รับมือ พายุโนรู สั่งระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายสู่แม่น้ำโขง-เขื่อนเจ้าพระยา

รับมือ “พายุโนรู” กรมชลประทานสั่งระดมเครื่องสูบน้ำ จ.อุบลราชธานี ผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน พร้อมทยอยปรับการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,300 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ของวันที่ 28 ก.ย.นี้เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “โนรู” จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี ในคืนนี้ (28 ก.ย.65) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ส่งผลให้มีฝนตกชุกหนาแน่นขยายเป็นวงกว้าง

นายประพิศกล่าวต่อว่าได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล และสำนักงานชลประทานที่ 7 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow เพิ่มเติม จำนวน 10 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 8-10 นิ้ว อีกจำนวน 15-20 เครื่อง ที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

ประพิศ จันทร์มา
ประพิศ จันทร์มา

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งระดมเครื่องผลักดันน้ำอีก 200 เครื่อง ติดตั้งในแม่น้ำมูลเพิ่มเติม จากของเดิมที่ติดตั้งไว้ที่บริเวณสะพานพิบูลมังสาหารแล้ว 140 เครื่อง เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด ลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุ “โนรู” พาดผ่าน

พร้อมกันนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน (28 กันยายน 2565) เมื่อเวลา 17.00 น. สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,461 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.68 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กรมชลรับมือพายุโนรู

ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า พายุไต้ฝุ่น “โนรู” บริเวณเเขวงสาละวัน ประเทศลาว มีศูนย์กลางทางทิศตะวันออกของ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ส่งผลปริมาณน้ำฝน น้ำท่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

กรมชลฯรับมือพายุโนรู

กรมชลประทานจึงทยอยปรับการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,300 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลา 21.00 น. ของวันนี้ (28 กันยายน 2565) โดยได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

เกณฑ์การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา