

ขณะที่เราขยับเข้าใกล้การเลือกตั้งเข้าอีกนิด โปรเจ็กต์ Future Thailand ที่ประชาชาติธุรกิจชวนนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มามองอนาคตประเทศไทย ระดมความคิดเห็น-วิสัยทัศน์ ร่วมออกแบบประเทศไทย ดำเนินมาถึงบุคคลลำดับที่ 4

กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล มือปั้นสตาร์ตอัพรุ่นแรกของไทย ซึ่งปัจจุบันนั่งตำแหน่ง ประธานกลุ่ม (Group Chairman) ของ KASIKORN Business-Technology Group (KBTG) คือบุคคลนั้นที่เราชวนมาสนทนาว่าด้วยอนาคตของประเทศไทย

กระทิงบอกความเห็นของเขาว่า การที่ประเทศไทยจะมีอนาคตได้ อันดับแรกต้องขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย

เรื่องเศรษฐกิจ กระทิงชี้ความจริงว่า เศรษฐกิจหลายอย่างของประเทศไทยยังเป็นเศรษฐกิจแบบจับกังอยู่ คือเป็นการรับจ้างทำงาน ใช้แรงงาน ยังทำกิจการ-ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อย

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นและควรจะทำคือ ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ new S-curve ของโลก และที่สำคัญ ต้องรีสกิลคนทั้งประเทศ เพื่อให้มีแรงงานป้อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านั้น และอีกอย่างคือ ประเทศไทยต้องมีระบบที่เรียกว่า enabling infrastructure เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสให้คนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานอย่างชาญฉลาด และทำงานอย่างมีความสุข

Advertisment

“พอมี enabling infrastructure ที่ดีแล้ว ประเทศไทยมีอนาคต เศรษฐกิจตอบโจทย์ อุตสาหกรรมตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คนได้ทำงานที่มีอนาคต คนได้ค่าจ้างแรงงานที่ดี มันก็จะเป็นวงจร จะดูดทาเลนต์มาทำงานที่ประเทศไทย ดูดบริษัทมาที่ประเทศไทย เราก็จะสามารถตั้งตัวเองเป็นฮับได้”

กระทิงแสดงความเห็นเรื่องดิจิทัลฮับว่า ดิจิทัลฮับไม่มีทางเกิดเลย ถ้าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยยังไม่ดี ไทยยังไม่มีแรงงานด้านดิจิทัลเพียงพอ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ และไทยยังขาดการจูงใจให้บริษัทใหญ่ ๆ มาตั้งสำนักงานใหญ่ หรือตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา

Advertisment

อีกเรื่องที่กระทิงชี้ว่ารัฐบาลควรทำ คือ การสนับสนุนสตาร์ตอัพ เป็นการสนับสนุนนักรบรุ่นใหม่ทางเศรษฐกิจที่เริ่มจากตัวเล็ก ๆ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่เวฟที่สองของสตาร์ตอัพ ขณะที่สตาร์ตอัพจากเวฟแรกหลายบริษัทกำลังจะ exit โดยส่วนหนึ่งจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

“เป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่รัฐบาลใหม่จะสนับสนุนเวฟที่สอง-ทศวรรษที่สองของสตาร์ตอัพไทยให้ขยับไปข้างหน้า”

กระทิงชี้ว่าการสนับสนุนสตาร์ตอัพสามารถทำได้หลายเรื่องหลายวิธี อย่างเช่น การให้ incentive (แรงจูงใจ) การใช้บริการและซื้อสินค้าของสตาร์ตอัพไทยในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ การสร้างสตาร์ตอัพมาร์เก็ตเพลซ เป็นต้น

เขายกตัวอย่างประเทศที่เป็นโมเดลที่ดีในเรื่องการสร้างสตาร์ตอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ สิงคโปร์ ที่ประกาศนโยบายเรื่องสตาร์ตอัพตั้งแต่ 10 กว่าถึง 20 ปีที่แล้ว แล้วโฟกัสทำอย่างเต็มที่จนประสบความสำเร็จ สิงคโปร์กลายเป็นฮับของสตาร์ตอัพ เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสตาร์ตอัพจำนวนมากที่เกิดจากสิงคโปร์ เป็นการผลักดันจีดีพีของประเทศ และเกิดการจ้างงานจำนวนมาก

“ถ้าเราสร้างและผลักดันสตาร์ตอัพเวฟที่สองได้สำเร็จ ประเทศไทยจะไม่ตกขบวน”

กระทิงขยับประเด็นไปสู่เรื่องการแข่งขันว่า ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของเศรษฐกิจโลก เป็น “Future region of the world” จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ที่จะเติบโต ซึ่ง “ถ้าเราไม่ทำอะไร เราอาจตกขบวน”

เขาชี้ว่า สิ่งที่ไทยต้องทำเพื่อที่จะ catch up หรือตามประเทศเพื่อนบ้านให้ทัน ไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน ก็คือ ทั้งหมดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ คือ การสร้าง new S-curve การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ และการสนับสนุนตาร์ตอัพ การมีแพลตฟอร์มสตาร์ตอัพของไทยที่ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังหมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย

“อีคอมเมิร์ซเป็นแพลตฟอร์มต่างชาติทั้งหมด จะให้มันเกิดแบบนั้นกับทุกเซ็กเตอร์ไม่ได้ อย่างเซ็กเตอร์การท่องเที่ยว เราทำงาน เราสร้างโรงแรม สร้างบริการแทบตาย แต่สุดท้ายแพลตฟอร์ม OTA ระดับโลกหรือระดับภูมิภาคเอาไปหมด แพลตฟอร์มมันสูบผลกำไรของอุตสาหกรรมไปที่นั่น ถ้ามันเกิดกับทุกเซ็กเตอร์ ประเทศไทยเราจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใช้แรงงาน เป็นจับกังทั้งหมด ในขณะที่คนอื่นมาต่อยอด มาเอาคุณค่าออกไปจากอุตสาหกรรมไป ให้มันเป็นแบบนั้นไม่ได้”

นอกจากที่ว่ามาทั้งหมดนี้ นโยบายของรัฐบาลที่กระทิงอยากเห็น คือ อยากเห็นการปฏิวัติระบบการศึกษา เพื่อให้คนไทยอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีและ AI เข้ามามีบทบาทและปฏิวัติ-ดิสรัปต์ระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ โดยต้องปฏิวัติ เริ่มตั้งแต่ระบบ curriculum (หลักสูตร) ต้องใช้หลักสูตรและตัววัดผลของการศึกษาไทยที่ถูกต้องก่อน แล้วไปต่อที่เรื่องวิชั่น ว่าแรงงานที่ประเทศเราอยากสร้างเป็นอย่างไร

กระทิงบอกว่า นโยบายการศึกษาต้องปฏิรูปโดยให้คนและ AI เป็นศูนย์กลาง สอน technology literacy ให้คนรู้เท่าทันเทคโนโลยี การสอน-การสร้างคนในตอนนี้ต้องไปถึงการสอนให้คนคิดร่วมกันกับ AI ซึ่งจะเพิ่มขีดศักยภาพของคนได้อีกมหาศาล และต้องแก้นโยบายที่ยกระดับทักษะของครู ใช้เทคโนโลยีเป็นแกนกลางเพิ่มศักยภาพของครู

และอีกประโยชน์ที่สำคัญของเทคโนโลยี คือ เทคโนโลยีทำให้เกิด inclusion ทางการศึกษา ทำให้คนเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การให้ครูที่เก่งเฉพาะทางด้านใดด้านหนึ่งสอนเด็กทั่วประเทศผ่านจอ แล้วเปลี่ยนบทบาทครูในชั้นเรียนเป็น facilitator ซึ่งตัวชี้วัดของครูก็ต้องเปลี่ยนด้วย

นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่กระทิงบอกว่า รัฐบาลควรทำคือ การปลดล็อกนักเรียนทุนทั้งประเทศให้ไปทำงานกับภาคเอกชนได้ แล้วประเทศจะมีทรัพยากรบุคคลเก่ง ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มอีกมาก ส่วนในด้านการวิจัย ควรทำวิจัยโดยเอาอุตสาหกรรม เอาพาณิชย์เป็นตัวตั้ง ทำวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน แล้วแปลงออกมาเป็น commercial product ให้ได้จริง ๆ

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นคือนโยบายที่ต้องใช้เวลาในระยะยาว แต่ในระยะสั้น สิ่งที่กระทิงมองว่ารัฐบาลต้องทำเป็น priority คือ การแก้หนี้ครัวเรือน แก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก และถัดจากนั้นคือการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นที่เป็นเหมือนกาฝากตัวใหญ่ของประเทศไทย

“เศรษฐกิจคนตัวเล็กสำคัญมาก ต้องทำให้คนรากหญ้าลืมตาอ้าปากได้ก่อน อันนี้คือสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าคุณไม่แก้สิ่งเหล่านี้ เรื่องอื่นมันไม่เกิดขึ้นแน่นอน คือถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนก็จะไม่มองเรื่องอื่น ๆ”

“ผมว่าภารกิจของรัฐบาลใหม่ใน 4 ปีข้างหน้า คือ การ rebuild foundation ของประเทศนี้ แล้วผมว่าคนไทยจะให้รางวัลคุณใน 4 ปีข้างหน้า ว่าคราวนี้คุณมา build the future แพลนของคุณ 8 ปีข้างหน้าภายใน 2030 คือ rebuild the foundation และ building the future นั่นคือสิ่งที่คุณควรจะทำ อย่าไปใช้วาทกรรมเยอะ สร้างฮับสร้างอะไรทั้งหลาย มันไม่เกิดหรอก ถ้าคุณไม่มี foundation ที่แข็งแรงและที่สำคัญ”

และสิ่งสำคัญมากที่กระทิงฝากถึงว่าที่รัฐบาล คือ “รัฐบาลมีหน้าที่หนึ่งซึ่งไม่ว่าใครก็ทำไม่ได้ ณ ตอนนี้ คือ การให้ความหวังกับผู้คน ผมว่าความหวังของประเทศไทยเริ่มริบหรี่ลงไปเรื่อย ๆ ทุกคนถามผมว่าประเทศไทยยังมีอนาคตอีกหรือ ประเทศไทยยังไปต่อได้อีกหรือ ผมอยากบอกว่า ประเทศไทยไปต่อได้ ประเทศไทยยังไม่ได้ตกขบวน แต่ window of opportunity มันปิดลงเรื่อย ๆ และรถไฟใกล้จะออกจากชานชาลาแล้ว”