ไฮสปีด 3 สนามบิน รฟท. เผยงานออกแบบคืบหน้า 90% แล้ว

ปกเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

รฟท. เผยความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ออกแบบแล้วเสร็จกว่า 90% เร่งส่งมอบพื้นที่ คาดเปิดใช้งานได้ปี 2572 

วันที่ 3 มีนาคม 2566 นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนายการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยถึงการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ภายหลังจากการลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 แล้วนั้นบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้มีการดำเนินการในโรงการรถไฟความเร็วสูงเชขื่อม 3 สนามบินอยู่ 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 การสนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 พร้อมยังลงทุนเพิ่มเติมกว่า 1,700 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงระบบวิศวกรรมและการเดินรถเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งภายในและภายอกสถานีให้เป็นแบบอารยสถาปัตย์ (Universal Design)

ส่วนที่ 2 เป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  ทางบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ทำงานร่วมกับบริษัท อาหรับ (Arup) หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการออกแบบ วิศวกรรม วางแผน และพัฒนาธุรกิจ 1 ใน 3 ของโลก สำหรับงานในประเทศไทยมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง

“ทางบริษัทอาหรับได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยการออกแบบได้ดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 90% แล้ว” นายเอกรัชกล่าว

สำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการ ได้แก่ งานเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค ย้ายผู้บุกรุก งานถ่ายโอนแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ งานเตรียมก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (HSR) ทั้ง 4 ช่วง งานโครงการเกี่ยวกับรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-พญาไท  และ งานพัฒนาพื้นที่สนับสนุนสถานีรถไฟความเร็วสูง หรือ TOD ที่มักกะสันและศรีราชาตามสัญญา

ส่วนการก่อสร้างงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังต่อไปนี้

  1. ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้หลังจากแก้ไขสัญญาร่วมทุนเรียบร้อย
  2. ช่วงสุวรรณภูมิ-พญาไท ซึ่งคือรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ปัจจุบัน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เอกชนผู้ร่วมทุนเป็นผู้สนับสนุนการเดินรถและซ่อมบำรุง
  3. ช่วงพญาไท-บางซื่อ อยู่ระหว่างดำเนินการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566
  4. ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง กำหนดให้เอกชนก่อสร้างโครงสร้างร่วม ไปพร้อมกับทางวิ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อร่นระยะเวลาก่อสร้างลง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดราคากลางแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเจรจาแก้ไขสัญญากับเอกชน และเตรียมขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี

“การรถไฟแห่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานและเร่งพัฒนาโครงกาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้แล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการในปี 2572” นายเอกรัชกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) (EEC) หรือบอร์ดอีอีซี ครั้งที่ 1/2566 รับทราบเพียงความก้าวหน้าในการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ไม่ได้พิจารณาให้ผ่านในเรื่องการแก้ไขสัญญาการก่อสร้าง แต่ให้มีการเจรจากันใหม่ แล้วนำกลับมาให้บอร์ดอีอีซีพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้