4 บิ๊กธุรกิจ ฝากถึงรัฐบาลใหม่ หนุนการศึกษา-ลงทุน-ท่องเที่ยว-แรงงาน

“ศุภชัย” ชี้ไทยต้องใช้ Technology ปฏิรูปการศึกษา “วิกรม” ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์การลงทุนเทียบอินโดนีเชีย ลาว ดูไบ “พจน์” เร่งเจรจา FTA กับทุกประเทศ “ชฎาทิพ” ดึงดูดการท่องเที่ยว รักษาความเป็น Top of mind of Tourism ช็อปปิ้งก็จะกลับมา

วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างงานเวทีตอบข้อซักถาม “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ภาคธุรกิจอยากเห็นในนโยบายพรรคการเมือง สำหรับ Digital Transformation และการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ว่า

ปัจจุบันจะพบว่าระดับการแข่งขันเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ระดับ 40 ของโลก โครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารของไทยอยู่ระดับที่ 15 ของโลก

ดังนั้น เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศในอีก 10-15 ปีข้างหน้า เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง จึงนำพาไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของไทยจาก 2.0 เป็น 5.0 จากครูเป็นศูนย์กลางของความรู้ ปรับให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ต้องเริ่มให้เด็กมีความสนใจในการเรียนรู้การสื่อสารและการศึกษาให้มากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาจจะต้องมีการวัดกันที่ความสามารถในการใช้ Technology เพื่อสร้างการเติบโตให้กับประเทศ รับมือกับ Digital Transformation พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยในโลกยุคดิจิทัล ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาไทยให้ทันโลก โดยเรื่องที่จะผลักดัน เช่น การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเก่งและความดี เรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย โดยการปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) ด้วยการนำเทคโนโลยี Digital มาใช้ เป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

นอกจากนั้น เพื่อให้เร่งการเติบโตของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค Digital ควรที่จะ 1) ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย รวมถึง 2) การพัฒนา Future Workforce โดยผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเชิงทักษะ และสนับสนุนให้มีการ Learning by Doing 3) การสร้างความแข็งแกร่งทางการเกษตร เพื่อมุ่งสู่การเป็น Food Security Hub จะต้องทำ Digital Transformation ด้านการเกษตร

4) สร้างให้เกิด Digital Transformation ในภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) อาทิ การสร้าง Soft Power สินค้าไทยที่สามารถส่งขายได้ทั่วโลก และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ 5) ปฏิรูปภาครัฐสู่ดิจิทัล โดยต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาครัฐ เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพกลับสู่ระบบราชการ

เสนอสิทธิประโยชน์เพิ่มการลงทุน

นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในประเด็น “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ” ว่า ปัจจุบันในนิคมอมตะมีโรงงานทั้งสิ้น 1,400 โรงงาน มีบริษัทจากญี่ปุ่น 700 โรงงาน จากจีน 200 โรงงาน มีแรงงานรวม 400,000 คน มีพื้นที่ที่ใช้ประกอบกิจการประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร หรือ 60,000 ไร่ โดยอมตะเรามีพื้นที่ทั้งหมด 500 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอนาคตจะมีการพัฒนาในการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น

“การบริหารงานในอมตะ จะไม่มีการปล่อยของเสียออกสู่ระบบ โดยในนิคมมีบริษัทที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 12 เดือน และหากประเทศไทยจะเข้าสู่การแข่งขันจะต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้เกิดศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ จะเห็นว่าการเติบโตจีดีพีของไทยหากเทียบกับหลายประเทศปรับตัวลดลง อย่างจีนเมื่อ 30 ปี รายได้ต่อคนเฉลี่ย 200 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 11,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งนำไปสู่การเติบโตและเน้นภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของแรงงานและอีกหลายปัจจัย”

อย่างไรก็ดี เพื่อไปสู่การแข่งขัน ประเทศไทยจะต้องมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น อย่างอินโดนีเซียมีสิทธิประโยชน์ 22 ปี สปป.ลาว 21 ปี ดูไบตลอดชีพ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ควรต้องมีการ 1) ยกระดับผู้ประกอบการไทยให้มีรายได้ที่สูงขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านและสากล พร้อมกับ 2) ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม High Technology และนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูง และไม่มีมลภาวะ

3) ส่งเสริมสิทธิประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมกับสากลเพื่อเป็นเครื่องมือในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 4) ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Hub ที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคระดับสูงและความสะดวกในการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจทุกประเภท

สำหรับประเด็นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปยังต่างประเทศ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะตลาดประเทศไทยมีจำกัด การขยายโอกาสทางการค้าของไทยคือการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ   โดยมีข้อเสนอเพื่อให้เกิดมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านข้อมูล มาตรการสนับสนุนทางการเงิน มาตรการทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เช่น สนับสนุนเงินกู้แก่ผู้ประกอบการไทยในอัตราดอกเบี้ยที่มีความทัดเทียมกับต่างประเทศที่ได้สนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศของตน และสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาโครงการด้านการส่งเสริมการลงทุน ดังเช่นที่ต่างประเทศสนับสนุนผู้ประกอบการของตน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ห่วงตัวเลขเกิดใหม่ลด ไทยสู่สังคมสูงวัย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และอาหารทะเลสำเร็จรูป แบรนด์ ซูเปอร์ซี เชฟ กล่าวในหัวข้อ “การค้าระหว่างประเทศ และการพัฒนาแรงงานของไทย” ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศอาศัยภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน และแม้ประเทศไทยจะเผชิญปัญหาโควิด-19 แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจยังไปในทิศทางที่ดี และการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดการเสียเปรียบทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ

โดยประเทศไทยควรเร่งรัดการเจรจา FTA ให้มากขึ้นและต้องมีการปลดล็อกปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินงานต่อได้ โดยเฉพาะการเจรจา 6 ฉบับที่เหลือ และรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นอย่าให้มีความล่าช้า และปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่างที่จะเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ พร้อมทั้งต้องการให้มีการรับฟังของภาคเอกชนด้วย

“ไทยต้องพร้อมและสามารถเปิด FTA ได้กับทุกประเทศ โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด รวมทั้งประเทศไทยต้องปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ของการทำ FTA ในอนาคต รวมถึงเปรียบเทียบ FTA กับประเทศคู่แข่งขันทางการค้าของไทย เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างและจุดเด่นของประเทศไทย”

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การขนส่ง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ซึ่งควรทำให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ฝืนและสวนทางคู่แข่งทางการค้าของประเทศไทย

สำหรับเรื่องแรงงาน ประเทศไทยกำลังพบกับความท้าทาย คือขาดแคลนแรงงานและผลิตภาพแรงงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมาการตายของประชากรมีประมาณ 5.9 แสนคน คนการเกิดใหม่ 5 แสนคน เมื่อดูตัวเลขแล้วการเกิดใหม่กับการเสียชีวิตต่างกันประมาณ 90,000 คน และประเทศไทยกำลังเข้าสู่ผู้สูงอายุและในปี 2566 ก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงหากไม่มีการเพิ่มประชากร ดังนั้น รัฐบาลที่เข้ามาควรที่จะมีนโยบายในเรื่องนี้

โดยทางภาคเอกชนมีความเห็นเพื่อรับมือ ดังนี้ การปรับอัตราตอบแทนค่าจ้างหรือค่าจ้างขั้นต่ำ โดยปรับอัตราค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยใช้กลไกการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) และใช้หลักเกณฑ์ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างตามมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

สำหรับประเด็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย ควรกำหนดทิศทางของประเทศไทยในการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจ เพื่อผลิตกำลังคนในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อจัดทำข้อมูลฐานแรงงานของประเทศไทย (Big Data) และสนับสนุนนโยบายกองทุนเพื่อการปรับปรุงเครื่องจักรและองค์ความรู้ (Knowhow)

สำหรับผู้ประกอบการ การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย ควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนงานนำเข้าแรงงานต่างด้าวระยะยาว พร้อมทั้ง จัดระเบียบการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวระบบใหม่ผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน (OSS) และลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการคุ้มครองสิทธิ การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรเพิ่มศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมทั้งขยายมาตรฐานฝีมือแรงงาน และอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ และสอดรับกับอัตราตอบแทนค่าจ้าง และส่งเสริมนโยบาย “คูปองฝึกทักษะ Re-Skill & Up-Skill” เพื่อสามารถนำไปรับการฝึกทักษะที่ต้องการได้จากผู้ให้บริการฝึกอบรมที่มีคุณภาพ

ตั้ง Team Thailand ดันท่องเที่ยว

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ กล่าวในหัวข้อ “การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ” ว่า การท่องเที่ยวเมื่อได้รับผลกระทบไม่ใช่เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาคธุรกิจอื่นด้วย เช่น ค้าปลีก อสังหาฯ ล่าสุดได้มีการปรับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศไทยในปี 2566 จากเดิม 25 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน ขณะที่ก่อนโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงโอกาสการท่องเที่ยวของประเทศที่เติบโตขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว เราต้องสร้างแรงดึงดูด เรามีอะไร วัฒนธรรม ภูมิรัฐศาสตร์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่แข็งแรง คนไทยและประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำการท่องเที่ยวของโลก การรักษาความเป็น Top of mind of Tourism เป็นสิ่งที่ยาก ประเทศไทยต้องจัดทำนโยบายเชิงรุกที่ชัดเจนและลงรายละเอียด โดยต่อยอดจากความสำเร็จ

โดยมีแผนงาน 3 หัวข้อหลักคือ 1.Refresh Branding ให้มีจุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนขึ้น สร้างเรื่องราวและประสบการณ์ใหม่ ๆ สื่อสารไปถึงทั่วโลก ซึ่งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นหาจุดแข็ง และเรื่องราวใหม่ ๆ สร้างภาพประเทศไทย มีความโดดเด่นและแตกต่าง ที่ไม่ได้พูดแค่เรื่อง Thainess อย่างเดียว สร้างกลยุทธ์การสื่อสารที่มีเป้าหมายและแนวทางเดียวกันในทุกสื่อ การตั้งทีมคณะทำงานที่เป็นองค์รวม Team Thailand รวมถึงสร้างเป้าหมายและ Action Plan ในทิศทางเดียวกัน พุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน ใช้งบประมาณอย่างไม่ซ้ำซ้อน ไม่แบ่งแยกกันทำ และทำให้การใช้งบประมาณรัฐเกิดความคุ้มค่าที่สุด

2.กลยุทธ์สร้างความสำเร็จ เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวอย่างทวีคูณสู่ความยั่งยืน ระยะสั้น Hub of Art of Asia ไทยเป็นเจ้าแห่งความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และฝีมือในสินค้าศิลปะ สร้าง Hub of Art ที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia ในหลายมิติ ระยะกลาง Hub of World-class Events นำงานระดับโลกให้มาจัดที่ประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Ultimate Destination ดึงนักท่องเที่ยวในมิติใหม่เข้ามา ระยะยาว Hub of Headquarters สร้างการลงทุนในระยะยาวเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในเอเชีย เกิดประโยชน์ในระยะยาว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง

3.การขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainability) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค้าสูง หอการค้าไทยได้ดำเนินการผ่านแนวทางไทยเท่ และ happy model (กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดี ๆ) เพื่อให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ได้เน้นปริมาณ แต่ควรจะเพิ่มคุณภาพของนักท่องเที่ยวให้อยู่นานและใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้นานาชาติ โดยการใช้ Soft Power เอกลักษณ์ไทย วัฒนธรรมไทย มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถช่วยให้ประเทศไทยสร้างความแตกต่าง และกระจายรายได้ไปทั่วประเทศได้มากขึ้น

นอกจากนั้น เพื่อให้พัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ควรที่จะสนับสนุนให้ TAGTHAi เป็น Thailand Digital Tourism Platform หลักของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่นักท่องเที่ยว และช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและผู้ประกอบการไทย โดยรายได้จะยังคงหมุนเวียนในประเทศ รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และสร้างความเท่าเทียมต่อคนทั้งมวลให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญ และหามาตรการสนับสนุน เช่น การลดภาษีให้แก่องค์กรและกิจกรรมที่ใช้แนวคิด ESG