
กรมอุตุนิยมวิทยา สรุปผลกระทบแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมา ล่าสุดเกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้ว 271 ครั้ง พบขนาดความแรง 3.0-3.9 มากที่สุด 123 ครั้ง ขณะที่ขนาดความแรง 4.0-4.9 มีถึง 58 ครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา โดยกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว สรุปสถานการณ์อาฟเตอร์ช็อก (Aftershocks) แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ว่า ล่าสุดอัพเดตข้อมูล ณ เวลา 14.10 น. วันที่ 2 เมษายน 2568 มีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นแล้วรวมทั้งสิ้น 271 เหตการณ์ (ครั้ง) ดังนี้
ขนาดแผ่นดินไหว/ครั้ง
- ขนาด 1.0-2.9 จำนวน 80 ครั้ง
- ขนาด 3.0-3.9 จำนวน 123 ครั้ง
- ขนาด 4.0-4.9 จำนวน 58 ครั้ง
- ขนาด 5.0-5.9 จำนวน 9 ครั้ง
- ขนาด 6.0-6.9 จำนวน 0 ครั้ง
- ขนาด 7.0 ขึ้นไป จำนวน 1 ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหว (ช่วงวันที่ 1-2 เม.ย. 68) ว่า ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย จำนวน 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา จำนวน 38 ครั้ง และประเทศลาว 1 ครั้ง
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.47 น.เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ขนาด 4.0 ลึกจากผิวดิน 10 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 308 กิโลเมตร และเมื่อเวลา 14.13 น.เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาขนาด 2.8 อยู่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 69 กิโลเมตร (ดูตารางเกิดแผ่นดินไหวประกอบ)
ขนาดแผ่นดินไหวในไทย
- 1 เมษายน 2568 เวลา 23.26 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.8 ที่ ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
- 2 เมษายน 2568 เวลา 01.37 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.3 ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
- 2 เมษายน 2568 เวลา 02.56 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.5 ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน
- 2 เมษายน 2568 เวลา 07.47 น. แผ่นดินไหวขนาด 2.2 ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
- 2 เมษายน 2568 เวลา 08.17 น. แผ่นดินไหวขนาด 1.4 ต.บ้านโป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
กรมอุตุฯระบุว่า ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีและความรู้ในปัจจุบัน จำเป็นต้องการข้อมูลความสั่นสะเทือนของพื้นดินที่ถูกต้องจากระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐาน สำหรับงานด้านแผ่นดินไหวและวิศวกรรมแผ่นดินไหว ปัจจุบันหน่วยงานที่มีระบบเครือข่ายตรวจความสั่นสะเทือนในระดับชาติและเป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ตลอดจนแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล