1 ปีกรุงเทพธนาคม บนรอยต่อผู้ว่าฯ “อัศวิน-ชัชชาติ”

16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นฤกษ์ประชุมผู้ถือหุ้น “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” วิสาหกิจที่ถือหุ้นโดย “กทม.-กรุงเทพมหานคร” 99.98%

วาระร้อนคือการสรุปผลงานในรอบ 1 ปีของบริษัท

ความน่าสนใจอยู่ที่เป็นการสรุปงานบนรอยต่อการทำงาน 2 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างคนเก่า “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” กับคนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

“ธงทอง-ประแสง” คุมบอร์ดใหม่

ในวงล้อมที่ประชุมคณะกรรมการกรุงเทพธนาคาร หรือ KT มีตัวแทน กทม. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.98% “วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการ กทม. กับ “ต่อศักดิ์ โชติมงคล” ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม.

กับฝั่งคณะผู้บริหาร KT ชุดใหม่ นำโดย “ศาตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” ประธานกรรมการ กับ “ประแสง มงคลศิริ” กรรมการผู้อำนวยการ

ทั้งนี้ การประชุมผู้ถือหุ้น KT จัดประชุมแมตช์แรกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 หลังจาก “ทีมชัชชาติ” เข้ามาเหยียบศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้าได้ไม่ถึงครึ่งเดือน

ประแสง มงคลศิริ
ประแสง มงคลศิริ

วาระร้อนการประชุมครั้งแรก เป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทใหม่ทั้งชุด ทดแทนทีมผู้บริหารยุคอัศวิน

ตำแหน่งสำคัญที่สปอตไลต์ฉายส่องคือ “อ.ธงทอง” นั่งหัวโต๊ะแทน “ปิยะ พูดคล่อง” อดีตประธานกรรมการ KT กับเก้าอี้ผู้บริหารเบอร์ 1 “ประแสง” มาแทนที่ “เกรียงพล พัฒนรัฐ” อดีตกรรมการผู้อำนวยการ

สำหรับการประชุมแมตช์ที่ 2 วาระประชุมยาวเหยียด ไฮไลต์อยู่ที่การรายงานผลประกอบการในปี 2565 ควบคู่นำเสนอแผนธุรกิจในปี 2566 แก่ผู้ถือหุ้น

รื้อทำงาน-เน้นโปร่งใสสุดซอย

สำหรับผลประกอบการในปี 2565 ปรากฏว่า KT มีผลประกอบการขาดทุน 4,616,218.54 บาทรายได้รวม 1041.84 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1046.46 ล้านบาท

จุดโฟกัสก่อนการเสนอแผนธุรกิจคือการปรับปรุงระบบการดำเนินการภายใน 2 ส่วน โดย “รองวิศณุ” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปมปัญหาที่ผ่านมา KT มีภาพลักษณ์เป็นดินแดนสนธยาในกรุงเทพมหานคร

ดังนั้น ผู้บริหารและบอร์ดชุดใหม่ของ KT จึงได้เสนอการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส 2 ส่วน ได้แก่ 1.ปรับปรุงระบบการลงบัญชีให้มีมาตรฐานระดับเดียวกับบัญชีมาตรฐานของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

2.เสนอระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร เน้นไปที่การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ซึ่งมีผลกระทบกับ KT โดยตรง จากเดิมถูกวางบทบาทหน้าที่รับมอบภารกิจจาก กทม. มาดำเนินการเพื่อความคล่องตัวของ กทม. หลังจากนี้ การได้มาซึ่งงานจะต้องใช้เกณฑ์เดียวกันกับ กทม.ใช้ ซึ่งหมายถึงจะต้องเข้าแข่งขันประมูลงานนั่นเอง

จ่อโครงการใหม่ “รถ-เรืออีวี”

ผู้บริหารอีกราย “ประแสง” กรรมการผู้อำนวยการ KT เปิดเผยเพิ่มเติมว่า แผนธุรกิจปี 2566 เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 โครงการลงทุนใหม่ ประกอบด้วย

1.โครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้ารอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดย KT ลงทุนพัฒนาระบบ “รถ-เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า” หรือรถ-เรืออีวี เบื้องต้นออกแบบแนวเส้นทางเป็นวงรอบระยะทาง 9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินรถ 40 นาทีต่อรอบ ตามแผนงานเสนอลงทุนรถโดยสารขนาดเล็ก 20 ที่นั่ง เพื่อลดปัญหาการจราจรในพื้นที่ โดยมีรถหลัก 2 คัน กับรถสำรอง 2 คัน

ส่วน “เรือโดยสารอีวี” เบื้องต้นออกแบบ 2 เส้นทางเดินเรือ คือแนวเส้นทางตามคลองผดุงกรุงเกษม ปัจจุบันมีการพัฒนาจนสามารถเดินเรือได้แล้ว กับเส้นทางตามคลองบางลำพู หาก กทม.อนุมัติโครงการ จะต้องเพิ่มงบประมาณพัฒนาคลองบางลำพูให้สามารถเดินเรือได้

กรณีคลองบางลำพู “รองวิศณุ” ได้มอบหมายให้ KT ศึกษาเพิ่มเติมความเป็นไปได้การลงทุนเพื่อความรอบคอบต่อไป

รวมถึงเสนอลงทุน “จักรยาน” เชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์อีกด้วย

สางปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สีทอง

2.โครงการบริการยานพาหนะอีวีสำหรับหน่วยงาน กทม. โดย KT จะจัดเตรียมพาหนะพลังงานไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ รถเก็บขยะ สำหรับให้หน่วยงาน กทม.เช่า และจัดเตรียมสถานีชาร์จในพื้นที่หน่วยงาน กทม.

นอกจากโครงการใหม่แล้ว KT ได้เสนอโครงการต่อเนื่อง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม “กลุ่มสิ่งแวดล้อม-กลุ่มระบบขนส่ง”

เจาะรายละเอียดโครงการต่อเนื่องด้านสิ่งแวดล้อม หลัก ๆ คือโครงการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ กับโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน 800 ตัน

ส่วนโครงการด้านขนส่ง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง

“การประชุมผู้ถือหุ้น KT ครั้งที่ 2 ได้มอบนโยบายให้ KT ต้องเร่งอัพเกรดตัวเอง ให้เปลี่ยนผ่านจากเดิมที่รับงานผ่านการเป็นนายหน้าตัวแทนของ กทม. มาเป็นผู้ดำเนินการให้บริการสาธารณะผ่านการจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ ซึ่ง KT มีขีดความสามารถทำได้ เช่น การจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อให้แก่โรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า บางโครงการในยุคผู้ว่าฯอัศวิน เช่น โครงการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษม-เดินเรือในคลองภาษีเจริญ, โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT ไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผนดำเนินงานปี 2566 แต่อย่างใด