รู้จัก เครื่อง AED อุปกรณ์ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน จากอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

เครื่อง AED การทำ CPR

รู้จัก เครื่อง AED หนึ่งในอุปกรณ์กู้ชีพฉุกเฉิน สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ประสบเหตุที่อยู่ในภาวะหมดสติ

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ และหากได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ทันท่วงที อาจทำให้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

เครื่อง AED จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นอย่างมากจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญมากขึ้นในการติดตั้งไว้ตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้การช่วยเหลือทุกชีวิต เป็นไปอย่างทันท่วงที

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักอุปกรณ์ช่วยชีวิตชิ้นนี้ให้มากขึ้น

เครื่อง AED คืออะไร ?

เครื่อง AED หรือ Automated External Defibrillator เป็นเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจ โดยใช้กระแสไฟฟ้า หยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้อง

เครื่อง AED สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยใน 3 กรณี

  1. กรณีผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว และหมดสติ
  2. กรณีผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก และตามมาด้วยการหมดสติ
  3. กรณีผู้ป่วยได้รับอุบัติเหตุจากการถูกไฟฟ้าช็อตจนหมดสติ

อย่างไรก็ตาม เพราะอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ หากอาการเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในสถานที่อื่น ๆ นอกจากบ้านหรือโรงพยาบาล อาจทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ปัจจุบัน เครื่อง AED มีการติดตั้งอยู่ตามสถานที่สาธารณะมากขึ้น เช่น สถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยผู้ที่ช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งาน AED มาก่อน เพราะคนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ซึ่งสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อัตโนมัติและช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้อย่างทันท่วงที

เครื่อง AED ใช้อย่างไร ?

วิธีการใช้เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ มีวิธีการใช้งานดังนี้

1. เปิดเครื่อง

เครื่อง AED บางรุ่น จำเป็นต้องกดปุ่มเปิดเครื่อง แต่บางรุ่นสามารถทำงานได้ทันทีที่เปิดฝาครอบออก และเมื่อเปิดเครื่องแล้วจะมีเสียงบอกว่าต้องทําอย่างไรต่อไปอย่างเป็นขั้นตอน

2 ติดแผ่นนําไฟฟ้า เข้ากับหน้าอกของผู้ป่วย

ในกรณีจําเป็นเราอาจต้องใช้กรรไกรหรือมีดตัดเสื้อของผู้ป่วยออกก็ได้ ซึ่งกรรไกรนี้จะมีมาให้ในชุดช่วยชีวิต จากนั้นต้องแน่ใจว่าหน้าอกของผู้ป่วยแห้งสนิทดี ไม่เปียกเหงื่อ หรือเปียกนํ้า โดยอาจต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าอกของผู้ป่วยให้แห้งเสียก่อน

เมื่อแน่ใจว่าหน้าอกผู้ป่วยแห้งสนิทแล้ว ให้ลอกแผ่นพลาสติกด้านหลังแผ่นนำไฟฟ้าออก ติดแผ่นนําาไฟฟ้าดูตามรูปที่แสดงไว้บนเครื่อง โดยต้องติดให้แนบสนิทกับหน้าอกของผู้ป่วยด้วยความรวดเร็ว แผ่นหนึ่งติดไว้ที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และอีกแผ่นหนึ่งติดไว้ที่ใต้ราวนมซ้ายด้านข้างลําตัว ตรวจดูให้แน่ใจว่าสายไฟฟ้าจากแผ่นนําไฟฟ้าต่อเข้ากับตัวเครื่องเรียบร้อย

3. ให้เครื่อง AED วิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ปล่อยให้เครื่อง AED ทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจทันทีที่ติดแผ่นนําไฟฟ้าเสร็จ แต่เครื่องบางรุ่นต้องให้กดปุ่ม “ANALYZE” ก่อน เพื่อทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ

ระหว่างทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ห้ามสัมผัสถูกตัวผู้ป่วยห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วย โดยให้ร้องเตือนดัง ๆ ว่า “เครื่องกําลังวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ห้ามแตะต้องตัวผู้ป่วย”

4. ทำการ SHOCK

หากเครื่อง AED พบและแจ้งว่าคลื่นไฟฟ้าของผู้ป่วยเป็นชนิดที่ต้องการการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้าหัวใจ ก็ให้เตรียมกดปุ่ม SHOCK โดยต้องแน่ใจว่าไม่มีใครสัมผัสถูกตัวของผู้ป่วยระหว่างนั้น ซึ่งควรร้องบอกดัง ๆ ว่า “คุณถอย ผมถอย และทุกคนถอย” ซึ่งก่อนกดปุ่ม “SHOCK” ให้มองซํ้าอีกครั้งเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้ายด้วย

เมื่อเครื่องบอกว่า ไม่ต้องช็อก หรือ “No shock is needed” หรือ “start CPR” แล้ว ให้เปิดเครื่อง AED ไว้ก่อนและให้เริ่มช่วยฟื้นชีวิตขั้นพื้นฐานทันที

สำหรับการช่วยชีวิตพื้นฐาน คือการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง ประมาณ 2 นาที หรือจนกว่าเครื่อง AED จะวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจอีกครั้ง แล้วกลับไปยังข้อ 3 และ 4

ทั้งนี้ สําหรับขั้นตอนที่ 1 และ 2 ไม่ควรใช้เวลาเกิน 30 วินาที และทําการช่วยเหลือรอจนกว่าความช่วยเหลืออื่น ๆ จะตามมาต่อไป

ภาพจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “AED กระตุกหัวใจ” ซึ่งเป็นระบบสำหรับการค้นหาจุดติดตั้งเครื่อง AED เพื่อให้สามารถค้นหาตำแหน่งเครื่อง AED ในประเทศไทย สามารถค้นหาเครื่อง AED และอาสาสมัครผู้ทำ CPR ในระยะใกล้ ๆ คุณ พร้อมทั้งมีการสอนวิธีการใช้งานเครื่อง AED และวิธีการทำ CPR ภายในแอป

โดยสามารุดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “AED กระตุกหัวใจ” ได้ทั้งระบบ iOS และ Android หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ aed.redcross.or.th


ข้อมูลจาก บริษัทรักษาความปลอดภัย แอลโซคไทย เซอร์วิสเซส จำกัด, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์