BTS ขอรัฐเห็นใจ ต้องการได้รับชำระหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยเร็ว

BTS ตั้งโต๊ะแถลงข่าว

BTS ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโต้ “กรุงเทพธนาคม” ชี้ทำบริษัทเสียหาย ยันไม่รู้ไม่เห็นกระบวนการของ กทม.-กรุงเทพธนาคม 

วันที่ 17 มกราคม 2566 บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้จัดงานแถลงข่าว บีทีเอส ชี้แจง สัญญาจ้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กับบริษัท กรุงเทพธนาคม โดยมีนายสุรพงษ์ เลาหอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายสยาม สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการใหญ่สายงานกฎหมายบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลง

แถลงการ KT ทำ BTS เสียหาย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า จากการแถลงผ่านโพสต์เฟซบุ๊กของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT วานนี้ ในส่วนที่ชี้ว่า สัญญาเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นส่วนที่ทำให้ทางบริษัทได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทาง BTS ไม่สุจริต ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก

โดยนายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ทาง BTS ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและ หรือข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม และเชื่อมั่นมาโดยตลอด ว่ากรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม (ซึ่งโดยปกติจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย) ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และถูกต้องแล้ว

และขอเรียนว่าจากแถลงดังกล่าวของ KT นั้นหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย

ตั้งคำถาม ตั้งใจชะลอจ่ายหนี้หรือไม่

นายสุรพงษ์ยังตั้งคำถามต่อทางบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด อีกว่า ในเมื่อทางกรุงเทพธนาคมชี้ว่าสัญญาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จะดำเนินการต่ออย่างไร โดยเฉพาะ 2 ประเด็น คือ

  1. BTSC จะต้องหยุดเดินรถหรือไม่
  2. หนี้สินที่เกิดขึ้นมาจะมีการดำเนินการอย่างไร

และขอให้ภาครัฐเห็นใจทาง BTS ที่มีความต้องการเดียว คือให้ทาง BTS ได้รับการชำระหนี้โดยเร็ว ที่ถึงแม้จะไม่มีการชำระหนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 2562 ทาง BTS ก็ยังมีการปฏิบัติตามสัญญา คือมีการเดินรถให้บริการต่อประชาชนมาโดยตลอด และข้อตั้งข้อสังเกตว่าการแถลงต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ของ KT มีเจตนาในการชะลอการชำระหนี้เพิ่มเติมของทาง กทม. และ KT หรือไม่

ปัญหาซ้อนปัญหา

ด้าน พ.ต.ต.สุชาติได้มีการแถลงว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการของภาครัฐทั้งหมดมีความพยายามในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาควาสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ 3/2562 ที่ต้องการให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้สินของ กทม. และ KT นั้นก็ต้องการจะไม่ให้เกิดหนี้สินที่พอกพูนต่อ กทม.

แต่สิ่งที่ KT ได้แสดงต่อสาธารณชนเมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) เป็นการสร้างปัญหาขึ้นซ้อนปัญหา คือก่อนหน้านี้ BTS ได้มีการยื่นฟ้องมาครั้งหนึ่งแล้ว ในคดีค่าจ้างเดินรถที่ค้างชำระตั้งแต่ ช่วงปี 2562 ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งมีการตัดสินของศาลปกครองกลางให้ BTS ชนะคดี

และในคดีที่ 2 นี้เป็นการยื่นฟ้องมูลหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 จนถึงเดือนพฤศจิกายน การเปลี่ยนแปลงคำให้การของทาง “กรุงเทพธนาคม” นั้นคือการที่แพ้ในคดีแรกแล้วหาช่องใหม่เพื่อเอาชนะให้ได้หรือไม่

และหากแพ้ในคดีที่ 2 อีก ในคดีที่ 3 หรือ 4 ที่อาจจะมีต่อไปในอนาคตนั้นทาง KT ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงคำให้การไปเรื่อย ๆ หรือไม่

พ.ต.ต.สุชาติได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายของนายคีรี กาญจนพาสน์นั้น ขอยืนยันว่าทาง BTS จะยังไม่การหยุดเดินรถแต่อย่างไร

BTS พร้อมเดินหน้าเจรจา

สำหรับประเด็นการร่วมกันเจรจาระหว่าง BTS และ KT นั้นนายสุรพงษ์กล่าวว่า เมื่อคราวที่คณะกรรมการชุดใหม่ของ KT ได้เข้ารับตำแหน่งนั้นได้มีการเชิญตนไปร่วมหารือ และได้ขอเวลาในการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งจนถึงปัจจุบันทาง KT ไม่มีการติดต่อมาเพื่อจะหารือใด ๆ เพิ่มเติมเลย ซึ่งหากทาง KT ติดต่อมาให้มีการเจรจาก็พร้อมจะเข้าร่วมการเจรจา แต่จะตกลงหรือไม่นั้นเป็นอีกกรณี

เปิดหนี้ 43,000 ล้านบาท

นายสุรพงษ์เปิดเผยอีกว่า ในปัจจุบันทาง KT และ กทม. เป็นลูกหนี้ของ BTS กว่า 40,000 ล้านบาท คือ ส่วนค่าจ้างติดตั้งงานระบบและจัดหาขบวนรถประมาณ 20,000 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) รวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

นายสุรพงษ์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้มีการทยอยจ่ายค่าจ้างเดินรถในสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 มาบ้าง ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อย