ทัวร์ศูนย์เหรียญคืนชีพ ! รัฐเร่งสกัด นอมินี-รายได้รั่วไหล

ทัวร์ศูนย์เเหรียญ

“ทัวร์ศูนย์เหรียญ” คืนชีพ ! เอเย่นต์จีนโหมขายแพ็กเกจทัวร์เที่ยวไทย ทั้ง “ทัวร์ต่ำกว่าทุน-ทัวร์คิกแบ็ก” ก.ท่องเที่ยวฯรับได้กลิ่นไม่ค่อยดี เรียกประชุมทุกหน่วย เร่งป้องปราม-สกัดนอมินี จัดทำบัญชีรายชื่อบริษัททัวร์ถูกกฎหมายส่งรัฐบาลจีน สทท.ชี้ปัญหาใหญ่ทุบรายได้ท่องเที่ยวรั่วไหล ด้านสมาคม ATTA วอนใช้มาตรการแบบเป็นขั้นเป็นตอน เลิกไล่จับไกด์เถื่อนรายวัน หวั่นกระทบการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวโดยรวม ททท.ยันพร้อมร่วมแก้ไขปัญหา หวังได้นักท่องเที่ยวคุณภาพ เผยไตรมาสแรกจีนเข้ามาแล้ว 5 แสนคน “กรุ๊ปทัวร์” เริ่มไหลเข้าแล้ว

นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเปิดประเทศให้กรุ๊ปทัวร์ออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้ตั้งแต่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัทนำเที่ยว (เอเย่นต์ทัวร์) ในฝั่งจีนจำนวนหนึ่งโหมโปรโมตขายแพ็กเกจทัวร์เที่ยวไทยที่มีราคาต่ำกว่าต้นทุน หรือที่เรียกกันว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” กันอีกครั้ง

จากการมอนิเตอร์ข้อมูลพบว่าแพ็กเกจทัวร์ที่เอเย่นต์ฝั่งจีนโฆษณาขายในช่วงเปิดประเทศส่วนใหญ่มีระดับราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นทุนการดำเนินงานในสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดว่าน่าจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง

เรียกประชุมตั้งรับ-ป้องปราม

นายอารัญกล่าวว่า เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ดีเอสไอ กระทรวงแรงงาน ฯลฯ รวมถึงสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ มาร่วมประชุมหารือ เพื่อเตรียมพร้อมและป้องปรามไม่ให้สถานการณ์ของทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือทัวร์ต่ำกว่าทุน กลับสู่วงจรเดิมเหมือนเมื่อครั้งก่อนวิกฤตโควิด

แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ย้ำมาตลอดว่าให้กระทรวงดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และเป็นเจ้าบ้านที่ดี นับตั้งแต่ทำการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

นอกจากนี้ยังเป็นข้อตกลงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ไปพบกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีน ในช่วงที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปโรดโชว์ ณ นครเซี่ยงไฮ้ นครเฉิงตู และนครกว่างโจว เมื่อวันที่ 20-24 ก.พ.ที่ผ่านมา

โดยนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวจีนก็ไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ศูนย์เหรียญในประเทศไทยเช่นกัน โดยได้ขอความร่วมมือให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลนักท่องเที่ยว 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.คุณภาพนักท่องเที่ยว 2.ความปลอดภัย และ 3.ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์ ไม่เน้นแต่เรื่องช็อปปิ้ง

“ยุคก่อนที่มีการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ รัฐบาลไทยได้เจรจากับทางการจีน และมีการกำหนดราคาทัวร์ขั้นต่ำร่วมกัน ซึ่งจีนเองก็ต้องการจะปรามกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำทัวร์ต่ำกว่าทุนเช่นกัน ส่วนการประชุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาคเอกชนเสนอว่า ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายอะไรเพิ่มเติม เพียงแต่ขอบังคับใช้เอ็มโอยูที่มีอยู่ให้เข้มข้นขึ้นก็พอ” นายอารัญกล่าว

ต้นตอปัญหา “นอมินี”

นายอารัญกล่าวว่า ปัญหาหลัก ๆ ทั้งเรื่องไกด์เถื่อน รวมถึงนอมินี ฯลฯ มีต้นทางจากทัวร์ศูนย์เหรียญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาถือครองธุรกิจร้านจิวเวลรี่ ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ สุดท้ายปัญหาจะพันกันเป็นลูกโซ่ ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยว 3 ล้านล้านบาท เกิดการรั่วไหลไปอยู่ในกลุ่มนายทุนนอมินี หรือไหลออกนอกประเทศ

ซึ่งปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวถูกหลอกเข้าร้านช็อปปิ้ง ไม่มีความปลอดภัย ฯลฯ ล้วนเกิดจากการที่ต้นทางเน้นขายทัวร์ราคาถูก ๆ มาต่ำกว่าต้นทุน บางกรณียังมีการขายแบบซื้อหัวล่วงหน้า ซึ่งรูปแบบเหล่านี้ผู้ประกอบการที่ทำทัวร์ต้องวางแผนแบบเป็นขั้นเป็นตอน และหาวิธีการให้ได้ต้นทุนคืนและมีกำไร

ด้าน นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาการขายทัวร์ราคาต่ำกว่าทุนและการประกอบธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะตัวแทนอำพราง (nominee) กรมการท่องเที่ยวจะสร้างกลไกความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเบาะแสและเอกสารเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายของบริษัทนำเที่ยวและบุคลากรด้านการท่องเที่ยว

รวมถึงทำการรับขึ้นทะเบียนรายชื่อบริษัทนำเที่ยวสำหรับตลาดท่องเที่ยวจีน หากบริษัทใดไม่ต่ออายุใบอนุญาตจะถูกคัดรายชื่อออกก่อนส่งมอบบัญชีรายชื่อคู่ค้าไทย-จีน List of Tour Operator Companies (Partner Companies) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการตรวจสอบรายชื่อบริษัทนำเที่ยวที่ถูกต้องตามกฎหมาย และประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวจีนเลือกซื้อทัวร์กับบริษัทนำเที่ยวที่ขึ้นทะเบียนไว้

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลจีนแนะนำนักท่องเที่ยวของตัวเองเลือกซื้อทัวร์ที่มีคุณภาพ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ซื้อทัวร์ที่ราคาต่ำกว่าทุน หรือราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับโปรแกรมนำเที่ยวใกล้เคียงกัน ไม่หลงเชื่อการรับจองโปรแกรมทัวร์ข้ามปีที่ราคาถูกมากเกินไป หรือมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มหลังจองไปแล้ว และต้องจ่ายมัดจำเต็มจำนวน

ซึ่งรัฐบาลจีนก็ยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการตรวจสอบอย่างรัดกุม หากพบชาวจีนก่อปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ฝ่าย จะดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศจีนต่อไป

“จีน” กินรวบ-รายได้รั่วไหล

นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยอมรับว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ รวมถึงทัวร์คิกแบ็ก หรือทัวร์ซื้อหัวของตลาดจีน มีแนวโน้มกลับมาอีกครั้ง และคาดว่าจะเดินทางเข้ามาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หลังจีนเปิดประเทศเอเย่นต์ทัวร์ฝั่งจีนก็เริ่มกลับมาทำการตลาดอีกครั้ง

หลังจากไม่ได้ทำตลาดกันมา 3 ปีเต็ม ๆ ทั้งในรูปแบบเข้ามาสร้างเครือข่ายเอง และหาพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายของตัวเองเป็นหลัก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถทำธุรกิจได้ภายใต้งบประมาณที่มาต่ำกว่าทุน ทำให้ผู้ประกอบการสัญชาติไทยจริง ๆ ยังไม่ได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีนมากนัก

“ประเด็นที่น่ากลัวของระบบทัวร์ศูนย์เหรียญคือ โครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยวที่บิดเบี้ยว สร้างปัญหา สร้างความไม่เชื่อมั่น ทำให้เกิดระบบมาเฟียและเกิดเป็นอั้งยี่ทางการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว”

นายสุรวัชกล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากแผนการพัฒนาท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) ระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศส่วนหนึ่งต้องสูญเสียไปกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น เนื้อสัตว์ สุรา เบียร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงค่าธรรมเนียมสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อนำไปประกอบการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกส่วนที่สูญเสียดังกล่าวนี้ว่า “ส่วนรั่วไหลทางการท่องเที่ยว” หรือ tourism leakage

โดยประเมินการรั่วไหลทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยในภาพรวมของปี 2559 ว่ามีสัดส่วนถึง 28.37% หากคำนวณรายได้ปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3 ล้านล้านบาท มูลค่ารายได้ที่เกิดการรั่วไหลคิดเป็นมูลค่ามากถึงกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่รวมการรั่วไหลจากปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญและทัวร์คิกแบ็ก

“ประเด็นการรั่วไหลของรายได้ท่องเที่ยวนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดมากว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศนั้น เงินรายได้ไปอยู่ที่ไหนบ้าง ขณะที่ต้นทุนสำคัญของภาคการท่องเที่ยวคือทรัพยากรของประเทศเกิดการสูญเสียทุกปี” นายสุรวัชกล่าว

ATTA หวั่นกระทบการฟื้นตัว

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เห็นด้วยกับนโยบายตั้งรับและป้องปรามทัวร์ต่ำกว่าทุนของภาครัฐ แต่อยากให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีแผนงานที่ชัดเจน โดยเรียกผู้ประกอบการทัวร์จีนเข้ามารับฟังนโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับรู้กฎกติกา การทำธุรกิจที่ชัดเจนร่วมกัน

ไม่ใช่ใช้วิธีการไล่จับไกด์เถื่อนรายวันเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวจีนในภาพรวม และส่งผลกระทบลามไปยังตลาดอื่น ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังไม่เจอว่ามีกระบวนการขายแพ็กเกจทัวร์ต่ำกว่าทุนตามที่หลายฝ่ายกังวล แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เนื่องจากจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน อาจมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งทดลองทำราคาเพื่อเปิดตลาดและดึงดูดนักท่องเที่ยวออกเดินทางในช่วงเปิดประเทศ ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการคนหนึ่งก็คอยมอนิเตอร์ตลาดต่อเนื่องเช่นกัน

“ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามา ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง ส่วนกรุ๊ปทัวร์ยังมีจำนวนน้อยมาก แต่เชื่อว่ากลุ่มกรุ๊ปทัวร์จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกจนทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางไปเที่ยวประเทศอื่นแทน” นายศิษฏิวัชรกล่าว

Q1 จีนเที่ยวไทย 5 แสนคน

นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 1/2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 6 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ราว 62% นักท่องเที่ยวตลาดระยะไกลราว 38%

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยแล้วราว 5 แสนราย สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3 แสนราย และคาดว่าไตรมาส 2/2566 จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนรวมไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนเช่นกัน โดยเฉพาะในเดือนเมษายนประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยที่ประมาณ 2.5 แสนคน

นายธเนศวร์กล่าวว่า สำหรับการจัดการและการแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่วนหนึ่งก็คือ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งผู้มีอำนาจตามกฎหมาย คือ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่มีอำนาจการออกหรือระงับใบอนุญาตแก่มัคคุเทศก์และบริษัทนำเที่ยว ส่วน ททท.ไม่ได้มีอำนาจทางกฎหมายโดยตรง แต่มีหน้าที่หานักท่องเที่ยวและเร่งดีมานด์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ททท.จะร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการตรวจสอบบริษัททัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถนำนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามา และประสานงานกับสถานทูตและสถานกงสุลไทย เพื่อช่วยคัดกรองนักท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นทางระหว่างที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาขอวีซ่าด้วย


“ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาน่าจะเป็น FIT 65% กรุ๊ปทัวร์ยังเดินทางมายาก เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องไฟลต์ แต่หลังจากปีนี้เป็นต้นไป สัดส่วนจะขยับมาใกล้ ๆ กัน เหมือนปี 2562 โดยมั่นใจว่าทั้งปีจะมีราว 5 ล้านคน” นายธเนศวร์กล่าว