เอกชนขานรับคลายล็อกเฟส4 ‘โรงเรียน-สวนน้ำ’ จ่อคิวขอเยียวยาถึงสิ้นปี

ผู้ปกครองส่งนักเรียนเข้าโรงรียน
ภาพประกอบข่าว : LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

เลขาฯ สมช.ชงบิ๊กตู่ คลายล็อกดาวน์เฟส 4 ภาคเอกชนขานรับ ผ่อนคลายก่อนกำหนดถือเป็นข่าวดีต่อเศรษฐกิจ ส.อ.ท.วอนรัฐขยายมาตรการช่วยเยียวยาโควิดต่อไปถึงสิ้นปี ลุ้น กกร.ปรับตัวเลข GDP ใหม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. เปิดเผยถึงแนวทางการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมระยะที่ 4 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวว่า “อะไรที่พร้อมก็ให้เปิด” ทั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ได้พิจารณา ซึ่งหากได้ข้อสรุปก็จะเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในสัปดาห์หน้า (วันศุกร์ที่ 12 มิ.ย. 63 ) ซึ่งเร็ว ๆ นี้คงจะมีข่าวดี

สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรมที่จะผ่อนคลายในระยะต่อไป ได้แก่ โรงเรียนและสถาบันการศึกษา เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบและการฝึกอบรม สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานดูแลผู้สูงวัย แบบรายวัน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ห้องประชุม ที่มีการรวมกลุ่มคนมากกว่า 200 คน การถ่ายทำรายการ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อุทยานแห่งชาติ สวนรุกขชาติ เฉพาะพื้นที่ที่ส่วนราชการกำหนดและสามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ ชายหาด ชายทะเล เฉพาะพื้นที่ที่ส่วนราชการกำหนดและสามารถปฏิบัติตามมาตรการได้ สวนสนุก สวนน้ำ สนามเด็กเล่น ร้านเกม ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญ สนามกีฬา โรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย สำหรับการสอน ฝึกซ้อม หรือแข่งขันกีฬา เช่น บิลเลียด สนุ้กเกอร์ มวย คาราเต้ ยูโด เทควันโด และศิลปะการต่อสู้อื่น ๆ เดินวิ่งการกุศล ไตรกีฬา รวมทั้งสนามแข่งขัน การจัดแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี งานอีเวนต์ จัดแสดงสินค้า พื้นที่เกิน 20,000 ตารางเมตร สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ และสถานบริการอาบอบนวด

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากรัฐบาลพิจารณาคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเร็วกว่าไทม์ไลน์ที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม จะถือว่า “เป็นข่าวดีมากทางเศรษฐกิจ ทางภาคเอกชนเตรียมพร้อมรออยู่แล้วที่จะกลับมาเปิดทำธุรกิจตามปกติ” โดยจะมีการปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัย ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่อาจจะต้องขอให้ภาครัฐพิจารณาคลายกฎระเบียบการประกอบธุรกิจบางเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของเอกชน เช่น ร้านอาหารขอลดเพียงแค่ใส่หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ไม่ต้องนั่งเว้นโต๊ะ หรือการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์

“ที่สำคัญ รัฐบาลควรขยายระยะเวลาใช้มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับภาคเอกชน ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ถึงเดือนมิถุนายน ขอให้ขยายไปถึงสิ้นปี เพราะแม้ว่าเราจะกลับมาเปิดธุรกิจ แต่เศรษฐกิจก็ไม่ได้ฟื้นในทันที อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภค 10-20 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ ดังนั้น ผลประกอบการก็อาจจะยังไม่ฟื้นทันที หากรัฐช่วยต่อมาตรการเยียวยา เช่น ค่าไฟฟ้า การยกเว้นค่าธรรมเนียม minimum charge และประกันสังคมก็จะช่วยเสริมธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ส่วนผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมนั้นจะมีการนำไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 17 มิ.ย.
นี้ว่า จะปรับประมาณการหรือไม่ จากเดิมวางไว้ที่ -3% ถึง -5%”