“สมคิด” ชงตั้ง “ไทย-สหรัฐ ซิลิคอนวัลเลย์” ใน EEC ให้สิทธิพิเศษ

“สมคิด” หารือทูตสหรัฐ เสนอตั้ง “ซิลิคอนวัลเลย์” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมให้ BOI จัดทำแพ็กเกจพิเศษดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐ โดยเฉพาะ ด้านบริการ-การศึกษา ต้องการเห็นสถาบันวิจัย-มหาวิทยาลัยชั้นนำสหรัฐเข้ามาลงทุนในไทย ด้านทูตสหรัฐเชื่อไทยพร้อมเป็นซัพพลายเชนสำคัญในภูมิภาคนี้เชื่อมต่อตลาดสหรัฐ พร้อมยื่นหนังสือข้อเสนอแนะ 6 ภาคอุตสาหกรรมที่นักลงทุนสหรัฐสนใจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือกับ H.E. Mr.Michael George DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยได้แจ้งทูตสหรัฐว่าประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาคบริการและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งไทยสนใจที่จะให้สหรัฐเข้ามาลงทุน “ฝ่ายไทยได้เสนอว่า ควรจะมีการจัดตั้ง Thai-American Silicon Valley และให้สหรัฐจัดทำแพ็กเกจพิเศษเพื่อขอส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งไทยสามารถที่จะเป็นฐานทั้งศูนย์กลางการผลิต ภาคบริการ และภาคการเงินของภูมิภาคได้ รวมทั้งในส่วนของการบริการทางการแพทย์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านนี้ จึงอยากให้สหรัฐเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และได้มอบนโยบายให้ BOI ไปดำเนินการ เพื่อให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ทางด้านบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษา ต้องการสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกา ให้เริ่มมาลงทุนในประเทศไทย เพราะเชื่อว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางของวิทยาการในภูมิภาคนี้ ส่วนเรื่องของตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยก็ไม่แพ้สิงคโปร์

“ผมบอกท่านเอกอัครราชทูตสหรัฐไปว่า ผมอยากให้อเมริกาโฟกัสประเทศไทยเป็นการพิเศษ เพราะเราเชื่อว่า ในขณะนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLMVT ซึ่งเป็นเมนแลนด์ของอาเซียน และในปีหน้าโครงการ EEC ทั้งหลายจะเริ่มสมบูรณ์ เราสามารถที่จะเชื่อมโยงกับประเทศอีกหลายประเทศในบริเวณใกล้เคียงในขณะเดียวกันตลาดเงินตลาดทุนของเราก็มีความแข็งแรงอย่างยิ่ง”

ด้าน H.E. DeSombre กล่าวภายหลังการเข้าพบว่า ได้พูดคุยกันถึงแนวการทำงานร่วมกันระหว่างสหรัฐกับไทยในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของไทยให้มีความเข้มแข็ง และส่งเสริมให้นักลงทุนของสหรัฐเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยมีความน่าลงทุน มีศักยภาพและเหมาะสมอย่างมากสำหรับการที่บริษัทของสหรัฐเข้ามาประกอบกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นซัพพลายเชน (supply chain) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเข้ามาว่า ก่อนหน้านี้ H.E. DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐได้ยื่นข้อเสนอแนะ “มาตรการเพื่อขยายการลงทุนและดึงดูดห่วงโซ่อุปทานจากสหรัฐมายังประเทศไทย” ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยหนังสือฉบับดังกล่าวทำขึ้นหลังจากที่ได้สำรวจความคิดเห็นของบริษัทสหรัฐถึงแนวคิดที่จะทำให้ตลาดไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐให้มากขึ้น โดยเน้นไปที่นักลงทุนสหรัฐจะได้รับประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับตลาดสหรัฐ “อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้”

โดยสหรัฐให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย แบ่งออกเป็น 6 ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ต้องการให้ไทยจัดทำมาตรการจูงใจ (ส่งเสริมการลงทุน) สำหรับการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตและชิ้นส่วน เทียบเท่ากับการให้การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การขอใช้เงินกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การลดความซับซ้อนในการขอรับส่งเสริม การลงทุนจาก BOI 2) พลังงาน ต้องการให้ผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับระบบของ กฟภ.-กฟน.ผ่านสายส่งของประเทศได้ การเร่งพัฒนาให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และการเปิดโอกาสให้สหรัฐเข้าร่วมในการซื้อขายก๊าซ LNG ผ่านทางโครงข่ายท่อส่งก๊าซ-สถานีรับก๊าซของ ปตท.

3) โลจิสติกส์และการขนส่ง ขออนุญาตให้มีการใช้ระบบดิจิทัลในการส่งเอกสาร การอนุมัติ และระบบเอกสารที่เชื่อมโยงกับภาคีสมาชิก ACMECS การใช้ระบบพิธีสารศุลกากรแบบตามบัญชี (account-based) และเสนอให้ทำความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างศุลกากรสหรัฐ-ไทย (CMAA)

4) เศรษฐกิจดิจิทัล สหรัฐต้องการให้มีการโอนข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทางอย่างปลอดภัยด้วยอินเทอร์เน็ตที่เชื่อถือได้ (trusted internet) การอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติใช้ร้านสะดวกซื้อในการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินด้วยเช็คดิจิทัลการทำโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสำหรับ e-Commerce


5) นวัตกรรมทางการแพทย์ การเพิ่มกระบวนการดิจิทัลในการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ การขยาย platform สุขภาพและแพทย์ทางไกล การแก้ปัญหาในเรื่องของการค้างสะสมของปริมาณคำขอสิทธิบัตร และ 6) การเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ในเรื่องของการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านเมล็ดพันธุ์พืชให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV)