ร.ฟ.ท.ชี้แจงแก้ปัญหาผู้บุกรุกชุมชนบุญร่มไทร รอส่งมอบพื้นที่สร้างไฮสปีด 3 สนามบิน

รฟท.ชี้แจงแก้ปัญหาผู้บุกรุกชุมชนบุญร่มไทร

การรถไฟฯชี้แจงแนวทางการดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐ บริเวณชุมชนบุญร่มไทร ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชุมชนบุญร่มไทร ได้เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าอาคารทำการการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้การรถไฟฯดูแลช่วยเหลือ หลังจากถูกหมายบังคับคดีให้ต้องรื้อย้ายออกจากการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณชุมชนบุญร่มไทร ระหว่างที่หยุดรถอุรุพงษ์-พญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

พร้อมกันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อการรถไฟฯ ประกอบด้วย 1.ขอให้การรถไฟฯไม่บังคับคดีให้รื้อถอนบ้านพักอาศัยในวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ตามหมายบังคับคดี

2.ขอให้การรถไฟฯอนุญาตให้เข้าพื้นที่ขอเช่าเพื่อปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราว ก่อนสัญญาเช่าจะได้รับการอนุมัติ พร้อมขอระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ ประปา ไฟฟ้า ฯลฯ

3.ขอสนับสนุนงบประมาณในการทำบ้านชั่วคราวหลังใหม่

ด้านนายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชุมชนบุญร่มไทร เป็นปัญหาที่มีการบุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่การรถไฟฯ โดยไม่ถูกต้องมานานแล้วกว่า 10 ปี โดยมีผู้บุกรุกทั้งสิ้น 83 ราย แบ่งเป็นพื้นที่บุกรุกสำหรับใช้ก่อสร้างแนวท่อขนส่งน้ำมัน 12 ราย ซึ่งได้สมัครใจย้ายออกไปแล้ว 1 ราย อยู่ระหว่างการรื้อย้าย 3 ราย โดยการรถไฟฯได้มีการเข้าดำเนินการแก้ไข โดยยึดหลักความถูกต้องของกฎหมาย และคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด

ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ นายสมยุทธิ์ เรือนงาม ประธานคณะทำงานดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินในเขตพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน รวมถึงฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน และสำนักงานอาณาบาล เข้าร่วมหารือกับกลุ่มผู้ชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุก และติดตามการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนภาครัฐ ควบคู่กับการบริหารจัดการนำทรัพย์สินที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้ข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.การนำเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไปจากพื้นที่ สำหรับใช้ก่อสร้างแนวท่อขนส่งน้ำมัน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนหลังจากมีการพิพากษาของศาล

โดยเจ้าหน้าที่จะยังไม่ดำเนินการรื้อถอนตามหมายบังคับคดี แต่ขอให้ชุมชนเร่งรัดการปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากการรถไฟฯต้องส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ เพื่อทำการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันใหม่ทดแทนของเดิมที่อยู่ในแนวเขตการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบินที่มีกำหนดเวลาต้องดำเนินการภายในเดือนตุลาคม 2565 ตามแผนงานของคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

2.ในการหารือยังได้มีข้อสรุปร่วมกันให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่เช่าที่การรถไฟฯได้ และขณะที่รอการทำสัญญาเช่าระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อขอเข้าใช้พื้นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราว ชุมชนจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30-45 วัน

3.ส่วนการขอสนับสนุนงบประมาณในการทำบ้านชั่วคราวหลังใหม่นั้น การรถไฟฯไม่มีกฎระเบียบข้อกฎหมายใด ๆ รองรับ จึงไม่สามารถช่วยสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวได้

และหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้บุกรุกได้เคยได้รับเงินสนับสนุนเป็นค่ารื้อถอนบริษัทที่ปรึกษาไปแล้ว รายละ 30,000-70,000 บาท ซึ่งบางรายได้รับเงินไปแล้วแต่ไม่ยอมย้ายออก

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทที่ปรึกษาที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานรื้อย้ายของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ได้เสนอการสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชน เพื่อสร้างบ้านพักชั่วคราว 20,000 บาท และช่วยเหลือค่าขนย้าย 16 ครัวเรือน หฃังคาเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 100,000 บาท เพื่อยุติปัญหาดังกล่าวทั้งหมด

4.การรถไฟฯได้ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ จัดสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาด 315 ยูนิต บริเวณพื้นที่ริมบึงมักกะสัน เขตราชเทวี สำหรับรองรับการย้ายของชุมชนให้ไปเช่าอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการขออนุมัติ และการออกแบบเพื่อก่อสร้างอาคาร

รูปแบบโครงการประกอบด้วย ห้องพักแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 28.5 ตารางเมตร และแบบ 2 ห้องนอน ขนาด 34.6 ตารางเมตร โดยมีพื้นที่รองรับศูนย์ดูแลเด็ก ศูนย์สุขภาพสำหรับกลุ่มเปราะบาง ห้องประชุม พื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกอบอาหาร พื้นที่เก็บรถเข็นสำหรับประกอบอาชีพ รวมถึงมีตลาดสดภายในชุมชน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี

ดังนั้น จึงเห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา การรถไฟฯได้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากชุมชน และมีความตั้งใจในการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนของรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาพื้นที่ปลูกสร้าง และรูปแบบที่พักอาศัยที่เหมาะสม ซึ่งเป็นนโยบายที่การรถไฟฯให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนเสมอมา

แต่ขณะเดียวกัน การรถไฟฯมีความจำเป็นต้องดูแลบริหารทรัพย์สินตามอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประเทศชาติ โดยการนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ปิดประกาศขับไล่ผู้บุกรุกให้ออกไปจากพื้นที่ ก็ถือเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนหลังจากมีการพิพากษาของศาล เพื่อให้ส่งมอบพื้นที่แก่บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ ทำการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันใหม่ทดแทนของเดิม และสามารถดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้ทันตามแผนที่กำหนด

โดยโครงการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และสนับสนุนการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของชุมชนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต