กรมควบคุมมลพิษ เผยผลตรวจสอบคุณภาพอากาศ หลังสารเคมีรั่วไหล

กรมควบคุมมลพิษ เผยผลตรวจสอบคุณภาพอากาศ
ภาพจาก กรมควบคุมมลพิษ

กรมควบคุมมลพิษ แจงสารเคมีรั่วไหล โรงงานนครชัยศรี ไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ สั่งโรงงานหยุดผลิต จนกว่าจะแก้ไขเสร็จ

วันที่ 22 กันยายน 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ ตำบลขุนแก้ว ได้รับกลิ่นเหม็นคล้ายสารเคมี ในช่วงเช้าวันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับทราบและมีข้อสั่งการ ให้ คพ. ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบ ให้การสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งหน่วยปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) (กองจัดกการกากของเสียและสารอันตราย กองตรวจมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ 5-6) ร่วมลงพื้นที่ จากการเข้าตรวจสอบพบว่าที่เกิดเหตุ คือ โรงงานบริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-22(1)-4/34 นฐ ประกอบกิจการ ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยประดิษฐ์ กำลังเครื่องจักร 72,824.88 แรงม้า ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 35/8 หมู่ 4 ถนนเพชรเกษม ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

นายอรรถพลกล่าวว่า เกิดเหตุเวลาประมาณ 06.00-06.15 น. สามารถปิดวาล์วได้ในเวลา 06.35 น. สารที่รั่วไหลเป็นน้ำมันร้อน (Hot oil down term) รั่วไหล ซึ่งเป็นสารแลกเปลี่ยนความร้อนของระบบหล่อเย็น หรือ cooling (เป็นสารกลุ่มอะโรเมติกเบนซีน ชนิดไบฟีนิล และไดฟีนิลออกไซด์ 75%) รั่วไหลบริเวณระบบการผลิตเม็ดพลาสติกของโรงกลั่นพลาสติก แพลนต์ 2 ประมาณ 30 ลิตร

สารมีน้ำหนักเบา จึงลอยไปได้ไกล ผลกระทบของสาร การหายใจเอาไอระเหยเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ ได้แนะนำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก และจากการตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดย ศปก.พล. ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณใต้ลมและบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ในระยะ 1-20 กิโลเมตรจำนวน 6 จุด พบว่า

  1. โรงเรียนวัดปุรณาวาส แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ตรวจพบค่า VOC=3 ppm และตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ
  2. โรงเรียนสาธิตนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ
  3. โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมหามงคล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศและไม่มีกลิ่น
  4. โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัยนครปฐม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศและไม่มีกลิ่น
  5. โรงพยาบาลสามพราน ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศและไม่มีกลิ่น
  6. โรงเรียนตลาดบางคูวัด ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางใหญ่ นนทบุรี ตรวจไม่พบสารอันตรายในบรรยากาศ

นายอรรถพลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเข้าตรวจสอบ มีนายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม และอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม ได้มีคำสั่งให้บริษัทดังกล่าว หยุดประกอบกิจการบางส่วน จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมคำตรวจรับรองโดยวิศวกรก่อนเปิดใช้งาน ตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

การดูแลสุขภาพของประชาชน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนครชัยศรี รพ.สต.ในพื้นที่ เฝ้าระวังและติดตามประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ

3 องค์กรสิ่งแวดล้อม เรียกร้องรัฐ สนับสนุนกฎหมายรายงานสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้แถลงการณ์กรณีการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายจากโรงงานผลิตโพลีเอสเตอร์ของบริษัทอินโดรามา โดยระบุว่า

จากเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีที่ส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกในวงกว้างจากโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 โดยมีประชาชนในพื้นที่แจ้งเหตุไปยังสำนักงานควบคุมมลพิษที่ 5 นั้น

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้มีกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) เห็นว่า เหตุการณ์การรั่วไหลของสารเคมีดังกล่าวคือประจักษ์พยานล่าสุดของการที่ชีวิตผู้คนในสังคมไทยต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน (Living poisons daily)

ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนแทบไม่รู้เลยว่ามีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่รั่วไหลออกมาจากโรงงาน แม้การรายงานข่าวในเวลาต่อมาจะระบุว่า เป็นการรั่วไหลของสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) และกรมควบคุมมลพิษทำการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่งดออกจากบ้านเรือนเพื่อเลี่ยงสัมผัสสารเคมีและสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน

แต่ก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนถูกละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า นอกจากการปนเปื้อนในอากาศที่หายใจ ประชาชนไม่รู้เลยว่าการรั่วไหลของสารมลพิษสามารถตกลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่กิน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก อินโดรามา เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานอินโดรามา โพลิเอสเตอร์ อินดัสตรีส์ ใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต้องมีภาระรับผิดชอบ (accountability) โดยทำงานร่วมกับหน่อยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการชี้แจงและเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะชนเกี่ยวกับเหตุการณ์รั่วไหลของสารเคมีครั้งนี้ และดำเนินการประเมินความเสียหายและผลกระทบด้าน

2. สุขภาพของประชาชนเฉพาะหน้าในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการชดใช้และเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น (liability)

3. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องตรวจสอบเหตุการณ์รั่วไหลที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลต่อสาธารณะอย่างรวดเร็วตรงไปตรงมา รวมถึงการดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ และการติดตามรวบรวมข้อมูลและให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

4. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีบทบาทสำคัญในการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีกลุ่มอะโรเมติก เบนซีน ไดฟีนิลออกไซด์ (Diphenyl Oxide) และไบฟีนิล (Biphenyl) ที่อาจส่งผลเสียหายต่อร่างกายในระยะยาว

5. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกรมควบคุมมลพิษและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องสนับสนุนกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ภาคประชาชนที่รับรองสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know) และกำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิด ไปบำบัดหรือกำจัด

นอกจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของสารเคมีสามารถใช้ช่องทางและกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และกรีนพีซ ประเทศไทย

ขอเชิญชวนประชาชนใช้สิทธิ์ประชาธิปไตยทางตรงในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน และการเรียนรู้ร่วมกันของประชาชนในการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษเพื่อมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิ์ สุขภาพ ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ผ่านพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) ได้ที่ thaiprtr.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง