สรุป 7 วันอันตราย สงกรานต์ 2566 เกิดอุบัติเหตุกี่ครั้ง คุมประพฤติกี่คดี ?

7 วันอันตราย สงกรานต์ 2566

สรุปสถิติ 7 วันระวังอันตราย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 เกิดอุบัติเหตุรวมกี่ครั้ง มีการคุมประพฤติกี่คดี แล้วสถิติมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ?

วันที่ 18 เมษายน 2566 ผ่านพ้นไปแล้วกับเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 ซึ่งเป็นเทศกาลแรก หลังปรับระดับการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประชาชนเริ่มกลับมาเดินทางไปต่างจังหวัด รวมถึงไปร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ตามพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

และในทุก ๆ ปี หน่วยงานรัฐจะมีการเฝ้าระวังเรื่องการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอยู่ทุกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติน่าสนใจเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ ในเทศกาลวันสงกรานต์ที่ผ่านมา

เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 183 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 16 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน

สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ มาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มักเกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จันทบุรี นครปฐม น่าน ราชบุรี และลำพูน (จังหวัดละ 2 ราย)

ขณะที่สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (วันที่ 11-17 เมษายน 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (68 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง พังงา

คุมประพฤติรวมกว่า 8 พันคดี “เมาแล้วขับ” สาเหตุใหญ่

นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดี กรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า วันสุดท้ายของการคุมเข้ม 7 วันอันตรายสงกรานต์ 2566 (17 เมษายน 2566) สถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวนทั้งสิ้น 1,910 คดี จำแนกเป็น

  • คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,870 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.9
  • คดีขับเสพ 40 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.1

สำหรับยอดสะสม 7 วัน (วันที่ 11-17 เมษายน 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 8,869 คดี จำแนกเป็น

  • คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.69
  • คดีขับรถประมาท 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.26
  • คดีขับซิ่ง 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01
  • คดีขับเสพ 270 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.04

จังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 522 คดี รองลงมาร้อยเอ็ด จำนวน 473 คดี และอันดับสาม เชียงใหม่ จำนวน 458 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีขับรถขณะเมาสุราสะสมทั้ง 7 วันที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 มีจำนวน 7,141 คดี กับปี พ.ศ. 2566 จำนวน 8,575 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1,434 คดี คิดเป็นร้อยละ 20.08

อุบัติเหตุมากขึ้น แต่ตายน้อยลง

หากย้อนถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 1,917 ครั้ง บาดเจ็บ 1,869 ราย เสียชีวิต 278 ราย ซึ่งจากสถิติ เมื่อเทียบระหว่างปีที่แล้วกับปีนี้ พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง

ขณะที่สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ยังคงเป็นสาเหตุเดียวกัน คือ การขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ และการขับตัดหน้ากระชั้นชิด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงการรณรงค์ 7 วันแห่งความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 พบว่า ในภาพรวมจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 5.04 รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็วซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุลดลงร้อยละ 1.55 ส่วนดื่มแล้วขับลดลงร้อยละ 3.26

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลค่าเฉลี่ยสถิติอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปี ช่วงสงกรานต์ปีนี้จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 13 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงถึงร้อยละ 15 ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย

ซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุสูง

พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุตามมาตรการที่กำหนด โดยเฉพาะมาตรการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง จะได้นำมาเป็นแนวทางในการทำงานอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

รวมถึงให้ทุกจังหวัดพัฒนาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากที่สุด


อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังต่อไป คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ เพิ่มมากขึ้น หลังกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ของโรคในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 435 คน จากสัปดาห์ก่อนที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงหลัก 100 คนเท่านั้น