ศาลล้มละลายกลางยกคำร้อง อดีตเจ้าของ รร.ดาราเทวี ขอฟื้นฟูกิจการรอบ 2

ifec

คดีวุ่นอีนุงตุงนัง IFEC ยื่นขอฟื้นฟูกิจการรอบ 2 แต่ศาลล้มละลายกลางยกคำร้อง เหตุยังไม่พ้น 6 เดือนหลังยกคำร้องไปครั้งเเรก

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า IFEC บริษัทแม่ของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เทอมอล พาวเวอร์ จำกัด (I Thermal) ที่เคยชนะการประมูลโรงแรมดาราเทวี จ.เชียงใหม่ 2,012,620,000 บาท แต่ไม่มีเงินมาจ่าย และถูกยึดเงินประกัน 110 ล้านบาทไปแล้วนั้น ล่าสุดมีผลตัดสินยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการรอบสอง

คดีนี้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ21/2565ที่ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัดหรือ IFEC ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และแต่งตั้งลูกหนี้ เป็นผู้ทำแผน

มีผู้คัดค้าน 1 ราย คือนางสมศรี จีระวิพูลวรรณ ยื่นคำคัดค้านว่า การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต

โดยศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงวินิจฉัยได้ ให้งดไต่สวนพิเคราะห์คำร้องขอ คำคัดค้าน คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 9 ก.ย. 2565 และคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัย ในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นแล้ว

ปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ภายในระยะ 6 เดือนนับแต่ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/5(3) หรือไม่

เห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.25/2561 นางสมศรี จีระวิพูลวรรณ เจ้าหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564

ต่อมาลูกหนี้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษและยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งอนุญาตให้ลูกหนี้ถอนอุทธรณ์ จำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

ศาลล้มละกลางอ่านคำสั่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2565 ตามสำเนาคำสั่งศาลล้มละลายกลาง อุทธรณ์ของลูกหนี้ คำร้องขอถอนอุทธรณ์ของลูกหนี้และคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คำร้องที่ คล 1 พ.ศ. 2565 อนุญาตให้ลูกหนี้ถอนอุทธรณ์

ขอให้ศาลวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น คำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ จึงถึงที่สุด ตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คือ วันที่ 24 ส.ค. 2565 ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยประเด็นเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 132(1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้ง ศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

เมื่อลูกหนี้ผู้ร้องขอยื่นคำร้อง ขอฟื้นฟูกิจการในคดีนี้ ในวันที่ 7 ก.ย. 2565 จึงยังอยู่ภายในระยะ 6 เดือนนับตั้งแต่ ศาลล้มละลายกลางเคยมีคำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ อันถึงที่สุดในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.14/2561 คดีหมายเลขแดงที่ พ.25/2561ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/5(3)

ปัญหาข้อกฎหมายอื่นไม่จำต้องวินิจฉัยชี้ขาด เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้