ประกันสังคม แจ้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ลดส่งอัตราเงินสมทบ 42 จังหวัด นาน 6 เดือน

ประกันสังคม

“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน แจงมาตรการลดเงินสมทบและขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ ช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ในพื้นที่ประสบอุทกภัย จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 นาน 6 เดือนในพื้นที่ 42 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ชี้ช่วยลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตนได้กว่า 7 พันล้านบาท

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดคณะกรรมการประกันสังคมได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการ เพื่อให้การช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 42 จังหวัด โดยเร่งด่วน รายละเอียดดังนี้

1. ลดอัตราเงินสมทบ ช่วงระยะเวลา 6 งวดเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 รายละเอียดดังนี้

– อัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราร้อยละ 5 ลดเหลืออัตราร้อยละ 3 เช่น ค่าจ้าง 15,000 เดิมต้องจ่าย 750 บาทต่อเดือน ในงวดที่ได้รับการลดหย่อนจ่ายเพียง 450 บาทต่อเดือน

– อัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมอัตราร้อยละ 9 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทต่อเดือน ลดลงเหลืออัตราเงินสมทบร้อยละ 5.9 เท่ากับจ่ายเงินสมทบ 283 บาทต่อเดือน

2. ขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม โดยขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับงวดการส่งเงินสมทบ 4 งวดของเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ดังนี้

Advertisment

– ค่าจ้างงวดเดือนกันยายน 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 ตุลาคม 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 มกราคม 2568

– ค่าจ้างงวดเดือนตุลาคม 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 พฤศจิกายน 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568

Advertisment

– ค่าจ้างงวดเดือนพฤศจิกายน 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 ธันวาคม 2567 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 มีนาคม 2568

– ค่าจ้างงวดเดือนธันวาคม 2567 เดิมกำหนดส่งเงินสมทบภายใน 15 มกราคม 2568 ขยายระยะเวลาให้ส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 เมษายน 2568

นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า การลดหย่อนเงินสมทบในครั้งนี้ สามารถลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตนได้เป็นจำนวนกว่า 7 พันล้านบาท จำแนกเป็นเงินสมทบฝ่ายนายจ้างจำนวนประมาณ 3,400 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท

สำหรับขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม จะเร่งดำเนินการเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชำระเงินสมทบล่าช้าจากการขยายเวลาการนำส่ง ขอให้นายจ้างจัดทำแบบนำส่งเงินสมทบตามอัตราที่สำนักงานประกันสังคมได้กำหนดลดหย่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับรายชื่อ 42 จังหวัดนั้น คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ และลดหย่อนอัตราเงินสมทบตามพื้นที่ที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (กรณีอุทกภัย) เป็นระยะเวลาหกเดือน ตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2567 – มีนาคม 2568 ฝ่ายละร้อยละ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ในการออกประกาศ กระทรวงแรงงาน จำนวน 42 จังหวัดต่อไป