โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ให้ข้อมูล สารเคมีอันตราย

สารเคมีจากโรงงานกิ่งแก้ว
REUTERS/Soe Zeya Tun

ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ให้ข้อมูลสารเคมีอันตราย จากกรณีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในซอยกิ่งแก้วระเบิด 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ศูนย์พิษวิทยา เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย จากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ที่โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ โดยระบุว่า สารเคมีดังกล่าวได้แก่ EPS คือ Expanded polystyrene เป็นสารเคมีที่สำคัญซึ่งใช้ในการผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อติดไฟจะทำให้เกิดแก๊สพิษซึ่งสามารถเข้าสู้ร่างกายได้ทาง การสูดดม และทางผิวหนัง

นอกจาก polystyrene แล้ว ยังมีสารพิษอื่น ๆ เช่นสารปิโตเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลาย และสารพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของตัวอาคารโรงงาน ยกตัวอย่างเช่น แก๊สพิษที่สามารถแทนที่อ็อกซิเจนในอาการ และแก๊สไซนาไนด์ ที่ทำให้เกิดภาวะขาดอ็อกซิเจนระดับเซลล์ เป็นต้น

ข้อควรรู้ แก๊สพิษต่าง ๆ เหล่านี้มีอนุภาคขนาดเล็ก ไม่สามารถใช้หน้ากากอนามัยหรือ N95 ในการป้องกันได้ ผู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปปฏิบัติงานในจุดเกิดเหตุหรือบริเวณอันใกล้ จึงควรใส่หน้ากากป้องกันแก๊สพิษแบบเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้สารพิษเข้าสู่ร่างกาย

หากมีข้อสงสัย สามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์พิษวิทยา ศิริราช เบอร์ 02-419-7007 (บริการตลอด 24 ชั่วโมง)

ก่อนหน้านี้ นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กเตือนเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีจากโรงงานดังกล่าวว่า ภายในโรงงานที่เกิดเหตุ มีสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารตั้งต้น ถังเก็บสารเคมีถูกไฟไหม้และระเบิด มีสารสไตรีนและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) กระจายออกไปโดยรอบถึง 10 กิโลเมตร ขึ้นกับทิศทางและความเร็วลม ประชาชนใกล้เคียงระวังตัวด้วย

1.สารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นของเหลวใสและข้นเหนียว สูตรทางเคมี C8H8 , CAS #. 100-42-5 น้ำหนักโมเลกุล 104.16 ถ้าสารมีอุณหภูมิ 31°C (88°F) ขึ้นไป จะติดไฟและกลายเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย หากถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) จำนวนมาก มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ

2.การใช้งาน ใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์ และพลาสติก เรซิน สี ฉนวนที่เป็นโฟม ใช้ผลิตพลาสติกกับสารอื่น เช่น Acrylonitrile- butadiene- styrene plastics ใช้ทำกระเป๋าแบบแข็ง Acrylonitrile- styrene plastics ใช้ในชิ้นส่วนรถยนต์และของใช้ในบ้านและบรรจุภัณฑ์

3.ผลต่อสุขภาพ เป็นสารระเหย แม้อยู่ในน้ำหรือดิน การปนเปื้อนในดินอาจนำไปสู่น้ำใต้ดินเพราะสารนี้ไม่ค่อยจับตัวกับดิน ถ้าหายใจเข้าไป จะเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และลำคอ ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูง จะมีอาการชักและเสียชีวิตได้

การหายใจเข้าไปในระยะนาน ๆ แม้ว่าความเข้มข้นต่ำจะทำให้อาจมีอาการทางสายตา การได้ยินเสื่อมลง และการตอบสนองช้าลง ส่วนผลในระยะยาวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ถ้าเข้าตา จะเคืองตา ถ้าถูกผิวหนัง จะรู้สึกระคายผิว ถ้าสารซึมเข้าผิวหนังจะมีอาการเหมือนหายใจเข้าไป ทำให้ผิวแดง แห้งและแตก

4.การดับเพลิง ให้ใช้น้ำยาประเภทคาร์บอนไดออกไซด์หรือเคมีแห้งหรือโฟมปิดคลุม ห้ามฉีดน้ำเป็นลำไปยังถังที่ถูกเพลิงไหม้โดยตรงแต่อาจให้ฉีดเป็นละอองฝอยเพื่อควบคุมควันเท่านั้น


ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊ก Senee Kasemvud เผยข้อมูลเกี่ยวกับสาร Styrene monomer พร้อมเตือนให้ทุกคนที่อยู่ในระยะ 10 กิโลเมตรจากที่เกิดเหตุ ต้องอพยพเท่านั้น 

1.สารตั้งต้นที่ทำให้เกิดการระเบิดรวมถึงทำให้ไฟไหม้ไม่หยุด ตอนนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคือ Styrene monomer เรียกง่ายๆว่ามันคือสารตั้งต้นในการผลิตออกมาเป็นโฟม

2.จำนวนStyrene ที่ผู้จัดการโรงงาน รายงานก่อนการเกิดเหตุคือ 1,600 ตัน ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ หากคิดว่าเป็นสถานะของเหลวจะได้ราวๆ 1,700,000 ลิตร ที่ติดไฟได้ ได้ทุกสถานะ ไม่ว่าจะเป็น ของแข็ง ของเหลว หรือ Gas ถ้าเป็นจริงและมันติดไฟทั้งหมด ผมคิดว่า 1 อาทิตย์มันยังไหม้ ไม่หมดเลยครับ

3.Styrene สามารถเผาไหม้กับ ออกซิเจนในอากาศ โดยมีอุณหภูมิ แค่ 60 องศา C ก็สามารถติดไฟได้แล้ว

4.การฉีดน้ำเพื่อดับเพลิง ไปบน Styreneโดยตรง แทบไม่มีประโยชน์เนื่องจากความหนาแน่นของมัน (Density 0.9xx) เบากว่าน้ำ ทำให้มันยังคงติดไฟได้ต่อ เพราะจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ

5.การใช้วิธีฉีดโฟมดับเพลิงปิดคลุมผิวหน้า เพื่อตัด ไม่ให้เชื้อเพลิงเจอกับออกซิเจน เป็นทางเดียวที่สามารถตัด วงจรปฏิกิริยาการเผาไหม้ได้ และเป็นเรื่องเดียวที่เราทำได้ในขณะนี้ แต่ถ้าของอยู่ในถังเก็บ ไม่ว่าจะบนดินใต้ดิน ข้อนี้ก็จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากฉีดโฟมไปก็จะไม่สามารถเข้าไปในถังได้

6.แนวคิดที่ให้ เฮลิคอปเตอร์โปรยโฟมลงมาจากท้องฟ้า มีข้อจำกัดเยอะเกินไป ทั้งเรื่อง ไม่สามารถควบคุมโฟมให้ลอยตกในที่ ที่ต้องการได้ เนื่องจากน้ำหนักโฟมเบา หรือ ไม่มีใครการันตีได้ว่าของในถังจะระเบิดเมื่อไหร่ และแรงระเบิดอาจรุนแรงทำให้ ฮ.ตกได้ รวมถึง เราไม่เคยฝึกซ้อมการผูกรัด เพื่อหย่อนของประเภทของเหลวโปรยลงจากท้องฟ้าโดย ฮ.มาก่อน

7.การฉีดน้ำทำได้เพียงการฉีดไปบริเวณโครงสร้างของถัง เพื่อช่วยแลกเปลี่ยนความร้อน และลดอุณหภูมิ แต่ไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ทั้งหมด เนื่องจาก Styrene ในถังเกิดปฏิกิริยา Self polymerization  และคายความร้อนออกมาตลอด (Exothermic reaction) ของในถังอยู่นิ่ง ไม่มีการ Mixing อย่างทั่วถึง ทำให้ไม่สามารถลดอุณหภูมิของเหลวในถังได้โดยง่าย เพราะงั้นก็เลิกคิดเรื่องฉีดน้ำได้แล้ว

8.การเกิดการเผาไหม้นี้ Product ที่ได้ออกมามีตัวที่น่าห่วงคือ คือ คาร์บอนมอนนอกไซด์( CO ) พูดง่ายๆ การสูบดมควันของการเผาไหม้นี้ คุณอาจจะสลบในระยะเวลาอันสั้น หรือ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง หากได้รับเข้าไปในปริมาณมากๆ

9.การควบคุมปฏิกิริยาทั้งหมดนี้ อาจทำได้โดยการเติมสารยับยั้งปฏิกิริยาลงไป แต่เราเลยจุดนั้นมานานแล้ว ปัจจุบันหากอุณหภูมิในถังเก็บเกิน 60c ก็เลิกคิดซะ

10.ในความคิดของผม เรื่องการดับไฟ ตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะมันขยายวงกว้างมากขึ้นไปเรื่อยๆ เลวร้ายที่สุดเราคงต้องรอให้ สารตั้งต้นทั้งหมด มันเผาไหม้ไปจนหมดไปเอง โดยที่ ไม่มีการไปเผาไหม้อะไรให้ระเบิดเพิ่มเติม หรือทำให้การเผาไหม้กินบริเวณกว้างมากไปกว่านี้

11.ฝนหลวงไม่ได้ช่วยอะไรทั้งนั้น 

12. เป็นเวลาเกือบ 18 ชั่วโมงแล้ว ที่ ทางรัฐบาลหรือ ทางราชการ ยังไม่มี Action ให้หน่วยงานไหน ออกมารับมือกับวิกฤตินี้ รวมทั้ง ไม่มีศูนย์บัญชาการ ทิศทางการแก้ไขปัญหา ทั้งๆที่ปัญหานี้มันเป็นระดับ ภัยพิบัติเลยด้วยซ้ำ