พบสาขามูลนิธิจีนเทาที่อีสาน “มหาดไทย” เส้นตายแก้ กม.เสร็จ มี.ค.66

กระทรวงมหาดไทยเร่งแก้กฎหมายป้องกันการใช้ชื่อมูลนิธิ-สมาคมแอบอ้างใช้เป็นแหล่งฟอกเงิน-ออกหนังสือรับรองอาสาสมัคร กำหนดเส้นตายให้เสร็จภายในเดือนมีนาคมก่อนส่งคณะพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ล่าสุดพบ 4 มูลนิธิจีนเทาที่เชียงใหม่ ขยายสาขาลงภาคอีสานเพียบ ตรวจสอบพบเป็นสาขาร้าง ไม่มีตัวตน ใช้รับรองอาสาสมัครขอวีซ่าเท่านั้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กรณี การใช้ “มูลนิธิ-สมาคม” ใช้ชื่อสมาคมและมูลนิธิโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือบางกรณีมีการขออนุญาตถูกต้อง แต่มีการเรี่ยไรและใช้เป็นแหล่งฟอกเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย การออกหนังสือรับรองอาสาสมัครเพื่อขอวีซ่า ว่าได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 4 เรื่อง ได้แก่ การจดตั้งสมาคม-มูลนิธิ การพนันออนไลน์ และการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดนอมินี

“หลายเรื่องเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ยกตัวอย่าง เรื่องจัดตั้งมูลนิธิ-สมาคม ที่ใช้ทุนตั้งต้นในการจดทะเบียนเพียงแค่ 200,000 บาท ข้อนี้ควรจะมีทุนจดทะเบียนมากขึ้น เพื่อให้จดยากขึ้น ต้องปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบันและมีวัตถุประสงค์การช่วยเหลือสังคม เรื่องการพนันต้องยกร่างระเบียบกฎหมายปรับปรุงใหม่ รวมทั้งบทลงโทษก็ไม่ครอบคลุม เรื่องที่ดินก็ด้วย หากพบผู้กระทำผิดหรือเป็นนอมินีต้องปรับบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น หรือ พ.ร.บ.เรี่ยไรที่มีโทษปรับแค่ 200 บาทก็น้อยไป ทั้งหมดนี้จะต้องจบภายในเดือนมีนาคม 2566 และส่งให้คณะพิจารณาปรับปรุงกฎหมายพิจารณา”

จากการตรวจสอบของกรมการปกครอง ใน 50 จังหวัดพบว่า มีมูลนิธิที่จดทะเบียนรวม 5,985 แห่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย 5,221 แห่ง และมีมูลนิธิที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดหรือมีเหตุให้ร้องขอต่อให้ศาลให้เลิกมูลนิธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 764 แห่ง ทางกรมการปกครองกำลังพิจารณาเพิ่มรายละเอียดเงื่อนไขการยื่นขอจัดตั้งมูลนิธิ สมาคม ให้เข้มงวดและรัดกุมขึ้น เพราะถือได้ว่า การลักลอบกระทำความผิดกฎหมายโดยใช้มูลนิธิ สมาคมนั้น “เป็นภัยความมั่นคงในรูปแบบใหม่”

ด้านนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวความคืบหน้ากรณีมูลนิธิที่การดำเนินกิจการมิชอบด้วยการออกหนังสือรับรองความเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิอันเป็นเท็จในจังหวัดเชียงใหม่-เชียงรายรวมแล้ว 5 แห่งโดยที่จังหวัดเชียงใหม่มีหนังสือแจ้งให้พนักงานอัยการร้องขอให้มีคำสั่งเลิกมูลนิธิแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) มูลนิธิรักษ์ป่า 2) มูลนิธิกรีนคลีนเอิร์ธ 3) มูลนิธิรักภาษา 4) มูลนิธิครีเอทิ่งบาลานซ์ และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมจาก ตม. อีก 1 แห่ง คือ มูลนิธิผลแผ่นดิน ส่วนในจังหวัดเชียงรายมีจำนวน 1 แห่ง คือ มูลนิธิสมาร์ทชีด ได้พิจารณาอนุญาตให้เลิกแล้ว

นายอนุพงษ์ ขัติยะ เจ้าพนักงานปกครอง ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งตรวจสอบการดำเนินงานของมูลนิธิและสมาคมทุกแห่งที่จดทะเบียนอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 853 แห่งกระจายอยู่ใน 25 อำเภอ มีการปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่เป็นข้อบังคับหรือไม่และเข้าข่ายมีความเกี่ยวโยงกับ “กลุ่มจีนเทา” หรือไม่ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจำนวนมูลนิธิ-สมาคมที่จัดตั้งขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ณ ปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 853 แห่ง กระจายอยู่ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่พบ 23 มูลนิธิ-สมาคมที่เตรียมเลิกมูลนิธิและมีเหตุต้องเลิก

“ในจำนวนมูลนิธิทั้ง 23 แห่งจากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมีมูลนิธิจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิรักษ์ป่า มูลนิธิกรีน คลีน เอิร์ท มูลนิธิครีเอทิ่ง บาลานซ์ และมูลนิธิรักภาษา มีข้อมูลปรากฏชัดเจนเกี่ยวโยงกับ ‘กลุ่มจีนเทา’ อย่างแน่นอนและได้ส่งดำเนินการตามขั้นตอนให้ยกเลิกของกฎหมายแล้ว โดยอาสาสมัครชาวจีนของมูลนิธิ 1 ใน 4 แห่งนี้เข้าไปถือหุ้นในคลับชื่อดังเมืองพัทยาที่เกี่ยวโยง ‘กลุ่มจีนเทา’ และยังได้ตรวจสอบมูลนิธิ-สมาคมที่เหลืออีก 19 แห่ง ว่ามีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มจีนเทาหรือไม่ด้วย”

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า มูลนิธิทั้ง 4 แห่งที่เชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มจีนเทาและกำลังถูกแจ้งยกเลิก ปรากฏมีการขยายสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการสอบถามไปยังสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งว่า ทางสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ให้เร่งตรวจสอบความผิดปกติของมูลนิธิรักษ์ป่า กับมูลนิธิรักภาษา ที่มีการขยายสาขามาก่อตั้งที่จังหวัดนครราชสีมา พบในส่วนของ “มูลนิธิรักษ์ป่า” มีการจดทะเบียนที่อยู่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ชื่อหมู่บ้านอยู่สบาย 9 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง

จากการเข้าตรวจพบเป็นสภาพบ้านจัดสรร ไม่มีผู้อยู่อาศัย ไม่มีสิ่งของใด ๆ เป็นบ้านลักษณะปิดตาย ส่วน “มูลนิธิรักภาษา” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรโครงการหมู่บ้านอยู่สบาย 12 ต.หัวทะเล อ.เมือง มีผู้อยู่อาศัยเป็นครอบครัว สอบถามจากผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่า มีคนซื้อบ้านหลังนี้ไว้ แล้วปล่อยให้เช่าเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็ปล่อยขายให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ตอนนี้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับมูลนิธิรักภาษาเลย แต่เป็นการซื้อบ้านมือ 2 เพื่ออยู่อาศัย

ส่วนที่จังหวัดอุดรธานี นายวันชัย จันทร์เกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลนิธิรักษ์ป่า ที่มีสำนักงานสาขาของมูลนิธิอยู่ที่ จ.อุดรธานี ตั้งอยู่ที่ซอยบ้านเก่าจาน ต.หมากแข้ง ซึ่งปัจจุบันสถานที่ตั้งดังกล่าวไม่มีสิ่งบ่งบอกว่า เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิแต่อย่างใด “ทางจังหวัดอุดรฯได้แจ้งให้นายทะเบียนเชียงใหม่ทราบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ไม่ได้มีการออกหนังสือรับรองให้แก่อาสาสมัครชาวต่างประเทศที่ปฏิบัติในมูลนิธิ”

สอดคล้องกับที่จังหวัดแพร่มีการตรวจสอบสาขาของมูลนิธิรักภาษา ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ พบแจ้งการขอเปิดสำนักงานมูลนิธิในพื้นที่อำเภอสองจำนวน 4 มูลนิธิ โดย พ.ต.อ.บำรุง น้อมเศียร ผู้กำกับการ สภ.สอง กล่าวว่า มีเพียงการเช่าสำนักงานทิ้งไว้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี โดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ เป็นอาคารพาณิชย์ของคนในพื้นที่อำเภอสอง ทั้งนี้หลังจากถูกดำเนินคดีจากส่วนกลางแล้วได้ทำการปิดไปอย่างถาวร

ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ยังไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับมูลนิธิของชาวต่างชาติตามที่เป็นข่าว ส่วนขบวนการตรวจสอบของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็ยังไม่มีข้อมูล มีเพียงมูลนิธิที่ปฏิบัติไม่ถูกระเบียบอยู่บ้างแล้วแต่กรณี เช่น บางแห่ก่อตั้งมานาน กรรมการคนเก่าล้มหายตายจาก คนใหม่เข้ามาบริหารต่อไม่รู้ระเบียบเดิม

“จากการตรวจสอบนับร้อยแห่งเกือบทุกอำเภอในจังหวัดยังไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัด เราตรวจสอบมาตลอดตั้งแต่เป็นข่าวก็ยังไม่พบ ชาวต่างชาติที่ต้องต่อวีซ่าโดยผ่านการรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีไม่ถึง 20 รายด้วยซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและไม่ใช่เฉพาะคนจีนเพียงอย่างเดียวมีทั้งคนยุโรป เยอรมัน ก็มีไม่น้อย” นายไกรสรกล่าว 6