ติดโควิด หลัง 1 ต.ค. ต้องทำอย่างไร ? รวมทุกเรื่องต้องรู้

ติดโควิด หลัง 1 ต.ค. ต้องทำอย่างไร รวมทุกเรืองต้องรู้
ภาพจาก pixabay

เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากติดโควิดจะต้องทำอย่างไร รวมทุกเรื่องต้องรู้เอาไว้ที่นี่

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศกำหนดให้โควิด-19 ปรับจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

โดยจะมีการนำ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 มาใช้ ทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ แต่จะลดระดับความเข้มข้นลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

การกักตัว

กรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการ DMHT โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ และเข้ารับการรักษา

สำหรับการคัดกรองด้วย ATK ไม่แนะนำให้ตรวจ ATK ในผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ด้านหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการ เน้นการคัดกรองด้วยอาการป่วย ไม่ใช่ ATK หากมีผู้ป่วยจำนวนมากให้รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

ค่าใช้จ่ายในการรักษา

ยืนยันว่า รักษาฟรีตามสิทธิของแต่ละบุคคล โดยครอบคลุมตั้งแต่การวินิจฉัย จนถึงยาที่ต้องใช้

โดยกรณีผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน เช่น อาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนต่ำ ฯลฯ สามารถใช้สิทธิ UCEP PLUS ได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน ตามเกณฑ์ที่กำหนด

สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าว-ชาวต่างชาติ ผู้มีประกันสามารถใช้สิทธิได้ฟรี ส่วนผู้ที่ไม่มีประกันต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ทั้งนี้ ฮอสพิเทล และ รพ.สนาม สิ้นกันยายนนี้จะยุติทั้งหมด แต่หากมีสถานการณ์เกิดขึ้นสามารถออกประกาศเพื่อรองรับได้

ส่วนการฉีดวัคซีนสามารถฉีดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในสถานพยาบาลที่ คกก.โรคติดต่อจังหวัด หรือ คกก.โรคติดต่อ กทม.กำหนด โดยกลุ่ม 608 “ควร” ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 เดือน ได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันเรื่องจำนวนวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เหมาะสมในแต่ละปี

แนวทางการรักษาโควิด 19 นั้น ตามร่างฉบับที่ 25

  • ไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และ DMHT นาน 5 วัน
  • มีอาการเล็กน้อย (เอกซเรย์ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วม) รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) และ DMHT นาน 5 วัน
  • อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วม (ปอดอักเสบเล็กน้อย) หรือผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย-ปานกลาง พิจารณาตามดุลพินิจแพทย์
  • การใช้ยาในการรักษา
  • ไม่มีอาการ ไม่ให้ยาใด ๆ
  • อาการไม่รุนแรง อาจให้ยาฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ โดยให้เร็วที่สุดเพื่อลดอาการ
  • อาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยาต้านไวรัส ตัวใดตัวหนึ่ง เน้นแพกซ์โลวิดเพราะจากการวิจัยประสิทธิภาพดีกว่าโมลนูพิราเวียร์ หากเข้า รพ. ฉีดเรมเดสซิเวียร์ 3 วัน ทั้งนี้ ไม่มีฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มนี้

สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แนะนำให้ดูแลตามดุลพินิจแพทย์ หากมีอาการแต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ-ปัจจัยเสี่ยง อาจให้ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน ส่วนโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิดนั้นยังใช้ไม่ได้ เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันความปลอดภัย

หากมีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการหนักขึ้น มีปอดอักเสบเล็กน้อย แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แนะนำให้ใช้เรมเดสซิเวียร์ 3 วัน ฟาวิพิราเวียร์ 5 วัน หรือแพกซ์โลวิด 5 วัน ตามการพิจารณาของแพทย์

กรณีอาการรุนแรง ให้เรมเดสซิเวียร์ 5-10 วัน หากอายุมากกว่า 12 ปีให้แพกซ์โลวิดได้ ตามดุลพินิจของแพทย์

อย่างไรก็ตาม สำหรับยาต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 นั้น จะยังไม่สามารถหาซื้อด้วยตนเองในร้านขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ได้ เนื่องจากยากลุ่มนี้ผู้ผลิตยังจดทะเบียนในลักษณะของการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ด้านจำนวนบุคลากร เตียง ยา สธ.ยืนยันว่า มีเพียงพอ โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาล 900 แห่ง รพ.สต. 9,000 แห่ง รวมกำลังคน 4 แสนคน ส่วนสถานการณ์เตียงนั้น จากจำนวนทั้งหมด 73,000 เตียง ปัจจุบันมีคนไข้ 4,800 คน หรือ 6% ของเตียงทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง 90% และอาการรุนแรง 10%

ส่วนปริมาณยานั้น ณ วันที่ 25 กันยายน ในคลังยามี ฟาวิพิราเวียร์ 5,621,175 เม็ด อัตราการใช้ 58,895 เม็ด/วัน เพียงพอใช้ได้ 3.1 เดือน โมลนูพิราเวียร์ 20,362,045 เม็ด อัตราการใช้ 148,750 เม็ด/วัน ใช้ได้ 4.5 เดือน เรมเดสซิเวียร์ 23,451 ขวด อัตราการใช้ 1,219 ขวด/วัน ใช้ได้ 0.6 เดือน

การจัดซื้อยาเพิ่ม

  • ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด ใช้ได้ 5.5 เดือน
  • โมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด ใช้ได้ 7.2 เดือน
  • เรมเดสซิเวียร์ 3 แสนขวด ใช้ได้ 8.2 เดือน

ในส่วนของสถานการณ์ปี 2566 นั้น คาดว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น-ลดลงตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่

2 ฉากทัศน์ 

1.กรณีผู้ป่วยทางเดินหายใจขาดการปฏิบัติตามสุขลักษณะที่ดี จะทำให้ช่วงต้นปี 2566 มีผู้ป่วยสะสมสูงสุดประมาณ 8 พันราย ก่อนจะลดลงและเพิ่มขึ้นถึงจุดพีกอีกครั้งช่วงกลางปี ซึ่งจะมีผู้ป่วยสะสม 1 หมื่นราย

2.กรณีสถานการณ์ที่ประชาชน คงมาตรการป้องกันโรคในสถานที่แออัด ผู้ป่วยดูแลตนเอง และประชาชนยังมีภูมิคุ้มกันสูงนั้น ในช่วงที่มีการระบาดจะมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 6-7.5 พันคน

โดยจะมีการรายงานตัวเลขให้สาธารณชนทราบเป็นระยะ เน้นจำนวนผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต

หลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิฟรี ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม โดยเป็นการดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ รายละเอียดมีดังนี้

1.การรักษาแบบเจอ แจก จบ กรณีไม่มีอาการ ยังคงรับการรักษาในรูปแบบของเทเลเฮลท์ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่นได้ตามปกติ โดยพบแพทย์ทางไกล วินิจฉัยอาการ และจัดส่งยาทางไปรษณีย์

2.สามารถรับยารักษาโควิดตามอาการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197

3.ยกเลิกการแจกชุดตรวจ ATK ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง หากไปโรงพยาบาลแล้วแพทย์พิจารณาให้ตรวจคัดกรอง จะไม่มีค่าใช้จ่าย

4.ผู้ป่วยที่มีอาการหนักสามารถรับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลตามสิทธิ

5.การใช้สิทธิ UCEP Plus กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 โดยกำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเจ็บป่วยวิกฤต (สีแดง) สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกแห่งได้ และไม่มีเงื่อนไข 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งต้องมีอาการเจ็บป่วยวิกฤตตามเกณฑ์ UCEP Plus

เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

ส่วนผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะไม่ครอบคลุมสิทธิ UCEP Plus แต่สามารถเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนได้

ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูล สอบถาม โทร. 0-2872-1669


อ่านข่าวเกี่ยวข้อง