การเปิดโปงธุรกิจผิดกฎหมายของ “กลุ่มจีนเทา” ในช่วงปลายปี 2565 จากคดีของ “ตู้ห่าว” ทั้งความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ได้นำไปสู่การตรวจสอบที่มาของการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของกลุ่มบุคคลเหล่านี้
โดยหนึ่งในหลายวิธีที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยก็คือ การเข้ามา “ฟอกขาว” ผ่านทางเครือข่าย มูลนิธิ และสมาคม มีทั้งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรืออาศัย “คราบ” มูลนิธิ-สมาคมดั้งเดิมที่ยังเปิดดำเนินการมาใช้เป็นที่กำบังหรืออำนวยความสะดวกในการขอวีซ่าเข้าประเทศ
จนนำมาซึ่งการตรวจสอบมูลนิธิและสมาคมที่แจ้งจดทะเบียนในประเทศครั้งใหญ่ จากที่มีการปล่อยปละละเลยกันมานาน จนเกิดข้อเท็จจริงที่ว่า มีการใช้มูลนิธิหรือสมาคมเข้าไปหาผลประโยชน์ ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เกิดกระบวนการฟอกเงิน และกลายมาเป็นแหล่งซ่องสุมกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ “กลุ่มจีนเทา” ดำเนินการผิดกฎหมายของประเทศ และเป็นช่องทางการเรียกรับผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องจนนำมาซึ่งปัญหาการคอร์รัปชั่นในที่สุด
มูลนิธิ-สมาคมมีกว่า 3 หมื่นแห่ง
นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองสั่งการให้ทุกจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการตรวจสอบมูลนิธิและสมาคมต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อทราบถึงข้อมูลว่ามีมูลนิธิเปิดดำเนินการอยู่จริงมากน้อยแค่ไหน และยังมีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ จริงหรือไม่ อีกทั้งการดำเนินงานของมูลนิธิ-สมาคมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตอนขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิหรือสมาคมหรือไม่ อย่างไร
จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 เมษายน 2566 พบว่ามี “มูลนิธิ” ทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) จำนวน 9,736 แห่ง แบ่งเป็นดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวน 7,966 แห่ง และมีเหตุให้ยกเลิกมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 131 จำนวน 1,770 แห่ง
โดยจำนวนมูลนิธิใน กทม. จากสำรวจเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ปรากฏมีจำนวน 4,594 แห่ง และกำลังดำเนินการสำรวจอีกรอบ ฉะนั้น จึงคาดว่าน่าจะมีมูลนิธิทั่วประเทศรวมทั้งในเขต กทม. จำนวน 14,330 แห่ง
ส่วนข้อมูล “สมาคม” พบสมาคมทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) จำนวน 13,385 แห่ง ใน กทม. จำนวน 5,121 แห่ง รวมเป็นจำนวน 18,506 แห่ง ในจำนวนนี้มีเหตุให้ยกเลิกสมาคมตาม ป.พ.พ. มาตรา 102 (รวมกรณีสมาคมขอยกเลิกเอง) จำนวน 326 แห่ง แบ่งเป็นสมาคมทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) จำนวน 213 แห่ง และในพื้นที่ กทม. จำนวน 113 แห่ง
ทั้งนี้ ในมาตรา 131 ระบุไว้ว่า นายทะเบียน พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิได้ในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (1) เมื่อปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของมูลนิธิขัดต่อกฎหมาย
(2) เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิกระทำการขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ (3) เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ หรือหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไป
ส่วนมาตรา 102 ระบุไว้ว่า ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อปรากฏในภายหลังการจดทะเบียนว่า วัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ และนายทะเบียนได้สั่งให้แก้ไขแล้ว แต่สมาคมไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด
(2) เมื่อปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ (3) เมื่อสมาคมหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันตั้งแต่สองปีขึ้นไป (4) เมื่อปรากฏว่าสมาคมให้ หรือปล่อยให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการของสมาคมเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคม และ (5) เมื่อสมาคมมีสมาชิกเหลือน้อยกว่าสิบคนมาเป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองปี
ตรวจเข้มจดทะเบียนใหม่
การดำเนินการตรวจสอบมูลนิธิและสมาคมทั่วประเทศนั้น นายแมนรัตน์กล่าวว่า หากมีการตั้งขึ้นโดยไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอจัดตั้ง หรือสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงและเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่จะตามมาภายหลังก็จะถูก “คณะกรรมการตรวจสอบ” ที่เริ่มต้นตั้งแต่นายอำเภอ พิจารณาว่าจะให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ อย่างไร
รวมถึงตรวจสอบตัว “กรรมการ” ของมูลนิธิและสมาคมนั้นด้วยว่า ยังมีอยู่จริงครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่ “ตอนนี้เราตรวจสอบไปได้กว่าครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศแล้ว ได้เสนอให้ยกเลิกไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีมูลนิธิและสมาคมหลายแห่งที่มาขอแจ้งยกเลิกด้วยตัวเองก็มี”
ส่วนมูลนิธิหรือสมาคมใด ๆ ก็ตามที่จะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นใหม่ก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดและละเอียดขึ้น เช่น ผู้ที่จะยื่นขอจดทะเบียนจะต้องมีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ ว่าจะสามารถดำเนินงานมูลนิธิหรือสมาคมได้จริง ต้องมีสถานที่ทำการจริง ชัดเจน
เพราะข้อมูลหลังจากตรวจสอบพบว่ามีมูลนิธิและสมาคมหลายแห่งแอบใช้บ้านและสโมสรต่าง ๆ เป็นที่ทำการ ซึ่งจะถูกเสนอให้ยกเลิกได้ตามระเบียบ นอกจากนี้ ยังต้องมีรายงานผลการดำเนินงานในแต่ละปีให้นายทะเบียนในพื้นที่ทราบ เนื่องจากที่ผ่านมาข้อมูลค่อนข้างหละหลวมและถูกละเลยมาโดยตลอด
เตรียมแก้กฎหมายหลังเลือกตั้ง
ล่าสุดทางกระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างกฎหมาย ปรับปรุง แก้ไข เกี่ยวกับเรื่องมูลนิธิและสมาคม โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณา มีข้อกำหนดข้อบังคับหลายส่วนที่อาจจะล้าสมัยเกินไป ซึ่งมูลนิธิและสมาคมปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายใหญ่ ดังนั้น การดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายคงต้องใช้เวลาดำเนินการนานพอสมควร
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งรัดลำดับต้น ๆ ของกระทรวงมหาดไทย เรากำลังศึกษาอยู่ว่า จะขอแก้ไขในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิและสมาคมเลย หรือออกระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วดึงเรื่องนี้ออกมาเฉพาะ เนื่องจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิและสมาคมจะเกี่ยวพันกับกฎหมายปกครองเป็นส่วนใหญ่
ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมากนัก การเสนอเรื่องและเขียนเป็นประมวลกฎหมายเฉพาะน่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมคงต้องรอรัฐบาลที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้ง”
อย่างไรก็ตาม ในการจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิและสมาคม กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุไว้ว่า การจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิ” ใน กทม. ต้องติดต่อที่สำนักงานเขต ในต่างจังหวัดติดต่อที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เอกสารหรือหลักฐานที่ใช้
ได้แก่ 1) รายชื่อเจ้าของทรัพย์สินและรายการทรัพย์สินที่จะจัดสรรทำมูลนิธิ 2) รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการของมูลนิธิทุกคน 3) ข้อบังคับของมูลนิธิ 4) คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินแก่มูลนิธิ ของเจ้าของทรัพย์สิน 5) สำเนาพินัยกรรม
6) สำเนาหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้าน 7) แผนผังโดยสังเขปแสดงที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และที่ตั้งสำนักงานสาขา 8) หนังสืออนุญาตจากเจ้าของ หรือผู้ครอบครองให้ใช้สถานที่ 9) สำเนารายงานการประชุมจัดตั้งมูลนิธิ (ถ้ามี) มีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ 200 บาท
ส่วนการจดทะเบียนจัดตั้ง “สมาคม” สำหรับ กทม. ติดต่อที่สำนักงานเขต ต่างจังหวัดติดต่อที่อำเภอ เอกสาร/หลักฐานที่ใช้ ได้แก่ 1) ข้อบังคับของสมาคม 2) รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้จะเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบคน 3) รายชื่อ ที่อยู่ และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมทุกคน 4) รายงานการประชุมก่อตั้งสมาคม
5) แผนผังที่ตั้งสังเขปของสมาคม ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา 6) หนังสืออนุญาตให้ใช้สถานที่ของสมาคม 7) บัตรประจำตัวประชาชนของผู้จะเป็นกรรมการของสมาคมทุกคน และ 8) แบบรับรองของบุคคลผู้จะเป็นกรรมการของสมาคม ค่าธรรมเนียม ฉบับละ 2,000 บาท โดยการก่อตั้งสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ. มาตรา 78) ลักษณะการจดทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคล เป็นการรวมตัวของกลุ่มบุคคล ผู้จะเป็นสมาชิกของสมาคมจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คนร่วมกันยื่นคำขอ
ช่องโหว่เปิดช่องฟอกเงินเลี่ยงภาษี
เคยมีการศึกษาปัญหาทางกฎหมายต่อการบริหารจัดการมูลนิธิในประเทศไทย พบว่าการจัดตั้งมูลนิธิจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมูลนิธิได้มีการจดทะเบียนแล้วก็จะมีสภาพเป็น “นิติบุคคล” การบริหารจัดการมูลนิธิจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมูลนิธิ การดำเนินการของมูลนิธิโดยคณะกรรมการมูลนิธิ จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่อยู่ในข้อบังคับ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาก็คือ เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วไม่มีการดำเนินกิจการใด ๆ ก็มี
นอกจากนี้แล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังกำหนดวัตถุประสงค์ของการตั้งมูลนิธิไว้ว่า “เพื่อการกุศลสาธารณะ” เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมีการนำมูลนิธิมาดำเนินการทางธุรกิจเพื่อการค้าขายหรือแสวงหาผลกำไร ในประเด็นนี้หากไม่มีการนำกำไรมาแบ่งปันจะทำได้หรือไม่ อย่างไร เพราะมูลนิธิมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และการจัดตั้งจะต้องเป็นเพื่อการกุศลสาธารณะ
ส่วนกรณีการใช้อำนาจหน้าที่ของกรรมการมูลนิธินั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบในการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่การตั้งมูลนิธิเพื่อบังหน้า และตั้งขึ้นมาเพื่อปกปิดการกระทำความผิด อาทิ การใช้มูลนิธิเพื่อฟอกเงิน หรือหลีกเลี่ยงภาษีอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน