กรมอุตุฯ อัพเดตเส้นทางพายุลูกใหม่-โซนร้อนแคมี เตือนฝนตกหนัก 60-70%

พายุโซนร้อน
พายุโซนร้อน "พระพิรุณ (PRAPIROON)" และ พายุโซนร้อน "แคมี (GAEMI)"
อัพเดตล่าสุด 22 กรกฎาคม 2567 เวลา 06.03 น.

กรมอุตุฯอัพเดตเส้นทางพายุ 2 ลูกใหม่ เผยพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “พระพิรุณ” จ่อเข้าทางจีนตอนใต้ ขณะที่พายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)” กำลังเคลื่อนตัวขึ้นทางทิศเหนือ คาดแรงขึ้นเป็นพายุใต้ฝุ่น ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย เตือนเกือบทุกภาค รวม กทม.และปริมณฑลยังมีฝนฟ้าคะนอง-ตกหนัก 60-70% ของพื้นที่ อิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ภาคตะวันออกตกหนัก-เสี่ยงท่วมฉับพลัน

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2567กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลักษณะอากาศทั่วไปร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

พายุดีเปรสชัน และ พายุโซนร้อน "แคมี(GAEMI)"
พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ และพายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)”

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน โดยมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 21-23 ก.ค. 67 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

ADVERTISMENT

 

กรมอุตุนิยมวิทยายังอัพเดตและวิเคราะห์แผนที่อากาศผิวพื้น ภาพถ่ายดาวเทียม และเรดาร์เช้าวันนี้ (21/7/67) : ว่า ร่องมรสุม เริ่มเอียง ๆ เมฆมาก ฝนยังปกคลุมภาคตะวันออก (จันทบุรี ตราด) ส่วนพายุบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีพายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)” คาดว่าจะแรงขึ้นได้อีก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือ

ADVERTISMENT

ส่วนพายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้ กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และอ่อนกำลังลงเมื่อถึงชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ทิศทางของพายุทั้ง 2 ลูก ไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จีงไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย

สำหรับฝั่งอันดามันตอนบน มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุม คลื่นลมบริเวณอันดามันตอนบนมีกำลังแรง ต้องระวัง

พายุดีเปรสชัน และ พายุโซนร้อน "แคมี(GAEMI)"

อัพเดตพายุ 2 ลูกใหม่ “พระพิรุณ-แคมี”

ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (22 ก.ค. 67) กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า พายุดีเปรสชั่นลูกดังกล่าว มีชื่อว่า พายุโซนร้อน “พระพิรุณ (PRAPIROON)” (พระพิรุณ (PRAPIROON) : หมายถึง ชื่อเทพเจ้าแห่งฝน ตั้งชื่อโดยประเทศไทย นับเป็นพายุลูกที่ 4 ของ RSMC TOKYO)

ล่าสุดพายุได้เคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหลหลำ คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีนในวันนี้ (22/7/67) และอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น ตามลำดับ และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ต่อไป เตือนผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไหหลำและจีนตอนใต้ ต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง

ส่วนพายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)” ทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ในมหาสมุทรแปซฟิก มีกำลังแรงขึ้นเป็นโซนร้อนรุนแรง และคาดว่าจะแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ และเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนทางด้านตะวันออกต่อไป

ทั้งนี้พายุทั้ง 2 ลูกไม่มีผลกระทบกับประเทศ แต่ฝนที่ตกอยู่ในขณะนี้มาจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุม (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)

 พายุโซนร้อน "พระพิรุณ (PRAPIROON)" และ พายุโซนร้อน "แคมี (GAEMI)"
พายุโซนร้อน “พระพิรุณ (PRAPIROON)” และพายุโซนร้อน “แคมี (GAEMI)”

พยากรณ์อากาศเวลา 06.00 น. วันนี้ ถึง 06.00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ตาก และเพชรบูณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดบึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร
อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ตั้งแต่จังหวัดระนอง ขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ตั้งแต่จังหวัดพังงา ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพฯและปริมณฑล

มีฝนหรือฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ลิ่มความกดอากาศสูงจากซีกโลกใต้ปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย ประกอบกับมีพายุโซนร้อน "พระพิรุณ" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่วนพายุโซนร้อนกำลังแรง "GAEMI" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
อธิบายภาพ : ลิ่มความกดอากาศสูงจากซีกโลกใต้ปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย ประกอบกับมีพายุโซนร้อน “พระพิรุณ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่วนพายุโซนร้อนกำลังแรง “GAEMI” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

ออกประกาศ 22 กรกฎาคม 2567