วันหยุดพิเศษภาคตะวันออก ทำไมต้องเป็น 28 ธ.ค. วันพระเจ้าตาก ?

ทำไมภาคตะวันออกต้องหยุดวันพระเจ้าตาก
ภาพจาก มติชน

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 ธ.ค. เป็นวันหยุดกรณีพิเศษของภาคตะวันออก หลายคนสงสัยว่าเหตุใดต้องเป็นวันนี้ ? 

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 กรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวันหยุดกรณีพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และ นครนายก ในวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช  ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เหตุที่วันหยุดพิเศษของภาคตะวันออกตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม นั้น สอดคล้องกับที่ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ เคยออกมาเรียกร้อง ครม. โดยให้เหตุผลว่า วันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเส้นทางเดินทัพกู้เอกราชนั้น เกี่ยวพันกับทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวตั้งแต่ช่วงก่อนถึงวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การตั้งราชธานีใหม่ และการประกาศวันสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสำคัญของวันหยุดพิเศษนี้

พระเจ้าตาก ฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยา

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เขียนบทความเรื่อง 28 ธ.ค.ปราบดาภิเษกพระเจ้ากรุงธนบุรี : ทำไมพระเจ้าตากจึงตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยาในวันนั้น เผยแพร่ทางมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ระบุว่า

พระเจ้าตากทรงวิเคราะห์อนาคตของกรุงศรีอยุธยาแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาจะต้องเสียเมืองแก่กองทัพฝ่ายพม่าอังวะอย่างแน่นอน

ย้อนกลับไปเมื่อราว 15 เดือนก่อนหน้าการตีฝ่าวงล้อม นั้น คือจุดเริ่มที่กองทัพพม่าอังวะเริ่มเคลื่อนจากด้านเหนือคือเชียงใหม่ ลงมายังเขตแดนของอยุธยา เมืองแรกที่ต้องเผชิญหน้ากองทัพพม่าคือ เมืองตาก หรือ เมืองบ้านตาก ของ พระยาตาก หรือ พระเจ้าตาก ทำให้พระเจ้าตากตัดสินใจพาทหารและครอบครัวในสังกัดของพระองค์และผู้ตัดสินใจติดตามพระองค์ ลงมาปักหลักอยู่ยังกรุงศรีอยุธยา

ก่อนฤดูฝนหรือก่อนน้ำหลากท่วมพื้นที่โดยรอบนอกกำแพงพระนครกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าทั้งจากด้านเหนือและจากด้านใต้ที่ค่อย ๆ ปราบหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาขึ้นหรือภักดีกับฝ่ายพม่าอังวะ ก็ได้มาตั้งค่ายโอบล้อมกรุงศรีอยุธยาในระยะห่างสัก 7-10 กิโลเมตรโดยรอบ มีค่ายใหญ่สองค่ายแม่ทัพ ได้แก่ ค่ายโพธิ์สามต้น และค่ายสีกุกบางไทร

ฝ่ายกษัตริย์และชนชั้นนำอยุธยาปักหลักเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์ของการรักษากรุง และรักษาสถานภาพผู้ปกครองอยุธยาคือ น้ำหลาก ที่ฝ่ายกองทัพพม่าน่าจะยกทัพกลับไปกรุงอังวะของตน ไม่อาจจะอยู่ในปริมณฑลน้ำหลากโดยรอบได้

ทว่าฝ่ายแม่ทัพกองทัพพม่าอังวะกลับคิดตรงข้าม น้ำหลากนั้นทำให้คนในอยุธยา “เปรียบเหมือนปลาที่ติดอยู่ในอวนแห”  จะออกไปไหนก็ไม่ได้ จะทำมาหากินปลูกข้าวในทุ่งโดยรอบอยุธยาก็ไม่ได้ จะหาปลาค้าขายระหว่างเมืองก็ไม่ได้ จะต้องถูกล้อมจนอดอยากหิวโหย ข้าวยากหมากแพงภายในกำแพงพระนคร

เมื่อน้ำลดลงหลังวันเพ็ญเดือน 12 เข้าสู่เดือนอ้าย ยุทธศาสตร์ฝ่ายพม่านั้นมีผลอย่างชัดเจนขึ้น ผลสะเทือนจากการล้อมกรุงศรีอยุธยาในฤดูน้ำหลาก ส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่และอาหารการกินของคนในกำแพงพระนคร บวกกับจำนวนคนที่มีมากขึ้น ซึ่งมาจากการอพยพหลบเข้าไปอยู่ในกำแพงพระนครในช่วงสงครามอันยาวนาน อาจมีจำนวนคนอาศัยอยู่สูงขึ้นเป็นหลักแสนกว่าคน

ดังนั้น เพียงเริ่มต้นเดือน 2 พระเจ้าตาก จึงตัดสินใจพากองทัพและครอบครัวในสังกัดของพระองค์ตีฝ่าวงล้อมออกไป เพราะวิเคราะห์ข้อมูลและปัจจัยรอบด้านแล้วเห็นแล้วว่า อยุธยาได้พ่ายแพ้ด้านยุทธศาสตร์ช่วงน้ำหลากไปแล้ว ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาต้องแตกอย่างแน่นอน

ตั้งราชธานีใหม่ “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร”

หลังจากนั้น พระเจ้าตาก วางแผนจะเข้ายึดเมืองจันทบูร จึงสั่งให้ทหารทำลายหม้อข้าวให้หมด เพื่อปลุกขวัญทหารให้ฮึดสู้ หวังว่าเมื่อตีเมืองจันทบูรแตกแล้ว จะได้เข้าไปกินข้าวในเมือง ซึ่งสุดท้ายกองทัพพระเจ้าตากก็สามารถตีเมืองจันทบูรได้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310

หลังเหตุการณ์นี้จึงมีผู้คนมาเข้าร่วมกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยเมืองจันทบูรและเมืองตราดไม่มีพม่าเข้ายึดครอง

3 เดือนผ่านไป พระเจ้าตากสามารถรวบรวมเสบียงและกำลังคนได้ประมาณ 5,000 นาย จึงยกทัพเรือล่องมาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยึดเมืองธนบุรีจากพม่าได้สำเร็จ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา สามารถเข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น ขับไล่ทหารพม่าออกจากราชอาณาจักร กอบกู้เอกราชได้สำเร็จในเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่ที่เสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310

พระเจ้าตากได้ยกทัพกลับมาที่ธนบุรี เพื่อตั้งราชธานีใหม่ในชื่อ “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 ในพระชนมายุ 34 พรรษา ทรงเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4

รัฐบาลประกาศวันสมเด็จพระเจ้าตากสิน

สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบ ดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

ทุกวันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ทางกรุงเทพมหานครจะได้จัดงาน “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ขึ้น ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) และถนนลาดหญ้าตลอดสายถึงแยกคลองสาน ซึ่งมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบต่อไป