ผู้สูงอายุ 60 ปี และคนมี 7 โรคเรื้อรัง เริ่มฉีดวัคซีนโควิดหมอพร้อม 7 มิ.ย.

สธ.แถลงเหตุผลให้กลุ่มคนอายุ 60 ปี และกลุ่มผู้ที่มี 7 โรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนโควิดผ่านหมอพร้อมก่อน โดยเริ่มฉีด 7 มิ.ย. นี้ ส่วนยอดจองฉีดมีเพียง 10% จาก 16 ล้านคน วอนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกลุ่มเป้าหมายช่วยลงทะเบียนและพาไปจุดฉีด ย้ำไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิดในปัจจุบัน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง ร่วมแถลงรายละเอียดประเด็นหมอพร้อม

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้การจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ของกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน 2) กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง (โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน) จำนวน 4.3 ล้านคน (รวมเป็น 16 ล้านคน) มีการจองคิวสะสมรวมแล้ว 1,730,526 ราย หรือประมาณ 10% ของจำนวนคนทั้งหมด (ข้อมูล ณ 11 พ.ค. 64 เวลา 14.00 น.) โดย 2 กลุ่มนี้จะเริ่มฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป

ที่จำนวนยังน้อยอาจเป็นเพราะความกังวลในอาการไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการเข้าถึงระบบหมอพร้อมผ่านไลน์และแอปพลิเคชันอาจยังช้า ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่ได้ละเลยคนกลุ่มอื่น แต่การให้วัคซีนแก่ 2 กลุ่มนี้ก่อน เพราะหากติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น และจำนวนของ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ก็สัมพันธ์กับจำนวนวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะได้รับในช่วงแรก มิ.ย. และ ก.ค. 2564

“ผมอยากขอให้คนไทยทุกคนช่วยกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ในการพาพวกเขาเข้าถึงระบบหมอพร้อมให้เร็วและมากที่สุด โดยลูกหลานอาจช่วยลงทะเบียนให้ผ่านหมอพร้อม หรือพาไปลงทะเบียนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อฉีดวัคซีน ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มอื่น เช่น กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่ทำงานด่านหน้า หรือกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดที่จำเป็นด้านเศรษฐกิจ ก็กำลังเตรียมงานคู่ขนานไป และอาจจะฉีดได้เร็วตามวัคซีนที่จัดหามาได้”

ทั้งนี้ การมีวัคซีนไม่สำคัญเท่าการได้ฉีด เพราะถ้ามีแต่ไม่ได้ฉีดก็ไม่เกิดประโยชน์ ดัวนั้น เราต้องช่วยคนในบ้านลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับการฉีดเร็วที่สุด

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลโรคโควิด-19 กลุ่มผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงเกิดในคนที่มีโรคประจำตัว 86% และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 65 ปี (ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงนี้ก่อน

สำหรับสาเหตุการได้รับเชื้อพบว่า 58% ติดจากคนในครอบครัว หรือญาติมาเยี่ยม หรือจากเพื่อน ส่วน 18% ไปในแหล่งชุมชน และอีก 5% เพราะทำอาชีพเสี่ยง และอื่น ๆ ส่วนผลการศึกษาเรื่องประโยชน์ของวัคซีนทางตรง คือ ลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต และจากข้อมูลการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทยขณะนี้ มีการใช้เตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก 956 เตียง เตียงที่ใช้อยู่ตอนนี้เป็น 85% มีเตียงของภาครัฐว่าง 44 เตียง และเตียงของภาคเอกชนว่าง 95 เตียง ดังนั้น การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคจนต้องเข้าไอซียู และลดเป็นปัญหาเตียงโรงพยาบาลไม่พอ

นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข

ดังนั้น เพื่อป้องกันชีวิตคนในครอบครัวและคนที่เรารัก คือการวัคซีนโควิด-19 เพราะจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ อย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่าหลังการฉีดวัคซีน ตัวเลขผู้ป่วยลดลง โดยวัคซีนแอสตราเซเนกาจะเป็นวัคซีนหลักในการฉีดให้ประชาชนที่จองผ่าน “หมอพร้อม” และจากข้อมูลการศึกษาพบว่า เพียง 1 เข็มสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ 76% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ 80%

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ต้องเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และถึงแม้วัคซีนจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อเทียบกับประโยชน์แล้ว มีประโยชน์มากกว่า ที่สำคัญยังลดการแพร่โรคได้ด้วย โดยของแอสตราเซเนกาสามารถลดการแพร่โรคได้ถึง 50% แต่คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปียังรับวัคซีนของแอสตราเซเนกาไม่ได้

“เรามีระบบการดูแลความปลอดภัยหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งมีการสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที และมีระบบการเยียวยาหากเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน อย่างไรก็ตามไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน”

ส่วนจังหวัดที่ให้ความสนใจและเร่งรัดให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนอย่าง จ.ภูเก็ต จะเดินหน้าเศรษฐกิจได้เร็วกล่าว ส่วน จ.แม่สอด และ จ.สมุทรสาคร มีอัตราติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ดังนั้น จังหวัดที่เร่งรัดฉีดวัคซีนได้มากจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น

ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาระดับกระทรวง นำเสนอ 3 เรื่อง คือ 1) ช่องทางการเข้าระบบหมอพร้อม 2) องค์ประกอบของการจองฉีดวัคซีน 3) ปัญหาที่พบบ่อยกรณีเลือกโรงพยาบาลแล้วแต่จองไม่ได้

“ช่องทางการเข้าระบบหมอพร้อม” มี 2 ช่องทางสำหรับ 2 กลุ่มคน ช่องทางแรกสำหรับคนในกรุงเทพฯ หรือในเขตเมือง สามารถลงทะเบียนหมอพร้อมผ่าน LINE Official Account หรือแอปพลิเคชันหมอพร้อม ส่วนประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดใช้ระบบอะนาล็อก โดย อสม. หรือ รพ.สต. จะรับข้อมูลเพื่อนำใส่ในระบบการจองฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจะมาถึงส่วนกลางทั้งหมด

ในกรุงเทพฯ ตั้งเป้าหมาย 1.2 ล้านคน มีจองเข้ามาประมาณแล้ว 6 แสนคน ส่วนต่างจังหวัดมีตัวอย่างลำปางโมเดล อาศัย อสม. และรพ.สต. คีย์เข้ามาในระบบ ในช่วงสัปดาห์แรกแต่ละจังหวัด โดยอยู่ในช่วง อสม.ออกไปสำรวจ และระหว่างนี้กำลังคีย์ข้อมูลเข้ามาในส่วนกลาง ทั้งนี้ ประชาชนที่เกิดวันที่ 1 ม.ค. 2505 เป็นต้นไป หรืออายุประมาณ 59 ปี 1 วัน นับว่าเข้าข่ายนอายุ 60 ปี ก็สามารถลงทะเบียนได้แล้ว

“องค์ประกอบของการจองฉีดวัคซีน” มี 3 ส่วน คือ LINE Official Account หรือแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งระบบจะทำงานก็ต่อเมื่อโรงพยาบาลเปิดให้จอง และโรงพยาบาลต้องเอาชื่อผู้ป่วยขึ้นด้วย ส่วนคอลเซนเตอร์ของหมอพร้อม ติดต่อ 02 792 2333 โดยวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) จะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย และตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มเป็น 160 คู่สาย

“ปัญหาที่พบบ่อยกรณีเลือกโรงพยาบาลแล้วแต่จองไม่ได้” กรณีโรงพยาบาลเอกชน จะให้บริการฉีดวัคซีนเฉพาะผู้ป่วยที่เคยรับบริการของโรงพยาบาลนั้น ๆ อาจมีบางแห่งที่อนุญาต อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ กทม. ยังมีคิวว่างให้ฉีดวัคซีนอีก 7-8 แสนคิว