ตำรวจ สน.ห้วยขวาง รับแล้วเรียกเงินกลุ่มนักท่องเที่ยวดาราสาวไต้หวันจริง 

ตำรวจ สน.ห้วยขวาง

ตำรวจไทยเสียชื่ออีกจนได้ จากกรณี ดาราสาวไต้หวันโพสต์แฉถูกรีดเงินที่ด่าน พื้นที่ สน.ห้วยขวาง เดิมบอกไม่มี ล่าสุดนี้บอกมีเจ้าหน้าที่รับสารภาพแล้ว

วันที่ 30 มกราคม 2566 ความคืบหน้ากรณีดาราสาวไต้หวัน โพสต์แฉว่าถูกรีดเงิน 27,000 บาทแลกกับการปล่อยจากจุดตรวจสกัดบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตจีน พื้นที่ สน.ห้วยขวาง จนเป็นกรณีโต้แย้งกันไปมานั้น ล่าสุด จากการสอบปากคำตำรวจที่เกี่ยวข้องแต่ละนาย ทำให้มีผู้ยอมรับสารภาพว่ามีการเรียกเก็บเงินจริง

ทั้งนี้จากการสอบสวนและมีการแบ่งเงินกันที่บริเวณด่านในคืนเกิดเหตุ จากนั้นเมื่อปรากฏเป็นข่าวทางกลุ่มชุดตำรวจในวันนั้นพยายามปกปิดข้อมูล และไม่ยอมรับในช่วงแรก เนื่องจากเห็นว่าผู้เสียหายเป็นคนต่างชาติ และไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี

ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. และโฆษก บช.น., พล.ต.ต.อัฏธพร วงศ์ศิริปรีดา ผบก.น.1 ร่วมแถลงข่าว กรณีนักท่องเที่ยวสาวชาวไต้หวันถูกตำรวจเรียกรับเงิน

พล.ต.ท.ธิติ กล่าวว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าสถานทูตจีนจริง และปรากฏภาพนักท่องเที่ยวมีการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจในขณะปฎิบัติหน้าที่

ซึ่งพบเห็นวัตถุผิดกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ตรวจยึดเป็นของกลางเพื่อส่งตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมายกับนักท่องเที่ยว แต่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกจากจุดตรวจไป

กรณีนี้เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้สั่งการให้ดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาแล้วจำนวนหลายนาย

ส่วนเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวนั้น จะต้องดำเนินการติดตามพยานหลักฐาน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการรวบรวมให้ชัดเจน ทั้งพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเรียกมาสอบสวน พยานเอกสาร บันทึกรับสารภาพ จำนวนเงินที่แน่นอน ตามที่มีกระแสข่าวนั้น ซึ่งหากพบว่ามีความผิดชัดเจน ก็จะดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ไม่ได้ละเว้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหลักฐานที่ตำรวจได้รับมาในขณะนี้ ทำให้ได้ความชัดเจนในเหตุการณ์ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเรียกตรวจค้น ซึ่งคณะสอบสวน ได้ตั้งประเด็นสอบสวนต่อไปว่า เหตุใดจึงีการเรียกให้หยุดตรวจค้น และทำไมถึงใช้เวลาตรวจค้นนาน ซึ่งผลการสอบสวนจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับหลักฐานจากกล้องวงจรปิด

พล.ต.ท.ธิติ กล่าวว่า ยืนยันว่า ตำรวจไม่มีการสั่งการให้ลบภาพจากกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด เรื่องนี้ตรวจสอบได้เพราะเป็นกล้องของกรุงเทพมหานคร  ส่วนกล้องที่ติดหมวกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะนี้ได้รวบรวมส่งไปที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานให้ตรวจสอบ เนื่องจากไฟล์ถูกลบจริง แต่เป็นการลบเองหรือไฟล์หมดอายุนั้น ต้องรอผลการตรวจสอบอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่มีใครสั่งการให้ทำเรื่องผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้กลายเป็นข่าวดังเมื่อดาราสาวไต้หวัน อันหยูชิง หรือ Charlene An โพสต์เล่าเรื่องไม่คาดคิด ระหว่างเดินทางเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทยในวันที่ 29 ธันวาคม 2565 และเดินทางออกในวันที่ 5 มกราคม 2566

ดาราสาวโพสต์ในแอปพลิเคชั่นอินสตาแกรม เล่าว่า ถูกตำรวจที่ตั้งด่านเรียกให้รถหยุดและขอค้นตัว ค้นกระเป๋า โดยมีการมาจับค้นที่กระเป๋ากางเกง และกระเป๋าสตางค์ มีการถามถึงเรื่องวีซ่าสถานการณ์ยื้อไปนานกว่า 2 ชั่วโมง ท้ายสุดจึงเรียกเงิน 27,000 บาท จึงยอมปล่อย

“ไม่คิดเลยว่า ไปเที่ยวปีใหม่ที่ไทยหวังเจอประสบการณ์ดี ๆ แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัวที่สุดในชีวิต และฉันจะไม่ไปเหยียบเมืองไทยอีก ลาก่อน กรุงเทพห่วย ๆ” ดาราสาวระบุในอินสตาแกรม

ทั้งนี้ ก่อนที่ตำรวจจะเปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่รับเงินจริง นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตำรวจรีดเงินดาราสาวไต้หวันจริง ระเบิดลงนครบาล

ทั้งที่ ผบช.น. ให้โฆษก แถลงข่าวยืนยันว่า ตรวจสอบแล้ว ไม่มีตำรวจห้วยขวางเรียกรับผลประโยชน์ แต่ปรากฏว่า มีผู้หญิงคนไทย แฟนเป็นคนสิงคโปร์ ที่ไปร่วมวงสังสรรค์กินเหล้ากับดาราสาวไต้หวัน ให้การยืนยันว่า ได้เป็นผู้จ่ายเงินจำนวน 27,000 บาท ให้กับตำรวจที่ตั้งด่านด้วยตัวเอง และมีคลิปยืนยันด้วย

ต่อมา พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการด่วน ให้ ผบช.น.สั่ง ผกก.สน.ห้วยขวาง ช่วยราชการ หลังจากมีข้อมูลว่ามีตำรวจเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกรณีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันถูกเรียกรับเงิน พร้อมกำชับ น.1 ดำเนินการตั้งกรรมการวินัยร้ายแรงและดำเนินคดีอาญาในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความผิดในเหตุดังกล่าวทุกราย อย่างเด็ดขาด มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง

“ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำกำชับไปยังตำรวจนครบาล และตำรวจทุกพื้นที่ กรณีการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัด หรือการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ต้องกระทำตามอำนาจหน้าที่ เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามระเบียบแนวทางที่ ตร.ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ต้องไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ อันมิชอบด้วยกฎหมายอย่างเด็ดขาด

โดยให้ผู้บังคับบัญชาเพิ่มความเข้มในการตรวจตราการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ไม่ให้เกิดพฤติกรรมในทางไม่ดี หากพบว่าพื้นที่ใดมีการกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก จะพิจารณาโทษถึงระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ แต่ถ้าเกิดเป็นความผิดซ้ำซาก จะพิจารณาโทษถึงระดับผู้บังคับการ โดยจะดำเนินการเด็ดขาดทั้งทางวินัยอาญา และปกครอง” โฆษก ตร. กล่าว