เปิดชีวิตแม่ทัพอิตาเลียนไทย “เปรมชัย กรรณสูต” กับเหตุ “ทุ่งใหญ่สะเทือน”!!

เหตุการณ์ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อ “เปรมชัย กรรณสูต” ประธานบริหารและกรรมการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งคณะของนายเปรมชัย และบุคคลอีก 4 คน มาตั้งแคมป์พักในบริเวณจุดห้ามตั้ง

โดยการตรวจค้นพบซากสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ ซากเสือดำที่ถูกชำแหละ และไก่ฟ้าหลังเทา นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบอาวุธปืนไรเฟิลติดลำกล้อง และเครื่องกระสุนจำนวนมาก

โดยมีการกล่าวโทษเบื้องต้น 6 ข้อหา

1. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

2. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

3. ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

4. ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

5. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

6. สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษตามฐานความผิดต่อไป

กลายเป็นประเด็นฮือฮาทันทีที่ผู้บริหารบริษัทธุรกิจก่อสร้างรายดังอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ และชื่อชั้นก็เป็นถึงระดับ “บิ๊กเนม” ของอิตาเลียนไทย บริษัทที่มีตำนานมาหลายทศวรรษ

จากบริษัทสองสัญชาติร่วมกันบริหารในจุดเริ่มต้นระหว่าง นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต และชาวอิตาลี Giorgio Berlingieri ที่สานสัมพันธ์แนบแน่นจากธุรกิจกู้เรือเดินทะเล และก่อตั้งบริษัท อิตัลไทย อินดัสเตรียล จำกัด ในปี 2498 ร่วมกันถือหุ้นคนละ 50 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งต่อมาแตกยอดธุรกิจมาเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานทุกประเภท ในชื่อ บริษัท อิตาเล่ียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี 2501 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งปี 2518 ที่ Berlingieri เสียชีวิตลง ต่อมาหุ้นจึงอยู่ในครอบครองของกรรณสูตทั้งหมด

น.พ.ชัยยุทธ มีบุตรธิดารวมกัน 5 คน โดยหลังจากการเสียชีวิตของ เอกชัย กรรณสูต ทายาทคนโต ส่งผลมาถึงยุคต่อมาที่ “เปรมชัย กรรณสูต” ลูกชายคนเล็กเข้าทำงานที่อิตาเลียนไทยในปี 2522 และเป็นผู้ดูแลอาณาจักรอิตาเลียนไทย

ตำนานธุรกิจของอิตาเลียนไทย ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ขยายธุรกิจไปสู่ส่วนอื่นๆมากมาย และโด่งดังในฐานะเจ้าของสัมปทานโครงการขนาดใหญ่

เหตุการณ์ทุ่งใหญ่ ที่มีชื่อของนายเปรมชัย เข้ามาเกี่ยวข้องย่อมสั่นสะเทือนอาณาจักรหมื่นล้านแห่งนี้ ทั้งจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงตามมาสนั่นโลกออนไลน์ในเชิงภาพลักษณ์ กรณีอิตาเลียนไทยเป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างอุโมงค์-ทางข้ามให้สัตว์ป่าทับลาน ระหว่างทางหลวง 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัยด้วยแล้ว

และในทางธุรกิจเมื่อเปิดตลาดหุ้นซื้อขายเมื่อช่วงเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ราคาหุ้นอิตาเลียนไทย หรือ ITD ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 โดย ณ เวลา 11.00 น. อยู่ที่ 3.72 บาท ลดลง 0.14 จุด หรือลดลง 3.63% จากราคาวันก่อนหน้าที่ 3.86 บาท

ทั้งนี้ ตำนานและประวัติอิตาเลียนไทยนั้นมีอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ไปจนถึงยุคความอยู่รอด และการปรับตัวของกลุ่มบริษัทที่มีความสัมพันธ์ผันแปรกับสังคมไทยในช่วงกึ่งศตวรรษอย่างน่าสนใจ จนเรียกว่ากรณีศึกษาของบริษัทอิตาเลียนไทย เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับธุรกิจที่มีลักษณะอ่อนไหวเป็นพิเศษ (ผู้สนใจ สามารถติดตามอ่านโดยละเอียด จากงานเขียนโดย วิรัตน์ แสงทองคำ ตีพิมพ์ 3 ตอน ในนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ได้)

สำหรับ “เปรมชัย กรรณสูต” ปัจจุบัน อายุ 63 ปี เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2497 เป็นบุตรชาย นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มบริษัทอิตัลไทย และ ม.ร.ว.พรรณจิต (สกุลเดิม วรวรรณ) มีพี่น้องด้วยกัน 5 คน

จบการศึกษาคณะวิศวกรรมเหมืองแร่ จากรัฐโคโรลาโด สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอร์เนีย

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และถือเป็นทายาทสืบต่อธุรกิจที่เป็นหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญในการนำทัพอิตาเลียนไทย ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วนมากสุดที่ 14.88 %

“เปรมชัย กรรณสูต” กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า ปี 2560 อิตาเลียนไทยได้งานใหม่ในมือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (รวมโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 35,000 ล้านบาท) มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8 หมื่นล้านบาท นับว่าสูงสุดในประวัติการณ์

ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานในประเทศและต่างประเทศสัดส่วน 50:50 จะสามารถรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 125,000 ล้านบาท โดยปี 2560 ที่ผ่านมารับรู้รายได้ 6 หมื่นล้านบาท คาดว่าปี 2561 จะถึง 1 แสนล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลมีการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เปิดประมูลออกมามากกว่าปี 2560 ถึงเท่าตัวกว่า 1 ล้านล้านบาท ที่บริษัทประเมินไว้จะเข้าร่วมมีหลายโครงการซึ่งล้วนเป็นงานที่ถนัด

ไม่ว่ารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 โครงการ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟไทย-จีน รถไฟฟ้าสายสีม่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะและสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังมีงานอื่น ๆ อีก เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โดยคาดว่าบริษัทจะได้งานในมืออย่างน้อย 3 แสนล้านบาท

สำหรับงานในต่างประเทศ “เปรมชัย” ขยายความว่า ที่ได้แล้วมี 2 โครงการคือ ทางด่วนยกระดับ 5 หมื่นล้านบาท ความคืบหน้าก่อสร้าง 8% กับรถไฟฟ้ายกระดับ 3 หมื่นล้านบาท ที่เมืองดักการ์ ประเทศบังกลาเทศ

ขณะเดียวกันยังร่วมประมูล สนามบิน อีก 3 หมื่นล้านบาท และมอเตอร์เวย์อีก 1 แสนล้านบาทที่บังกลาเทศ รวมทั้งรถไฟใต้ดิน 3 หมื่นล้านบาท โรงบำบัดน้ำเสีย และจะร่วมประมูลสนามบินที่มีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ในไตรมาสแรกปี 2561

ด้าน “โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย” เมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลเมียนมา เป็นอีกโปรเจ็กต์ที่ “บิ๊กอิตาเลียนไทย” เกาะติดแบบใจหายใจคว่ำ หลังหยุดชะลักมานานหลายเดือนหลังมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่

“โครงการทวาย เราก็ติดตามประชุมร่วมกับพม่าทุกเดือน ซึ่งโครงการกลับมาเริ่มใหม่หลังเปลี่ยนรัฐบาล ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา”

เป็นภารกิจเมกะโปรเจ็กต์ของอิตาเลียนไทย ท่ามกลางเหตุแห่งทุ่งใหญ่สะเทือน!!

—————————-


อ่าน >> อิตาเลียนไทย ปักหมุด 3 แสนล้าน ปาดเค้กเมกะโปรเจ็กต์ คสช. กัดฟันลุยทวาย-เหมืองโพแทช

อิตาเลียนไทย(1) | วิรัตน์ แสงทองคำ

อิตาเลียนไทย(2) | วิรัตน์ แสงทองคำ

อิตาเลียนไทย(3) | วิรัตน์ แสงทองคำ