สธ.อัพเดต ป่วยโควิดรักษาใน รพ. 7 วัน ล่าสุดเพิ่ม 4,435 ราย เสียชีวิต 65 คน

ปลด โควิด-19 ออกจากโรคต้องห้ามเข้าประเทศ
Photo by Mufid Majnun on Unsplash

กรมควบคุมโรค รายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่รักษาตัวในโรงพยาบาลหลังปลดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ในรอบ 7 วันล่าสุดเพิ่มขึ้น 4,435 ราย เพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 634 คน เสียชีวิตอยู่ที่ 65 คน เฉลี่ยวันละ 9 คน ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เผยวัคซีนซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็ก 6 เดือนถึงต่ำกว่า 5 ขวบ จะมาถึงใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ระบุหากพบเป็นกลุ่มก้อนให้แจ้งสาธารณสุขในพื้นที่

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่าา นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา โรคโควิด-19 ได้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ซึ่งกำหนดให้มีการรายงานโรคเป็นรายสัปดาห์ ผ่านทางเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค

โดยเริ่มรายงานวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการรายงานตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตในสัปดาห์แรก ระหว่างวันที่ 25 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2565 เป็นสัปดาห์ที่ 39 ของการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา พบว่าจำนวนผู้ป่วยโควิดที่รักษาในโรงพยาบาล รวม 4,435 ราย (เฉลี่ยวันละ 634 ราย) จำนวนเสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา 65 ราย (เฉลี่ยวันละ 9 ราย) ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 54 ราย เท่ากับร้อยละ 83 และผู้เสียชีวิตช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกินครึ่งเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จำนวน 36 ราย (ร้อยละ 55) และมีอีก 15 รายยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (ร้อยละ 23)

“สิ่งที่ต้องเน้นย้ำกับทุกคนคือ ในระยะที่ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ยังมีมาตรการที่สำคัญ คือการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงคือผู้สูงอายุที่เหลืออีก 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดในเวลานี้” นายแพทย์ธเรศกล่าว

กรมควบคุมโรค-ป่วยโควิดรายสัปดาห์ 25 ก.ย.-1 ต.ค.65

ขณะที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งรับช่วงต่อการเผยแพร่ข้อมูลมาจากศูนย์โควิด-19 ของรัฐบาล เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ต.ค.) พบผผู้ติดเชื้อรายใหม่ 155 ราย ลดลจาดกวันที่ 2 ต.ค. ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 285 ราย และลดลงจากวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่ปลดโรคโควิดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 823 ราย

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตนับจากวันที่ 1-3 ต.ค. 2565 ยังอยู่ในตัวเลขหลักเดียว คือ 7, 8 และ 9 คนตามลำดับ อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ป่วยอาการหนักแนวโนมทรงตัวไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยวันนี้ผู้ป่วยอาการหนักอยู่ที่ 459 คน (ตามตาราง)

ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในรพ.

ทางด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 65 โควิด-19 จะเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง สถานที่สาธารณะ พื้นที่ปกติจะผ่อนคลายความเข้มงวด ดังนั้น คนไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้นจึงควรรีบมารับ เพื่อป้องกันความเสี่ยง

โดยเป้าหมายต่อจากนี้ จะให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงวัคซีนโดยสะดวก ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และ รพ.สต.มีวัคซีนให้บริการต่อเนื่อง เน้นประชากรกลุ่มเสี่ยงให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต และหากปีหน้ามีวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ภาครัฐก็พร้อมจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ สำหรับคนที่ต้องการ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยง

ส่วนวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 6 เดือนถึงต่ำกว่า 5 ขวบ จะมาถึงใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าวันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป กทม.ยังให้บริการวัคซีนตามความสมัครใจอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่ม 608 จะให้รับวัคซีนเข็มสามเกิน 70% โดยจะเปิดบริการทั้งนัดหมายและวอล์กอิน (Walk in) เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เวลา 08.00-16.00 น. โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ศูนย์ฉีดวัคซีนกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เปิดทุกวันเวลา 08.00-16.00 น.

ส่วนกรณีมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนสามารถประสานศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสำนักงานเขต ดูแลให้วัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ที่ต้องการ ส่วนเรื่องผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนสามารถติดต่อตามสิทธิสุขภาพของตน ส่วนกรณีข้อมูลในหมอพร้อมไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งที่สายด่วน 1555