กรุงเทพธนาคม แจงศาลฯ สัญญาจ้าง “บีทีเอส” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บีทีเอส
ภาพจากเพจ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

กรุงเทพธนาคม แจงศาลฯ สัญญาจ้าง “บีทีเอส” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันที่ 16 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โพสต์เฟซบุ๊ก มีเนื้อหาว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2

ซึ่งบริษัทบีทีเอสยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของกรุงเทพธนาคมไปให้บีทีเอสเร็วๆ นี้ ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุผลหักล้างกันต่อไป

ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
ภาพจากเพจ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

สำหรับการยื่นคำให้การครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่บริษัทฯ ได้นำเรียนให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงในการจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

1.สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับบีทีเอสนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

2.บริษัทฯ ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มท.

3.สัญญาจ้างที่บริษัทฯ กระทำกับบีทีเอสเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจน พ.ร.บ.ร่วมทุน

ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัทฯ ไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้

4.การที่บริษัทฯ ไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

5.การฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

นายประแสง มงคลศิริ
ภาพจากเพจ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เปิดเผยด้วยว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารกรุงเทพธนาคมชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน

ซึ่งก็เป็นไปตามคาดการณ์ว่า บีทีเอสจะฟ้องคดีใหม่มาอีก จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกโครงการกว่า 30 ปี ตลอดจนข้อกฎหมายที่รอบด้านกว่าคดีแรกอย่างมีนัยสำคัญ

“ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่าศาลท่านจะมีข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น ในการพิจารณาคดี  ที่ 2 นี้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาล” นายประแสง กล่าวย้ำด้วยความมั่นใจ