ฮีตสโตรก-ลมแดด ภัยร้ายหน้าร้อน กรมการแพทย์เตือนกลุ่มเสี่ยง

กรมการแพทย์ แนะวิธีป้องกันฮีตสโตรก-ลมแดด ภัยร้ายถึงขั้นเสียชีวิตได้

วันที่ 31 มีนาคม 2566 นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้ไทยมีอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประชาชนอาจเป็นโรคลมแดด หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) ได้

โดยกลุ่มเสี่ยงสำหรับโรคลมแดด หรือฮีตสโตรกนั้น อาทิ

  • ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งอย่างกรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร ทหาร นักกีฬา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ คนอ้วน
  • ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับอาการของโรคมีหลากหลายตามลำดับขั้นของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เช่น

  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • ตัวบวม
  • อาการอ่อนเพลีย หรือที่เรียกว่าเพลียแดด
  • เป็นตะคริว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ชัก
  • มึนงง
  • หน้ามืด

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

ด้านการรักษาและป้องกัน โรคลมแดด หรือฮีตสโตรก นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี อธิบายว่า หากพบเห็นผู้เป็นลมแดดให้ปฏิบัติดังนี้

Advertisment
  • รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก
  • ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง
  • ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ
  • ใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
  • หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
  • นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ในการป้องกัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ระบุว่า ให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด เลือกออกกำลังกายช่วงเช้าหรือเย็น

ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

Advertisment

การแต่งกายให้สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด