ชัชชาติ โต้ BTSC ปล่อยคลิปทวงหนี้สายสีเขียว 4 หมื่นล้าน ลั่นเงื่อนไขก่อนจ่าย

ชัชชาติ รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ชัชชาติ โต้คลิปบีทีเอสทวงหนี้ 4 หมื่นล้าน ลั่นพร้อมจ่ายหากที่มาและกระบวนการชำระหนี้ถูกกฎหมาย

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 รถไฟฟ้าสายสีเขียว กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ภายหลังมีการเผยแพร่คลิปทวงหนี้จากทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่เรียกร้องให้มีการชำระหนี้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 40,000 ล้านบาท

โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่คลิปความยาว 2.04 นาที ให้แก่สื่อมวลชนในวันนี้ (21 พ.ย.)

คลิปดังกล่าวมีเนื้อหา เป็นคำกล่าวของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่มีเนื้อหาทวงหนี้ กทม. และผู้มีอำนาจในประเทศ ขอให้จ่ายเงินที่ค้างมากว่า 3 ปี มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท แก่บริษัท

เนื่องจากดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน อย่าปล่อยให้เรื่องนี้ลอยไปลอยมา เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจะเกิดกับประชาชน โดยบริษัทจะไม่ยอมหยุดรถ และเชื่อว่าผู้โดยสารจะเข้าใจตนและบริษัท

“อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ … เพราะสิ่งที่เราได้ทำอยู่อย่างเดียวก็คือ เราไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผมรับปากกับประชาชน กับทุก ๆ ท่านว่า ผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะการหยุดรถความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผม ซึ่งผมก็ต่อสู้ให้ท่านถึงวันนี้ คงเข้าใจผม” นายคีรีกล่าว

ชัชชาติ ลั่น หนี้ผูกพันก้อนนี้ สภา กทม.ต้องร่วมพิจารณา

ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำหรับการชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ในส่วนค่าจ้างเดินรถและค่าติดตั้งงานระบบที่กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายงานให้แก่บริษัทกรุงเทพธนาคม และกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้าง BTSC นั้น

มีประเด็นข้อกฎหมายอยู่บางประการ ด้วยเหตุว่า ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครกำหนดให้การก่อหนี้ผูกพันจะต้องผ่านการเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) เสมอ ซึ่งการมอบหมายงานระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงเทพธนาคมนั้น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพัน เนื่องจากกรุงเทพมหานครจะต้องชำระค่าจ้างเดินรถอย่างต่อเนื่องทุกปี

แต่หนี้ในส่วนนี้ไม่มั่นใจว่าผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้วหรือไม่ จึงได้ทำหนังสือไปยังสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอข้อมูลว่าในส่วนนี้ ว่ามีการผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้วหรือไม่ หากยังไม่ผ่านจะได้มีการหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป อาจจะด้วยการทำสัญญาใหม่ หรืออื่น ๆ

อีกทั้งเมื่อจะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องการโอนโครงสร้างโยธาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้กรุงเทพมหานคร ว่าผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ เนื่องจากผู้บริหารชุดนี้มีความเห็นว่า การรับโอนโครงสร้างโยธาดังกล่าวมีการก่อให้เกิดหนี้ผูกพันจากการชำระค่าตอบแทนแก่ รฟม.เช่นเดียวกัน

รอจบกระบวนการต่อสัมปทาน ค่อยจ่ายส่วนต่อขยายส่วนที่ 1

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 นายชัชชาติกล่าวว่าส่วนนี้ไม่มีปัญหาในส่วนการขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร หากแต่หนี้ค่าจ้างเดินรถเป็นส่วนหนึ่งของการขยายสัมปทาน ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 ทำให้ไม่สามารถชำระได้ หากกระบวนการสิ้นสุดลงแล้ว กรุงเทพมหานครพร้อมจ่ายในภาระหนี้ส่วนนี้ทันที

“กรุงเทพมหานคร เป็นหนี้ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย” นายชัชชาติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เคยอธิบายเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ว่าจะต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

1.ส่วนสัมปทาน คือช่วงที่เอกชนสร้างแลกกับสัญญาสัมปทาน 30 ปี ได้แก่ ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

2.ส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งกรุงเทพมหานครสร้างเอง ได้แก่ ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง

3. ส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งกรุงเทพมหานครรับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้แก่ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ