ประกันสังคมย้ำชัด! ขึ้นค่าเหมาจ่ายดูแลผู้ประกันตนให้ ‘รพ.เอกชน’ สูงสุดเมื่อเทียบกองทุนสุขภาพอื่น

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงกรณีข้อเรียกร้องของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในการเข้าร่วมนโยบายด้านสุขภาพของรัฐ และยังกล่าวถึงงบเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าทุน ว่า สปส. ได้กำหนดให้สถานพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชนดูแลผู้ประกันตนที่เลือกสถานพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ตั้งแต่การให้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดูแลรักษาพยาบาลในระยะเริ่มแรกของการเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา ตลอดจนต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า มติของคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาไปแล้ว คือ 1. ค่าเหมาจ่ายรายหัว 1,500 บาท/คน/ปี 2. ค่าภาระเสี่ยงสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเป็น 447 บาท/คน/ปี 3. ค่ารักษาผู้ป่วยในสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงฯ 640 บาท/คน/ปี 4. ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูงเกินหนึ่งล้านบาท 15 บาท/คน/ปี ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 โดยสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในอัตราที่เท่ากันและเสมอภาคกัน

นพ.สุรเดช กล่าวต่อว่า รวมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่ สปส. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ เท่ากับ 2,602 บาทต่อราย นอกจากนี้ ยังมีการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์อื่นๆที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาทั้งในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือสถานพยาบาลอื่นๆตามความเหมาะสมของแต่ละสิทธิประโยชน์ที่มีการจ่ายเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่เป็นค่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ค่าอุปกรณ์สำหรับการบำบัดรักษาโรค ค่าปลูกถ่ายอวัยวะ ค่าบำบัดทดแทนไต ค่ายาสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ค่ายาราคาสูงสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะ ค่าส่งเสริมสุขภาพเป็นการตรวจร่างกายประจำปี กรณีประสบอันตราย/ฉุกเฉิน ค่าบริการทันตกรรม คิดเป็นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ทั้งสิ้น 797.69 บาทต่อราย ซึ่งเมื่อรวมค่าบริการทางการแพทย์ที่จ่ายให้แก่สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิมียอดรวมทั้งสิ้น 3,399.69 บาท/คน/ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงและเมื่อเทียบกันแล้วไม่น้อยกว่ากองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในส่วน สปสช.เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของรพ.เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็ทำงานด้วยดีมาโดยตลอด โดยสปสช.ขอยืนยันว่า โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนใช้มาตรฐานเดียวกันและอัตราการจ่ายเงินเดียวกัน อย่างไรก็ตามทราบว่า รพ.เอกชนหลายแห่งได้มีการลงทุนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของตัวเองให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งดี และอาจจะมีผลต่อต้นทุน ทาง สปสช.ก็จะได้เชิญทาง รพ.เอกชนมาหารือต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์