เปิดประวัติ “เกษม จันทร์แก้ว” องคมนตรีคนใหม่

ตั้งเกษมจันทร์แก้วเป็นองคมนตรี
บทความนี้เผยแพร่ทางออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มี.ค.64

ปรับปรุงครั้งล่าสุด วันที่ 26 พ.ค.64

เปิดประวัติ “เกษม จันทร์แก้ว” ผู้ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็น องคมนตรี คนล่าสุด

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง นายเกษม จันทร์แก้ว เป็นองคมนตรี

ล่าสุด วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ออกพร้อมด้วยเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี นำ นายเกษม จันทร์แก้ว องคมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ นายเกษม จันทร์แก้ว อายุ 83 ปี นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวไทย ซึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รวมถึงหัวหน้าภาควิชา คณบดี และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนี้

ประวัติส่วนตัว

นายเกษม จันทร์แก้ว เกิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2481 ที่ตำบลศรีสัชชนาลัย อำเภอศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย บิดาชื่อ นายนาค จันทร์แก้ว และ มารดาชื่อ นางบุญมา จันทร์แก้ว

การศึกษา

  • ชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลวัดตลิ่งชัน
  • ชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม
  • ชั้นเตรียมอุดมศึกษาจากโรงเรียนทวีธาภิเศก
  • สำเร็จปริญญาตรีวนศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สำเร็จปริญญาโทสาขา Watershed Management จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด
  • สำเร็จปริญญาเอกในสาขา Forest Hydrology จากมหาวิทยาลัยวอชิงตันใน พ.ศ. 2518

การทำงาน

หลังจบการศึกษา นายเกษมเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 จนเกษียณอายุราชการ อีกทั้งยังเคยเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี, คณบดีวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รวมถึง อาจารย์พิเศษทั้งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และภายนอก, ผู้ทรงคุณวุฒิหลายมหาวิทยาลัย, และนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์

ผลงานของนายเกษมส่วนใหญ่เป็นด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ คือ งานวิจัยการจัดการลุ่มน้ำและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นายเกษมยังได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การเกษตรดีเด่นสองสมัย (พ.ศ. 2536 และ พ.ศ. 2539) จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย

รางวัลผลงานดีเด่น

  1. ประกาศนียบัตรชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2518 เรื่องลักษณะอากาศใกล้ผิวดินของป่าดิบแล้ง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
  2. ประกาศนียบัตรชมเชยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2525 เรื่อง การวิจัยเกี่ยวกับการจัดการลุ่มน้ำบนภูเขา
  3. นักวิทยาศาสตร์การเกษตรดีเด่นประจำปี 2536 จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. นักวิทยาศาสตร์เกษตรดีเด่นประจำปี 2539 จากสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศไทย

ความผูกพันกับ ม.เกษตร

นายเกษม เคยเล่าว่า เป็นชาวเกษตรด้วยหัวใจและร่างกายเต็มร้อย เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่เคยแบ่งปันใจให้ไปที่อื่นเลย ใครจะขอตัวไปช่วยหน่วยงานอื่นก็ไปช่วย แต่ต้องเป็นในนามอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้ว 4 ปี ก็ได้รับการไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้รักษาการคณบดีวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม ที่เป็นงานใหม่และเหนื่อยมากในขณะนั้น

นายเกษม เล่าอีกว่า ตอนมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปีแรกนั้น ต้องฝืนใจพอสมควร จนขึ้นปีที่ 2 และต่อ ๆ มา จึงทำงานสอนและวิจัยได้อย่างสนุกสนาน มีงานเต็มมืออยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเป็นเด็กบ้านนอกมา จึงไม่ย่อท้อกับงานหนัก

ปรัชญาในการสอนมี 3 ขั้น คือ ขั้นเตรียมตัวค้นคว้าปรัชญาและสาระสำคัญที่วิชานั้นกำหนดไว้ และมีการเคลื่อนไหวที่ทันสมัยอะไรบ้างในวิชานั้น แล้วจึงจะลงมือเตรียมการสอน การสอนมิได้ใช้ของเดิมที่ซ้ำซ้อน จะปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา หลักสำคัญคือ การประยุกต์ข้อมูลสู่การเรียนการสอน ผู้สอนก็ไม่เบื่อ ผู้เรียนก็ไม่เบื่อ

ความภาคภูมิใจในชีวิตการทำงานให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ การเป็นหัวหน้าภาควิชาอนุรักษ์วิทยา คณะวนศาสตร์ ถึง 16 ปี ได้สร้างลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเป็นตน เป็นปึกแผ่น จนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ความภาคภูมิใจอันดับต่อมาก็คือ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ขณะเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

และที่มหัศจรรย์ก็คือ ได้เป็นผู้สนับสนุนให้มีการแยกคณะได้สำเร็จ เป็น 2 คณะ คือ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ และเป็นผู้ผลักดันให้เกิดโครงการ Ex MBA ของเกษตรที่มีชื่อเสียงโด่งดังอันดับหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน

นายเกษมใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถึง 43 ปี ความประทับใจและความทรงจำที่ดี ๆ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงมีมาก เขายังกล่าวด้วยว่าความผูกพันของนิสิตที่มีต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นนิสิตเก่าหรือนิสิตใหม่ จะมีรูปแบบไม่เหมือนสถาบันอื่น เป็นความรู้สึก ความผูกพันด้วยจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันของอาจารย์ต่อมหาวิทยาลัย ของอาจารย์ต่ออาจารย์ ของอาจารย์ต่อลูกศิษย์ ของลูกศิษย์ต่ออาจารย์ และของลูกศิษย์ต่อลูกศิษย์เอง

ที่ปรึกษารัฐบาล พล.อ.เปรม

นายเกษมผ่านตำแหน่งบริหารมามากมาย อยู่ในตำแหน่งสั้นบ้างยาวบ้าง เช่น หัวหน้าภาควิชา คณบดี รองอธิการบดี อธิบดีกรมป่าไม้ (42 วัน สมัยพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และที่ภาคภูมิใจมากอีกตำแหน่งหนึ่งคือ การเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ข้อมูล:

https://bit.ly/3vXpiTu

https://bit.ly/2PlmA9F