“รัฐบาล” เตรียมลุยสร้างงาน “วิจัยกินได้” ชี้ในอดีตทำแล้วขึ้นหิ้ง ปชช.ไม่ได้ประโยชน์

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตนได้หารือกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงบประมาณ สภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า จะมีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้งบประมาณและโครงการวิจัยในปีนี้และปีต่อๆ ไป มุ่งตอบโจทย์ที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเอาไปใช้ได้จริง มากกว่าที่จะวิจัยในหัวข้อที่อาจารย์อยากจะทำแล้วก็ถูกนำไปขึ้นหิ้ง โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงได้ร่วมหารือกันภายใต้แนวคิด “วิจัยกินได้” โดยหารือถึงแนวทางการกำหนดโจทย์การวิจัยอย่างไร ที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงแก้ปัญหาสำคัญของแต่ละพื้นที่ เช่น การวิจัยเรื่อง ธนาคารปู การปลูกทุเรียนนอกฤดูกาล การเจาะรูต่อท่อแทนการกรีดยางพาราซึ่งจะช่วยเพิ่มอายุต้นยางได้เท่าตัว การสร้างคุณค่าจากผักตบชวา หรือแม้แต่การแก้ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาใบข้าวโพด ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาเหมือนการใช้ใบอ้อยที่เอามาใช้ในโรงงานไฟฟ้า โดยปัจจุบันใบอ้อยหนึ่งตันสามารถขายได้ 200 บาท ถ้าหากเราวิจัยให้เอาใบข้าวโพดมาใช้ได้เช่นกัน ก็จะไม่ต้องมีการเผา สร้างปัญหาหมอกควันเหมือนทุกๆ ปี เป็นต้น

“ผมมองว่าโครงการวิจัยดังกล่าว ต้องทำกับชุมชน และเมื่อวิจัยเสร็จแล้วต้องนำองค์ความรู้เรื่องนั้นๆ มาขยายผลต่อไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ รวมถึงในอนาคตจะมีการตั้งศูนย์ความเป็นเลิศในแต่ละด้าน เช่น จ.จันทบุรี เรื่องทุเรียน จ.เชียงใหม่ เรื่องลำไย จ.สงขลา เรื่องประมง จ.นครราชสีมา เรื่องโคเนื้อนุ่ม เป็นต้น ตรงนี้จะเป็นการตอบโจทย์ในสิ่งที่ประชาชนต้องการและอยากได้ ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ของประชาชน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนและสังคมทั่วประเทศไทยต่อไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์