ดราม่าญี่ปุ่นมอบตู้โดยสารให้ไทยฟรี รฟท. ยัน ขนย้ายตามข้อบังคับ

รฟท.แจงดราม่ารับรถไฟญี่ปุ่นเศษเหล็ก ชี้จะใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ
ภาพจากเฟซบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

ผอ. ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เคลียร์ดราม่า รถไฟมือ 2 บริจาคจากญี่ปุ่น 

วันที่ 10 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเป็นประเด็นดราม่า หลังมีเอกสารเผยแพร่ประกาศ สรุปผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เรื่อง จ้างขนย้ายรถดีเซลราง JR Hokkaido จากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน ราคากลาง 42,500,000 บาท ซึ่งบริษัท ดอยโกร โพรเจค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบทำการขนย้ายในครั้งนี้

หลังข่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีการแสดงความคิดเห็นจากชาวเน็ตบนโลกโซเชียลว่าเป็นการนำเศษเหล็ก ของเหลือทิ้งและขยะมาทิ้งเมืองไทย ทั้งยังไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว เพราะไม่คุ้มค่าและราคาที่จ่ายไป

ค่าขนย้าย 42 ล้านบาท ถูกมาก

ต่อประเด็นดราม่า วานนี้ (9 ก.ย.) เฟซบุ๊กเพจ Thailand Transportation ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นโดยระบุข้อความว่า หลาย ๆ คอมเมนต์ในเพจต่าง ๆ รวมถึงเพจสื่อหลัก (ที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์) บอกว่า รถไฟดีเซลราง 17 คัน ที่การรถไฟฯ ได้รับมาจาก JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น และกำลังเปิดซองประมูลหาผู้ขนส่ง ลงเรือมาไทย มูลค่า 42 ล้านบาท นั้นเป็นของบริจาค เป็นเศษเหล็ก เป็นของทิ้ง

ขออธิบายในฐานะที่แอดมิน เคยนั่งรถไฟขบวนนี้..มันคือเศษเหล็กตรงไหนครับ !! ก่อนที่มันจะส่งมาไทยมันคือยังวิ่งให้บริการอยู่ แต่ที่ต้องปลดระวาง เนื่องจากมีขบวนรถดีเซลรางรุ่นใหม่ ๆ มาทดแทนอย่าลืมญี่ปุ่นเขาเป็นเจ้าเทคโนโลยีรถไฟ, รถไฟความเร็วสูง การที่เขาจะสร้างรถไฟดีเซลรางใหม่ ๆ มาสักรุ่น เพื่อให้เกิดกระบวนการจ้างงาน คนในประเทศเขามีงานทำ เขาก็ต้องทำครับ ส่วนของเก่าจะทำลาย ก็มีค่าใช่จ่ายสูงพอ ๆ กับค่าขนส่งมาไทยนี้แหละ เขาจึงส่งต่อให้ไทย มาใช้

ในภาพ คือ ผมถ่ายเอง ก่อนจะนั่งในขบวนรถนี้ (เมื่อ เม.ย. 2559) ที่สถานี Asahikawa กำลังจะทำขบวนรถด่วนจาก Asahikawa ไป Sapporo (ระยะทางประมาณ 140 km.) โดยวิ่งมาจากต้นทางคือสถานี Abashiri มีระยะทางรวมไปถึง Sapporo รวม 300 กว่า km. (ไม่มีเสียกลางทาง ถึง Sapporo ตรงเวลาเป๊ะ ๆ)

สภาพภายใน ทั้งตัวเบาะ เก้าอี้ที่นั่ง ห้องน้ำ ยังดูดี (เบาะสวยกว่ารถดีเซลรางแดวูของไทยมาก) มาตรฐานการดูแล-บำรุงรักษาของญี่ปุ่น ก็อยู่ในระดับที่ดีกว่าไทย หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีก็หยุดให้บริการ จนลากมาจอดที่ท่าเรือ รอขนส่งมาไทย ผ่านไป 4 ปี ก็ได้รับงบฯให้ค่าขนย้ายตามข่าวที่ทราบ ๆ กัน

ส่วนที่เห็นเป็นคราบสนิม มันก็ต้องมีบ้างจากการตากแดด ตากฝน มาถึงไทยปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก็นำออกให้บริการได้ ของดีราคาถูกแบบนี้ ค่าขนย้าย 42 ล้านบาท คือถูกมาก ถ้าซื้อใหม่ในจำนวนเท่านี้ มือ 1 มีงบฯไม่ต่ำกว่าคันละ 30-40 ล้าน (คูณ 17 คัน = 510-560 ล้านบาท) ประหยัดได้เป็นร้อย ๆ ล้านบาท ไม่ดีเหรอครับ บางครั้งเราต้องมองในเชิงวิศวกรรมหรือเชิงช่างบ้างก็ได้ อย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมืองเลยครับ !!

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้จากญี่ปุ่น

ในวันเดียวกัน ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความต่อเรื่องดังกล่าว ระบุว่า นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงกรณีการออกประกาศจัดจ้างขนย้ายรถดีเซลรางจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 เพื่อนำตู้โดยสารดังกล่าวมาปรับปรุงและใช้งาน

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างการถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท JR Hokkaido ในการส่งมอบให้กับประเทศไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการรถไฟฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้ายเท่านั้น

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพตู้รถโดยสารในเบื้องต้นอยู่ในสภาพดี สามารถนำมาใช้งานได้ แม้จะเป็นตู้โดยสารที่ถูกปลดระวางในปี 2559 แต่ได้รับการดูแลบำรุงรักษาเป็นอย่างดี เมื่อการรถไฟฯ ได้รับตู้โดยสารดังกล่าวมา ก็จะเข้าไปตรวจสอบด้านความปลอดภัย และนำมาดัดแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน และระบบของการรถไฟฯ เบื้องต้นคาดว่า จะนำตู้โดยสารดังกล่าวมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

นายเอกรัชกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ เคยได้รับตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น (บริษัท JR-West) เพื่อใช้ในกิจการรรถไฟมาแล้ว โดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงเป็นรถโดยสาร และรถจัดเฉพาะ เช่น รถ SRT Prestige รถประชุมปรับอากาศ ฯลฯ ให้บริการแก่ประชาชน

โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างการรถไฟฯ กับ JR Hokkaido ในความร่วมมือด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาระบบราง การพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยี เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับการรถไฟฯ

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า ซึ่งความร่วมมือระหว่างการรถไฟฯ และ JR Hokkaido ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือในการมอบตู้โดยสารเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกได้ส่งมาให้ประเทศไทยแล้ว จำนวน 10 ตู้ เมื่อเดือน ต.ค. 2561 และอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงดัดแปลง เพื่อใช้สำหรับเป็นขบวนรถด้านการท่องเที่ยวแล้ว โดยการออกแบบนั้น ใน 1 ขบวน มีตู้โดยสาร 5 คัน แบ่งเป็นรถนั่งทั่วไป 3 คัน รถสำหรับครอบครัว 1 คัน และรถพักผ่อน 1 คัน

“การออกแบบและสีสันจะเป็นไปตามลักษณะของเส้นทางที่ให้บริการของรถไฟท่องเที่ยวขบวนนั้น ๆ โดยสามารถนำออกให้บริการได้ในช่วงประมาณปี 2565 ยืนยันว่าการประกาศจัดซื้อจัดจ้างขนย้ายตู้โดยสารดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ ทุกประการ” นายเอกรัช กล่าว

ภาพจากเซฟบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
ภาพจากเซฟบุ๊ก ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย