นิด้าโพลเผยความเห็นประชาชน ผิดวินัยจราจร ควรจัดการอย่างไร ?

NIDA Poll นิด้าโพล จราจร การจราจร

นิด้าโพลเผยผลสำรวจความเห็นประชาชน เรื่องการผิดวินัยจราจร มองคนไทยไม่ค่อยมีวินัยจราจร อยากให้กวดขัน “เมาไม่ขับ” มากสุด-ใช้ระบบลงโทษตามความผิด จากเบาไปหนัก

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ผิดวินัยจราจร จัดการอย่างไรดี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับวินัยจราจรของคนไทย

จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการมีวินัยจราจรของคนไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 48.17 ระบุว่า คนไทยไม่ค่อยมีวินัยจราจร รองลงมา ร้อยละ 33.21 ระบุว่า คนไทยค่อนข้างมีวินัยจราจร ร้อยละ 14.73 ระบุว่า คนไทยไม่มีวินัยจราจรเลย และร้อยละ 3.89 ระบุว่า คนไทยมีวินัยจราจรที่ดีมาก

ด้านสิ่งที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันวินัยจราจร พบว่า

  • ร้อยละ 67.10 ระบุว่า ขับรถขณะเมาสุรา
  • ร้อยละ 58.17 ระบุว่า ขับรถย้อนศร
  • ร้อยละ 45.57 ระบุว่า ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
  • ร้อยละ 35.19 ระบุว่า ไม่สวมหมวกกันน็อกขณะขับขี่หรือซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์
  • ร้อยละ 33.05 ระบุว่า ขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • ร้อยละ 26.03 ระบุว่า ขับรถหรือจอดรถบนทางเท้า (ฟุตปาท)
  • ร้อยละ 24.35 ระบุว่า ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
  • ร้อยละ 15.19 ระบุว่า ขับรถแซงในที่ห้ามแซง (เช่น แซงบนสะพาน แซงบริเวณทางโค้ง แซงในเส้นทึบ)
  • ร้อยละ 12.75 ระบุว่า ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่
  • ร้อยละ 10.99 ระบุว่า ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ
  • ร้อยละ 8.78 ระบุว่า ดัดแปลงหรือแต่งรถในลักษณะไม่ปลอดภัย
  • ร้อยละ 7.63 ระบุว่า จอดรถในที่ห้ามจอด หรือจอดรถในช่วงเวลาห้ามจอด
  • ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในขณะขับรถ
  • ร้อยละ 4.73 ระบุว่า ขับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด
  • ร้อยละ 2.52 ระบุว่า การขายของบนถนน และขับรถในช่วงเวลาห้ามวิ่ง (รถบรรทุก 6 ล้อ ขึ้นไป) ในสัดส่วนที่เท่ากัน

สำหรับวิธีการบังคับใช้กฎหมายจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้การทำความผิดน้อยลงหรือหมดไป พบว่า

  • ร้อยละ 42.74 ระบุว่า ลงโทษตามความผิดที่ได้กระทำ โดยเริ่มจากเบาไปหาหนัก (เช่น ครั้งที่ 1 ตักเตือน ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 บาท และตัดแต้ม ครั้งที่ 3 ปรับ 2,000 บาท และตัดแต้ม ไปจนถึงขั้นสูงสุดพักใช้ใบอนุญาตขับขี่)
  • ร้อยละ 19.92 ระบุว่า ตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม
  • ร้อยละ 19.47 ระบุว่า ตักเตือนสำหรับผู้ทำความผิดครั้งแรก หากทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้ลงโทษตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้น ๆ
  • ร้อยละ 10.00 ระบุว่า จับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยมีการกำหนดอัตราโทษตายตัวสำหรับข้อหานั้น ๆ
  • ร้อยละ 6.95 ระบุว่า จับกุมหรือออกใบสั่งทุกกรณี โดยอัตราโทษให้เป็นไปตามดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม
  • ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อการให้ประชาชนสามารถแจ้งความผู้ทำผิดกฎจราจรด้วยการส่งหลักฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี (เช่น ภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหว) พบว่า

ADVERTISMENT
  • ร้อยละ 47.40 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
  • ร้อยละ 31.91 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
  • ร้อยละ 10.38 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
  • ร้อยละ 10.31 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย

เมื่อถามผู้ที่เห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยกับการให้ประชาชนสามารถแจ้งความผู้ทำผิดกฎจราจรด้วยการส่งหลักฐานให้ตำรวจ เพื่อดำเนินคดี (จำนวน 1,039 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับ การแบ่งสินไหมค่าปรับให้กับประชาชนผู้แจ้งความดำเนินคดีผู้ทำผิดกฎจราจร พบว่า

  • ร้อยละ 34.35 ระบุว่า เห็นด้วยมาก
  • ร้อยละ 31.57 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย
  • ร้อยละ 17.81 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย
  • ร้อยละ 14.73  ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย
  • ร้อยละ 1.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงวิธีการที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด หากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ดีที่สุด พบว่า

ADVERTISMENT
  • ร้อยละ 44.58 ระบุว่า รถที่มีการติดกล้องบันทึกเหตุการณ์ ให้สามารถเคลื่อนย้ายรถได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอเจ้าหน้าที่
  • ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปถึงในจุดที่มีอุบัติเหตุให้เร็วที่สุด
  • ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ให้ตัวแทนประกันภัยเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด
  • ร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ