หมอยง ถอด 15 บทเรียน โควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายถึงเฝ้าระวัง

โควิดรุนแรงน้อยลง หมอยงกล่าว

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ถอดบทเรียน 15 ข้อ จากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่หลักการระบาด กระแสแห่จองวัคซีน ไปจนถึงการอยู่ร่วมกับโควิด

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงบทเรียน 15 ข้อที่ได้จากการระบาดของโรคโควิด-19

นพ.ยงระบุว่า จะถอดบทเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคตในสังคมไทย เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้น ที่มีผลต่อสุขภาพ ร่างกายและชีวิต โดยเฉพาะเกี่ยวกับไวรัส และยังไม่มียา หรือวัคซีนที่ใช้ในการรักษาและป้องกัน ในระยะแรกก็มีการตื่นตระหนก และเกิดความกลัว เป็นเรื่องธรรมดา เพราะความไม่รู้ โดย 15 บทเรียน มีดังนี้

1.หลักการระบาดของโรคไวรัส โรคยิ่งรุนแรง การระบาดจะอยู่วงแคบ เช่น Ebola จะไม่กระจายไปทั่วโลก ที่ไม่รุนแรง หรือรุนแรงน้อยกว่าจะสามารถระบาดไปได้ไกลกว่า เช่นไข้หวัดใหญ่ โรค SARS รุนแรงกว่า covid-19 มาก มีอัตราตายสูงถึง 10% ถึงระบาดไปเกือบ 20 ประเทศก็สามารถควบคุมได้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นจะมีอาการหนัก โอกาสแพร่กระจายไปให้ผู้อื่นได้น้อยกว่า

2.โควิด-19 ในระยะแรกเหมือนมีอาการมาก แต่เมื่อระบาดออกมากระจายวงกว้าง ตามหลักของวิวัฒนาการของไวรัส จะต้องปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้เจ้าถิ่นหรือเจ้าบ้าน เช่นเดียวกันทุกวันนี้โควิด-19 พยายามปรับตัวไม่หายไปไหน และจะอยู่กับเราตลอด โดยลดการทำลายเจ้าบ้านลง ขณะนี้จึงคล้ายกับไข้หวัดใหญ่

3.ในระยะแรกเมื่อไม่รู้อะไรเลย ทุกคนต้องสร้างความรู้ ด้วยการศึกษาวิจัยให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ใช้ความเชื่อ และงานวิจัยที่เหมาะสมกับบ้านเราเท่านั้นที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด

4.การป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในประเทศไทย ทำได้ดีกว่าตะวันตกมาก ไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัย ล้างมือ การกำหนดระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย นับว่าลดการแพร่กระจายในระยะแรกได้เป็นอย่างมาก

5.ทุกคนเรียกร้องวัคซีน คิดว่าวัคซีนจะเป็นทางในการยุติ มีการจองวัคซีนที่ต้องจ่ายเงินก่อนโดยที่ยังไม่เห็นของ ถ้าของนั้นดีหลายอย่าง และจะต้องเสียเงินถึงแม้ว่าจะไม่ได้ของ โชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้จับจองแบบนั้น ถ้าเช่นนั้นเราจะต้องสูญเสียเงินอีกมาก

6.วัคซีนทุกตัวที่พัฒนาขึ้นมาและมีการใช้โดยองค์การอนามัยโลกรับรอง ได้ผลไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย หรือ virus Vector หรือ mRNA มีการฉีดวัคซีนเชื้อตายทั่วโลกไปเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ในขณะที่ประเทศที่ฉีด mRNA วัคซีน เช่นประเทศอเมริกาและตะวันตก กลับพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเสียอีก แสดงให้เห็นว่าการป้องกันโรคไม่ได้อยู่ที่วัคซีน

7.ในระยะแรกที่วัคซีนขาดแคลน การฉีดวัคซีนสูตรสลับ หรือสูตรไขว้ เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันมาแต่ในอดีต ไม่ว่าวัคซีนในเด็ก เราจึงฉีดต่างบริษัทกันเสมอ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ว่าการให้วัคซีนเชื้อตายปูพื้น แล้วกระตุ้นด้วยวัคซีนต่างชนิด ผลลัพธ์ที่ได้ภูมิต้านทานจะเป็นลูกผสม และมีประโยชน์ในการป้องกันได้เป็นอย่างดี งานศึกษาวิจัยที่ออกจากประเทศไทยสูตรไขว้เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และองค์การอนามัยโลกก็ไปเขียนเป็นคำแนะนำ

8.ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มของวัคซีน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน การให้วัคซีนครบ หมายถึงต้องให้อย่างน้อย 3 ครั้ง และในกลุ่มเสี่ยงจะต้องได้อย่างน้อย 4 ครั้งจึงจะเรียกว่าได้รับวัคซีนครบ

9.ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนกี่เข็มก็ตาม ก็ยังสามารถติดโรคได้ แต่ความรุนแรงลดลง จนในที่สุดทุกคนก็ยอมรับความจริง และจนปัจจุบันนี้เข้าใจว่าประชากรไทยมีการติดเชื้อไปแล้วถึงร้อยละ 70 ร่วมกับการฉีดวัคซีนอีก ทำให้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดเป็นแบบลูกผสม ที่ถือว่าเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุด ที่จะลดความรุนแรงของการติดเชื้อในครั้งต่อ ๆ ไป

10.เราลงทุนกับการสั่งซื้อวัคซีนมาเป็นจำนวนมาก และขณะนี้เชื่อว่ามีวัคซีนที่เหลือและกำลังจะหมดอายุเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเงินงบประมาณภาษีของเราทั้งสิ้น เราอยากให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม หรือ 4 เข็มในกลุ่มเสี่ยง ตามเป้าหมายก็ยังไม่ได้ แต่วัคซีนก็เหลือเป็นจำนวนมาก

11.การว่ากล่าวให้ร้าย bully ในสังคมไทย เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้นักวิชาการจำนวนมากเกรงกลัวและไม่กล้าที่จะพูด ซึ่งเป็นผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ การกล่าวหาในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง หรือไม่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เราต้องแยกข่าวจริงและข่าวปลอมออกให้ได้ และไม่ควรแชร์ข่าวปลอมออกไปเด็ดขาด

12.การให้ข้อมูลของประเทศไทย จากนักวิชาการต่าง ๆ ส่วนมากจะอ่านมา และจับบางประเด็นที่ตัวเองสนใจมาเผยแพร่ให้เป็นข่าว ทั้งที่ความจริงไม่ได้เกิดจากการศึกษาวิจัยของตัวเอง รวมทั้งก็ไม่ได้เป็นผู้เชึ่ยวชาญในศาสตร์นั้น มาให้ข้อมูลทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

13.ประเทศไทยควรให้การสนับสนุนการศึกษาวิจัยในโรคอุบัติใหม่ ยกตัวอย่างเช่นโควิด-19 เราลงทุนเป็นแสนล้าน ในบางอย่างถ้าเราใช้เงินเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เพื่อมาทำงานวิจัยตอบคำถามให้ชัดเจนว่าสมควรใช้หรือไม่ จะได้ประโยชน์กว่าอย่างมาก และเป็นการประหยัดเงิน โดยเฉพาะเรื่องของยารักษาโรคอุบัติใหม่

14.การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ขีดความสามารถนักวิจัยอยู่ในวงจำกัด และมีปริมาณน้อยมาก ควรร่วมมือกัน ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าที่ต่างคนต่างทำ เราไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินทอง ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเครื่องมือ

แต่เรายังต้องปรับปรุงมาตรฐาน โดยเฉพาะทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจภูมิต้านทานต้องได้มาตรฐาน GLP การศึกษาทางคลินิกประเทศไทยมีความสามารถอยู่แล้วในการศึกษาวิจัยอย่างในต่างประเทศ แต่ในระดับโรงงาน และห้องปฏิบัติการยังต้องปรับปรุงมาตรฐานขึ้น

ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถผลิตและจำหน่ายออกไปต่างประเทศได้เลย ประชาคมวิจัยมีจำกัด ควรหันหน้าเข้าหากัน พิจารณาเลือกทำตัวใดตัวหนึ่ง มากกว่าที่จะต่างคนต่างทำ

15.เราผ่านมาได้ถึงทุกวันนี้ ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ในการลดการแพร่กระจายของโรคในระยะแรกที่เรายังไม่รู้อะไรเลย และเราเชื่อว่า ต่อไปนี้เราจะอยู่กับโรค covid-19 ได้เช่นเดียวกันกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งโรคนี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เรามีวัคซีนในการลดความรุนแรงของโรค เรามียาดีขึ้นในการที่จะใช้ในการรักษา ชีวิตจะต้องเดินหน้าต่อไป และสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่งก็คือว่าให้สังคมไทยเป็นสังคมที่อุดมปัญญา มากกว่าที่จะมากล่าวให้ร้ายแก่กัน