ศบค. พบติดเชื้อโควิดวันนี้(13 ก.ค.) เพิ่มอีก 8,685 ราย เสียชีวิต 56 คน

ตรวจเชิงรุกโควิด-BKK
เครดิตภาพ : กทม.

ศบค.-EOC กระทรวงสาธารณสุข รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่วันนี้ (13 ก.ค.)เพิ่มอีก 8,685 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 56 คน วันนี้หายป่วยกลับบ้าน 3,797 ราย 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาล และศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานข้อมูลเบื้องต้นสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 8,685 ราย จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 8,539 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 146 ราย ผู้ป่วยสะสม 324,849 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) หายป่วยกลับบ้าน 3,797 ราย หายป่วยสะสม 228,029 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิตอีก 56 ราย

ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 353,712 ราย เสียชีวิตสะสม 2,847 ราย

กรมควบคุมโรครายงานว่า วันนี้ มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 95,410 ราย อาการหนัก 3,042 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 794 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิต 56 ราย อยู่ในกทม. มากที่สุด 30 ราย นราธิวาส 4 ราย นครปฐม ปทุมธานี กำแพงเพชร ชลบุรี เพชรบุรี จังหวัดละ 2 ราย ที่เหลือจังหวัดละ 1ราย(ตามตาราง)

สำหรับผู้รับการฉีดวัคซีนล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 297,542 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 41,438 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 12,908,193 โดส

วานนี้(12 ก.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมการระบาดของโควิด-19 รวม 4 เรื่องหลัก ได้แก่

1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา โดยโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

2. ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดสได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น

3.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจ Rapid Antigen Test มาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง และเร็วๆนี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชนชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่ง สปสช.จะร่วมมือกับโรงพยาบาลที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้