ขอคุ้มครองพยาน หลังเปิดปมกู้สวัสดิการฯ ชนวนสำคัญกราดยิงโคราช

เปิดปม กู้เงินกองทัพซื้อบ้าน สวัสดิการกองทัพบก ซื้อบ้าน กราดยิงโคราช
ภาพจาก มติชน

ผู้เสียหายร้องกระทรวงยุติธรรม ขอคุ้มครองพยาน หลังเปิดปมการกู้เงินสวัสดิการกองทัพบก เพื่อซื้อบ้าน ชนวนเหตุสำคัญ เหตุรุนแรงที่โคราชเมื่อปี 2563

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 มติชน รายงาน่ว่า ที่กระทรวงยุติธรรม แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ พร้อมด้วย น.ส.ก้อย และ น.ส.เบิร์ด ( นามสมมุติ ) ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ว่าที่ร้อยตรีธกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องขอคุ้มครองพยาน

จากกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวอ้างว่า ถูกบิ๊กทหารระดับนายพล ข่มขู่ เนื่องจากเหตุที่มีหลักฐานซึ่งเป็นสาเหตุและแรงกดดันที่นำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรงในห้างดังกลางเมืองโคราช เมื่อวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา

กู้เงินสวัสดิการกองทัพฯ ต้องหักค่าธรรมเนียม

ทนายไพศาล กล่าวว่า วันนี้พาผู้เสียหายมาขอคุ้มครองพยาน หลังถูกนายทหารข่มขู่ถึงชีวิตเพราะเกี่ยวข้องกับทหารระดับนายพล โดยกำลังพลซึ่งเป็นผู้เสียหายหลายรายได้กู้ยืมเงินจากสวัสดิการทหารบก ซึ่งทางกรม อ้างว่า จะต้องหักค่าธรรมเนียมกองทัพบก 5%

ยกตัวอย่างเช่น บ้านราคา 1 ล้านบาท กำลังพลจะต้องกู้สวัสดิการ วงเงิน 1,500,000 บาท และจะถูกหัก 5% คือ 75,000 บาท เป็นค่าธรรมเนียมกองทัพบก โดยกำลังพล (ผู้กู้) จะไม่ทราบว่ามีการหักเงินตรงส่วนนี้ไว้ นอกจากนี้ ยังมีการหักค่าเงินทอนส่วนต่างอีกประมาณ 4 แสนบาท ซึ่งเงินก้อนนี้จะต้องเก็บไว้เพื่อตกแต่งบ้าน ทำให้จำนวนเงินหายจากที่ได้รับจริง 2 ส่วน คือ ส่วนหัก 5% และส่วนหักค่าเงินทอน

ทนายไพศาล กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นนี้กรณีของจ่าคลั่งที่กราดยิงโคราช อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเงินทั้ง 2 ส่วน ไปอยู่กับผู้ประกอบการ จึงไปตามทวงถามเงินกับผู้ประกอบการ ก็คือ ป้านงค์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะไม่พอใจที่ป้านงค์ เก็บเงินส่วนต่างสำหรับตกแต่งบ้าน รวมถึง 5% สวัสดิการ ประกอบกับบ้านที่จ่าคลั่งซื้อ แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ระบบน้ำไฟต่าง ๆ ก็ยังไม่เสร็จ จึงไม่พอใจและก่อเหตุดังกล่าว

“ประเด็นสำคัญ คือ ส่วนต่าง 5% ของสวัสดิการกองทัพบกนั้นที่กำลังพลไม่ได้รับ เงินส่วนนี้หายไปไหน หรือส่งต่อให้เจ้าหน้าที่คนใด” ทนายไพศาล กล่าว

นอกจากนี้ กำลังพลได้มาทวงถามเงินคืนจากผู้ประกอบการทั้ง ๆ ที่เงินถูกหักมาตั้งแต่สวัสดิการกองทัพบกแล้ว และยังมีกำลังพลอีกรายหลายได้รับผลกระทบจากเงินส่วนต่างและเงิน 5% หวั่นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยที่ จ.นครราชสีมา

ผู้ประกอบการไม่ทราบ มีหักเงิน

น.ส.ก้อย เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นผู้ประกอบการสร้างบ้านขายให้กับกำลังพลของกองทัพบก แต่ไม่ทราบว่าถูกหักเงิน 5% เพราะถูกกรมสวัสดิการเก็บไว้อ้างเป็นค่าธรรมเนียมของกองทัพบก สุดท้ายแล้วไปสืบสาวราวเรื่อง จนทราบว่า 5% ตรงนี้กองทัพบกไม่มีระเบียบในการจัดเก็บเป็นการเก็บเงินเข้ากระเป๋าตัวเองของนายทหารคนหนึ่งของกรมสวัสดิการทหารบก

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกระบวนการกู้ยืมเงินสวัสดิการทหารบกว่าเป็นอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง พร้อมให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ดูแลคุ้มครองพยาน และฝ่ายกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ช่วยตรวจสอบว่า จะให้ดำเนินคดีในข้อหาอะไรได้บ้าง หากมีเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์จริง

ส่วนเอกสารลับและวงจรปิดหลักฐาน ที่ทนายไพศาลและผู้ประกอบการผู้เสียหายมายื่นขอคุ้มครองพยาน เพราะนอกจาก น.ส.ก้อย ยังมีผู้ประกอบการรายอื่น ๆ อีก เช่น น.ส.เบิร์ด เป็นผู้ประกอบการสร้างบ้านจัดสรรขาย ให้กับกำลังพลกองทัพบกเหมือนกัน

และเมื่อเกิดปัญหากำลังพลมาทวงถามเงินทอนส่วนต่างและเงิน 5% ซึ่งทาง น.ส.เบิร์ด ยอมจ่ายเงินทั้งหมด 3 หลัง ราคากว่าล้านบาทให้กับกำลังพลที่มาซื้อบ้าน เพราะไม่อยากมีปัญหากับกองทัพบก แล้วจะถูกตัดสิทธิเข้าโครงการ ทำให้บ้านอีกกว่า 100 หลังจะขายไม่ได้อีกด้วย

ย้อนคำพูด เจ้ากรมสวัสดิการฯ ปล่อยกู้ตามระเบียบ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งหลังเกิดเหตุความรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา เพียงไม่กี่วัน มีการ เปิดเผย ก่อนหน้านี้ว่า การกู้เงินสวัสดิการกองทัพบก เพื่อนำมาสร้างบ้านนั้น มีทหารหลายนายถูกโกงเงินทอนจากการใช้เพื่อสร้างบ้านเป็นจำนวนมาก ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ค่าหัวคิว ค่าต่อเติมบ้าน เป็นต้น

ขณะที่ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ณ ขณะนั้น ยืนยัน ว่า การกู้เงินสวัสดิการกองทัพบก เพื่อการเคหะสงเคราะห์นั้น เป็นไปตามระเบียบ ไม่มีเกิน ไม่มีเงินทอนแต่อย่างใด