“หม่อมเต่า” กางสูตรอุ้มลูกจ้าง ลุ้นปลดล็อกจ่ายชดเชยหยุดงานชั่วคราว

ไวรัสโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ภายในระยะเวลาเพียงแค่เดือนเศษภาพรวมเศรษฐกิจทั้งระบบดิ่งลงหนัก ทั่วโลกต่างช็อกกับการระบาดที่ไล่ล่าชีวิตผู้คนมากมาย สำหรับประเทศไทยผู้ประกอบการประกาศหยุด-เลิกกิจการ ตัวเลขผู้ว่างงานไต่ระดับจากหลักพันเป็นหลักหมื่นราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะโควิด-19 ยังคงระบาดไปทั่วประเทศ

ขณะที่ “หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” ระดมหน่วยงานภายในสังกัด อาทิ สำนักงานประกันสังคม กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ ระดมสมองหาแนวทางช่วยเหลือทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ที่สำคัญคือ เพื่อยืดระยะเวลาการปิดกิจการของผู้ประกอบการ และจัดมาตรการเยียวยาให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง

อุ้มแรงงานทั้งระบบ

ภาพการปิดกิจการเริ่มเห็นถี่ขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และผลกระทบกำลังขยายไปทุกภาคส่วนธุรกิจ ภายหลังจากการเริ่มระบาดของโควิด-19 นั้น ศูนย์ปฏิบัติการที่ได้จัดตั้งขึ้นได้เริ่มส่งทีมเข้าไปสำรวจผู้ประกอบการว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านใดบ้างจากภาครัฐ จากผู้ประกอบการกว่า 5,000 ราย ส่วนใหญ่ต้องการความช่วยเหลือพื้นฐานก่อน อย่างเช่น การป้องกันการติดโควิด-19 จากนั้นได้รับการรายงานถึงผลกระทบที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐจึงประกาศมาตรการเยียวยาตามมาเป็นระยะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) กรณีรัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานร้อยละ 50 ในระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท) ส่วนนี้จะครอบคลุมผู้ประกอบการที่ถูกภาครัฐสั่งให้ปิดสถานประกอบการชั่วคราว รวมถึงกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 2) ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายอัตราร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน (50% ไม่เกิน 7,500 บาท)

แต่เมื่อโควิด-19 บานปลาย และขยายพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้น จึงต้องเพิ่มเครื่องมือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้นด้วย โดย “หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล” ได้นำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี อีกทั้งขอทบทวนอัตรา ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ทบทวนอัตราตามร่างประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโควิด-19

ปรับเงินส่งประกันสังคม

โดย ครม.เห็นชอบให้ปรับเพิ่มเงินผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ด้วยการเพิ่มเงินทดแทนกรณีหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้ปิดชั่วคราว และเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย (โควิด-19) อีกทั้งให้ “เพิ่ม” เงินทดแทนกรณีหน่วยงานรัฐมีคำสั่งให้ปิดชั่วคราว เพิ่มเงินทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย จากร้อยละ 50 เพิ่มเป็นร้อยละ 62 และในส่วนของแรงงานต่างด้าว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2563 (บัตรชมพู)

โดยให้ใช้บัญชีรายชื่อ (name list) ที่กรมการจัดหางานออกให้แทนใบอนุญาตทำงานไปก่อน และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบการอยู่เกินกำหนด (over stay) และยืดระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการ “ชั่วคราว” และการทำงานของแรงงานต่างด้าวจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้แรงงานจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แก้โจทย์เยียวยาไม่ครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์ใหม่เกิดขึ้นตามมาเป็นระลอก เพราะมาตรการเยียวยายังไม่ครอบคลุมถึงผู้ได้รับความเดือดร้อนบางกรณี เช่น นายจ้างให้หยุดทำงาน และจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเพียง 75% ที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ลูกจ้างต้องการให้พิจารณาช่วยเหลือ “ส่วนต่าง” โดยให้ภาครัฐเข้ามาดูแล

โดยสะท้อนว่า แม้รายได้ลดลง แต่ค่าครองชีพไม่ได้ลดลงทำให้การใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก รวมถึงขณะนี้มีโรงงานทยอยปิดกิจการจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่จ่ายชดเชยเยียวยาให้ลูกจ้างตามกฎหมาย และที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ล่าสุด สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการด้านแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันให้ภาครัฐช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นและกำลังลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ลุ้นจ่ายชดเชยกลุ่มท่องเที่ยว

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่างโรงแรม บริษัททัวร์ ไกด์นำเที่ยว ถือเป็นกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในข่ายที่ได้รับการเยียวยากรณีปิดสถานประกอบการชั่วคราวนั้น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เข้าหารือกระทรวงแรงงาน เพื่อหาทางช่วยเหลือกลุ่มแรงงานกว่า 2 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงแรมชั่วคราว

แต่ยังติดเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมที่ทำได้ทันที คือ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา โดยการพัฒนาฝีมือแรงงาน (up skill) ให้ตรงกับความต้องการของนายจ้าง

ขณะที่สำนักงานประกันสังคมจะสร้างการรับรู้ โดยลงพื้นที่สถานประกอบการในกลุ่มที่เสี่ยงจะถูกเลิกจ้าง เพื่อเตรียมแนวทางช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิที่พึงมี พึงได้ล่วงหน้า

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา ยังเป็นชอตต่อไปที่ต้องจับตา ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของผู้ประกอบการ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ

ล่าสุด ประเด็นนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งกำลังหาทางออกจากการติดล็อกระเบียบกฎหมาย แต่จะเร่งสรุปเสนอ ครม.เพื่อขอไฟเขียวโดยเร็วที่สุด