บัตรอีลิทการ์ดปรับใหญ่ เพิ่มสิทธิประโยชน์สกัดลูกค้าต่างชาติสีเทา

อีลิทการ์ด

“ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” จ่อยกเครื่องพร้อมรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ มุ่งทำการตลาดเชิงรุกเจาะรายประเทศ ลดประเภทบัตร ปรับราคา-สิทธิประโยชน์ สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ พร้อมแข่งขันในระดับโลกได้ เผยเตรียมรีลอนช์ภาพลักษณ์ใหม่ปลายปีนี้ ตั้งเป้าอีก 3 ปียอดขายทะลุ 5 หมื่นใบ ยันตรวจสอบ “ต่างชาติสีเทา” เข้ม

นายมนาเทศ อันนวัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ผู้ให้บริการโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด หรือ “อีลิทการ์ด” เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนรีแบรนด์เพื่อปรับภาพลักษณ์บัตรสมาชิกไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ครั้งใหญ่ โดยปรับลดประเภทบัตร ปรับราคา รวมถึงปรับสิทธิประโยชน์ของบัตรสมาชิกแต่ละประเภท

ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและสอดรับกับตลาดและไลฟ์สไตล์สมาชิกแต่ละประเทศให้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเปิดภาพลักษณ์ใหม่ได้ในช่วงไตรมาส 4/2566

รวมถึงปรับรูปแบบวิธีการทำการตลาดในเชิงรุกและโฟกัสรายประเทศมากขึ้น เพื่อให้สามารถสื่อสารด้านการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ในสถานที่สำคัญและกิจกรรมสำคัญในต่างประเทศ เช่น ป้ายโฆษณาในย่านไทม์สแควร์ พร้อมใช้อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อต่างประเทศร่วมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

“บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์ของบัตรให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในยุคใหม่ ซึ่งมองหาประสบการณ์ที่แตกต่างและเหนือระดับมากขึ้น พร้อมกันนี้บริษัทยังเปิดกว้างต้อนรับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เข้ามาทำการตลาดร่วมกันมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ในตลาดโลกด้วย”

นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ใหม่ โดยเน้นการสื่อสารผ่านโครงการเพื่อสังคม (CSR) ควบคู่ไปกับการปรับใช้แนวคิด ESG ในการบริหารจัดการ อีกทั้งเตรียมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น เพิ่มคู่สายคอลเซ็นเตอร์ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการองค์กรมากยิ่งขึ้น

นายมนาเทศกล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปี 2566 (ต.ค. 65- มี.ค. 66) บริษัทมียอดขายบัตรจำนวน 5,041 ใบ เพิ่มขึ้น 254% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งมียอดขายบัตรอยู่ที่ 1,950 ใบ สร้างรายได้โดยตรง 3,147 ล้านบาท เติบโต 262% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งทำรายได้อยู่ที่ราว 1,200 ล้านบาท

โดยยอดขายบัตรดังกล่าวแบ่งเป็นชาวจีน 38% หรือราว 1,900 ใบ, ชาวญี่ปุ่น 8%, ชาวอเมริกัน 6%, สหราชอาณาจักร 5%, เกาหลีใต้ 5%, รัสเซียประมาณ 3%

ทั้งนี้ ตั้งเป้ายอดขายบัตรตลอดปีงบประมาณ 2566 ไว้จำนวน 10,000 ใบ เติบโต 100% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สร้างรายได้จากการขายบัตรที่ 6,000-7,000 ล้านบาท และคาดว่าหากเป้าหมายดังกล่าวสำเร็จลุล่วง จะสามารถสร้างได้เข้าประเทศไทยจากชาวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

“เราคาดว่าภายในสิ้นปีงบประมาณนี้จะมีสมาชิกบัตรรวมกันทั้งสิ้น 30,000 คน จากปัจจุบันที่ 24,700 คน และวางแผนภายในระยะเวลา 3 ปี หรือปี 2568 จะมีจำนวนสมาชิกบัตรทั้งสิ้น 50,000 ใบ” นายมนาเทศกล่าว

นายมนาเทศยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันบัตรประเภท “Elite Easy Access” ครองอันดับ 1 ของรายได้จากบัตรทั้งหมด โดยมีสัดส่วน 42% โดยบัตรดังกล่าวถือเป็นบัตรขั้นเริ่มต้น และตั้งราคาขายอยู่ที่ 600,000 บาท แต่จากแนวโน้มตลาดปัจจุบัน พบว่าชาวต่างชาติเริ่มให้ความสนใจบัตรประเภทครอบครัวเพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงวางเป้าหมายว่าจะลดสัดส่วนรายได้จากบัตรประเภทดังกล่าวลงเหลือ 38% และเพิ่มสัดส่วนการขายบัตรประเภทอื่นแทน

“แนวโน้มความต้องการย้ายถิ่นฐานเกิดขึ้นทั่วโลก ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเข้า-ออกพรมแดนของจีนและประเทศไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญของชาวต่างชาติ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินงาน” นายมนาเทศกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายอาจสมัครใช้บัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ นั้น นายมนาเทพกล่าวว่า เดิมบริษัทมีการตรวจสอบผู้สมัครอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว เมื่อมีประเด็นดังกล่าว บริษัทได้ตรวจสอบเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งมีผลต่อการอนุมัติบัตรที่อาจใช้เวลานานมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทมีกระบวนการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมผู้สมัครบัตร โดยเมื่อบริษัทได้รับใบสมัครแล้ว จะส่งต่อข้อมูลให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงในบางประเทศ เช่น จีนจำเป็นต้องส่งข้อมูลไปยังสำนักข่าวกรองแห่งชาติร่วมด้วย เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งใช้ระยะเวลา 7-15 วัน และ 45 วันตามลำดับ